RFID หรือ Radio-frequency identification นับเป็นเทคโนโลยีที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (TRIDI) ให้ความสำคัญ และถือเป็น 1 ใน 4 เทคโนโลยีหลักในการสนับสนุนงานวิจัย เนื่องจากมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มต้น มีความหลากหลายในการใช้งาน และมีโอกาสที่คนไทยจะสามารถผลิตอุปกรณ์ หรือเขียนแอปพลิเคชั่นซอฟต์แวร์แข่งขันกับผู้ผลิตในตลาดโลกได้
เมื่อปี 2551 ได้มีโครงการนำร่องประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID กับระบบการขนส่งสินค้าในธุรกิจค้าปลีกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
โดย TRIDI ได้ร่วมกับบริษัท ซันร้อยแปด จำกัด ผู้บริหารร้าน 108 Shop ในเครือ สหพัฒนพิบูล ในการนำ RFID มาใช้ในการขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าของ 108 Shop ไปยังสาขาที่ร่วมโครงการประมาณ 3-4 สาขา โดยมี ผศ.ดร.วิศิษฎ์ หิรัญกิตติ หัวหน้าห้องวิจัยการสื่อสารและโทรคมนาคมชาญฉลาด ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ TRIDI กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการวิจัยเชิงประยุกต์ ซึ่งแม้ไม่ได้ผลิต Tag RFID เอง แต่ซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานและการออกแบบระบบการใช้งานก็เป็นฝีมือคนไทยล้วนๆ ตั้งแต่การศึกษาว่าจะใช้ RFID ในขั้นตอนไหน การเชื่อมโยงระบบเข้ากับระบบ GPS เพื่อติดตามเส้นทางการเดินทางของสินค้า เป็นต้น
"ในกระบวนการทำงานจะเริ่มต้นที่ศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งตัว Tag จะถูกติดตั้งไว้ที่ลังใส่สินค้า โดยมีข้อมูลว่าบรรจุสินค้าอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด และจะถูกส่งไปยังสาขาไหน การอ่านค่าครั้งแรกจะเกิดขึ้นเมื่อสินค้าถูกโหลดขึ้นรถบรรทุก ขณะที่ตัวรถเองก็จะติด Tag ไว้ด้วยเช่นกัน และจะถูกบันทึกโดย RFID เมื่อรถวิ่งออกจาก ประตูศูนย์"
การเชื่อมโยงระบบเข้ากับ GPS เพื่อติดตามสินค้าว่าอยู่ในจุดใดบ้าง และจะคำนวณเส้นทางเดินรถที่ดีที่สุดออกมาให้ พร้อมกับระบุว่าจะต้องไปส่งที่สาขาไหนก่อนเพื่อประหยัดทั้งเวลาและน้ำหนัก เพราะรถ 1 คันอาจต้องส่งสินค้า 3-4 สาขา
เมื่อรถบรรทุกสินค้ามาถึงสาขาปลายทาง จะมีการบันทึกอีกครั้งว่าสินค้าได้ถูกโหลดลงที่สาขาปลายทางแล้ว และเก็บลังเปล่าจากแต่ละสาขากลับมาที่ศูนย์ เมื่อรถวิ่งกลับมาที่ศูนย์ก็จะถูกบันทึกโดยเครื่องอ่าน RFID และทราบทันทีว่ามีการเก็บลังเปล่าจากสาขาใด จำนวนเท่าใด หรือสูญหายไปกี่ใบ
"เนื่องจากเป็นโครงการนำร่อง จึงมีการทดลองใช้งานจริงไม่กี่สาขา แต่ทาง 108 Shop ก็พอใจกับการใช้งานและเตรียมลงทุนขยายขอบเขตการใช้งาน เพราะข้อดีคือสามารถติด Tag ไว้ในตำแหน่งไหนก็ได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดความผิดพลาดและลดจำนวนการหายของลังใส่สินค้าด้วย ซึ่งทาง 108 Shop ก็เคลมว่าเป็นธุรกิจ ค้าปลีกรายแรกที่นำ RFID มาใช้ ขณะที่รายอื่นๆ ใช้ระบบบันทึกด้วยมืออยู่"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการทดลองจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ แต่ ผอ.TRIDI ก็ยังเห็นว่าการนำ RFID ใช้งานจริงก็ยังมีอุปสรรคอยู่บ้างเช่นกัน
"เรื่องของเรื่องคือต้นทุนอุปกรณ์ RFID ยังมีราคาสูงอยู่ ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าทำไมในการทดลองเราถึงติดตั้ง Tag ที่ลังใส่สินค้าแทนที่จะติดที่ตัวสินค้าเลย ถ้าจะให้มีความเป็นไปได้ในการใช้งานจริง ราคา Tag ต้องต่ำกว่าราคาสินค้าต่อหน่วยที่จะนำ Tag ไปติด ซึ่งหากมีการผลิตในปริมาณมากก็จะทำให้ต้นทุนของ Tag ลดลงกว่านี้ได้"
ทั้งนี้ หลังจากได้สรุปผลโครงการนำร่องครั้งนี้แล้ว TRIDI ก็ตั้งใจว่าจะให้สาขา 108 Shop ที่ทำการทดลองจะกลายเป็น Reference Site ให้ผู้สนใจใช้งาน RFID เข้าเยี่ยมชม
ส่วนแนวทางการผลักดันการใช้งาน RFID ระยะต่อไปนั้น TRIDI ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์ RFID ขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ทดสอบการใช้งานจริงแก่สมาชิกของสภาอุตสาหกรรมที่สนใจและต้องการในไปใช้ในอนาคตอีกด้วย
ที่มา: matichon.co.th