"ไอซีที" มึนหลังไทยคมออกมาประกาศย้ายลูกค้าไทยคม 1A ที่ต้องปลดระวางเสร็จแล้ว แต่กลับเร่งให้กระทรวงอนุมัติเช่าดาวเทียมต่างประเทศทดแทน แถมแบะท่าอาจไม่ยิงไทยคม 6 ตามข้อตกลง ลั่นหากไม่มีแผนยิงดาวเทียมไทยคม 6 จะไม่ให้เช่าช่องสัญญาณต่างประเทศแน่ ทั้งเปรยกรณี "ดี สเตชั่น" ตอกย้ำไทยต้องมีดาวเทียมของตนเอง ด้านโปรเจ็กต์ประมูลสมาร์ตการ์ดส่อเค้าวุ่นอีกรอบหลัง "เคซีไอ คาร์ด" ฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกการประมูล
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากกรณีที่ บมจ.ไทยคมยื่นเรื่องขออนุญาตเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจากต่างประเทศเพื่อทดแทนดาวเทียมไทยคม 1A และไทยคม 2 ที่ทยอยปลดระวางในกลางปีนี้และกลาง ปีหน้านั้น กระทรวงไอซีทีได้แนบแผนการยิงดาวเทียมไทยคม 6 ที่บริษัทเสนอมา พร้อมกับทำหนังสือเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้รอเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจะเป็นผู้พิจารณานำเสนอเข้า ครม.
"เงื่อนไขหลักที่คณะทำงานของกระทรวงไอซีทีเจรจากับเอกชน คือ ไทยคมต้องมีแผนการยิงดาวเทียมดวงใหม่ที่ชัดเจน และที่อนุมัติหลักการเรื่องการให้เช่าช่องสัญญาณต่างประเทศได้ก็เป็นการชั่วคราวเพื่อทดแทนในระหว่างที่ยังไม่ยิงดวงใหม่ แต่ที่เราไม่เข้าใจคือที่ผู้บริหารของไทยคมออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้สร้างดาวเทียมครบตามสัญญาแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่อีก โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งบริษัทควรชะลอการลงทุน"
ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทียืนยันว่า ถ้าไม่มีแผนยิงไทยคม 6 จะไม่ให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจากต่างประเทศมาทดแทนเด็ดขาด เพราะการอนุมัติให้เช่าเป็นการเช่าชั่วคราวระหว่างรอสร้างไทยคม 6 ซึ่งต้องมีช่วงเวลาสิ้นสุดที่แน่นอน ไม่ใช่เช่าเพื่อให้บริการตลอดไป
"การที่ไทยคมออกมายืนยันว่า ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรครบตามสัญญา สัมปทานแล้ว เป็นประเด็นที่มีการตีความต่างกันอยู่ เพราะหลายฝ่ายมองว่าผู้รับสัมปทานจะต้องยิงดาวเทียมให้เพียงต่อ กับการบริการอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนว่าต้องยิงกี่ดวง ถ้ากระทรวงไอซีทียอมให้เอกชนเช่าแทนการสร้างเอง ภาครัฐก็จะไม่ได้อะไร จะอ้างว่าเศรษฐกิจแบบนี้ให้เช่าแล้วได้ส่วนแบ่งรายได้มากกว่าลงทุนสร้างเอง ก็เป็นเรื่องไม่แน่ไม่นอน ที่สำคัญวัตถุประสงค์ของการให้สัมปทานดาวเทียมเพราะรัฐบาลอยากมีดาวเทียมเป็นของตนเอง ไม่ใช่อยากมีรายได้ หากไทยคมสามารถโอนย้ายลูกค้าที่ใช้ช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยคม 1A ได้หมดแล้วตามที่แจ้งกับสื่อ ความจำเป็นที่จะให้เช่าก็คงไม่มี ฉะนั้นตอนนี้คงแล้วแต่รัฐมนตรีไอซีทีจะตัดสินใจต่อไปอย่างไร"
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากกระทรวง ไอซีที เปิดเผยว่า เหตุที่อนุมัติให้มีการเช่าเพราะในการประชุมหารือกันระหว่างกระทรวงและไทยคม ล่าสุดเมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมาทางไทยคมแจ้งถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งรัดอนุมัติให้เช่าช่องสัญญาณจากต่างประเทศมาทดแทนการให้บริการดาวเทียมไทยคมทั้ง 2 ดวงที่จะปลดระวาง
แต่ในภายหลังพบว่าสามารถหาช่องสัญญาณทดแทนลูกค้าไทยคม 1A ที่จะปลดระวางกลางปีนี้ได้หมดแล้ว ส่วนไทยคม 2 ที่จะปลดระวางกลางปีหน้าก็ยังมีเวลาอีกมากที่จะพิจารณาทางออกที่คุ้มค่า
"ตอนที่ประชุมกันไทยคมยืนยันว่าจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเช่าดวงอื่นมาแทน แม้ไอซีทีจะให้โอนย้ายไปใช้ช่องสัญญาณของดวงอื่นที่ยังเหลืออยู่เยอะ แต่ไทยคมก็ยืนยันว่าติดปัญหาทางเทคนิคไม่สามารถดำเนินการ ก.ไอซีทีไม่อยากให้กระทบการให้บริการลูกค้าจึงได้อนุมัติไป แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าไทยคมออกมายืนยันว่าโอนย้ายลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ไม่จำเป็นเร่งด่วนอีกแล้ว แถมบอกอีกว่าไม่มีภาระผูกพันตามสัญญาที่จะต้องยิงดาวเทียมดวงใหม่จึงเกิดความไม่แน่ใจว่าอะไรคือความจริงกันแน่"
แต่ที่แน่ๆ คือยิ่งมีกรณีของ "ดี สเตชั่น" ยิ่งทำให้เห็นว่าไทยควรมีดาวเทียมเป็นของตนเอง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดูแลการ เผยแพร่เนื้อหาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงได้
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า แผนการยิงดาวเทียมไทยคม 6 ที่ บมจ.ไทยคมเสนอมากำหนดไว้เพียงว่าจะมีการยิงดาวเทียมไทยคม 6 ประมาณปี 2553-2554 แต่ไม่ผูกมัดตนเองว่าต้องยิงไทยคม 6 แน่นอน โดยอ้างว่าแล้วแต่จะหาแหล่งเงินทุนได้เมื่อใด
ด้านความคืบหน้าของการจัดซื้อบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ (สมาร์ตการ์ด) ลอตสุดท้ายจำนวน 26 ล้านใบ รายงานข่าวระบุว่า หลังปิดรับซองประกวดราคาไปเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ผ่านทดสอบด้านเทคนิคทั้งหมด 5 ราย แต่ตามระเบียบยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ โดยจะมีการประกวดราคาด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (อีออกชั่น) ในวันที่ 28 พ.ค.นี้
แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท เคซีไอ คาร์ด จำกัด ได้ยื่นฟ้องกระทรวงต่อศาลปกครองขอให้ยกเลิกการประกวดราคาโครงการดังกล่าวโดยอ้างว่า ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคงต้องรอดูว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งให้เลื่อนการอีออกชั่นออกไปก่อนหรือไม่ ถ้าไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมาก่อนวันที่ 28 พ.ค. นี้ กระทรวงไอซีทีก็จะเดินหน้าอีออกชั่น ต่อไป
ด้านนายสือกล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า บริษัทอ้างว่าเหตุการณ์ความไม่สงบก่อนเทศกาลสงกรานต์ทำให้ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทไม่สามารถเดินทางจากจีนเข้ามาประเทศไทยได้ ส่งผลให้ไม่มีโอกาสส่งตัวอย่างบัตรเข้าทดสอบทางเทคนิค หรือ bench mark ที่เปิดให้ทดสอบระหว่าง 16-20 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่เหตุผลดังกล่าวมองว่าฟังไม่ขึ้น เพราะบริษัทอื่นก็เข้ามาทดสอบกันหลายราย แม้วันที่ 16 เม.ย.รัฐบาลจะประกาศเป็นวันหยุดราชการ แต่กระทรวงไอซีทีได้เปิดให้มีการทดสอบตามที่นัดหมายไว้ ที่สำคัญคือในร่างข้อกำหนดทางเทคนิค (ทีโออาร์) หรือในเงื่อนไขการประมูลก็ไม่ได้ระบุว่าต้องยื่นทดสอบ bench mark ก่อนจึงจะเข้าร่วมเสนอราคาได้
ที่มา: matichon.co.th