"ไมโครซอฟท์" ชูโมเดลการ "เช่าใช้" ซอฟต์แวร์และโซลูชั่น แบ่งจ่ายรายเดือนสำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี แทนการจ่ายเงินก้อน เพื่อแบ่งเบาภาระลูกค้าสู้วิกฤตเศรษฐกิจ ล่าสุด ทุ่มงบฯ 121 ล้านบาท จับมือกระทรวงแรงงานหนุนพัฒนาทักษะด้านไอทีแก่ผู้ตกงาน ตั้งเป้าคนเข้าร่วม 1.2 แสนราย
นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันไมโครซอฟท์อยู่ในช่วงการวางแผนการดำเนินธุรกิจในปีงบประมาณ 2552 (เริ่ม ก.ค) บริษัทจะเพิ่มการโฟกัสเรื่องการสร้างความพึงพอใจด้านการบริการแก่ลูกค้าเป็นอันดับแรก เพราะจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ลูกค้ามีงบประมาณในการซื้อสินค้าที่จำกัด และจะใช้สินค้าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ดังนั้นไมโครซอฟท์จะเข้าไปดูแลลูกค้าใกล้ชิดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าเก่า โดยเฉพาะช่วงปลายปีจะมีการเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ "วินโดวส์ 7" ทำให้หลายองค์กรอาจต้องมีการอัพเกรดสินค้า ทำให้ต้องเข้าไปช่วยลูกค้ามากขึ้น
ขณะที่การจัดแคมเปญต่างๆ อาจมีน้อยลง จะโฟกัสเลือกเฉพาะที่มีอิมแพ็กต์ต่อ ตลาด และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงแทนการทำแคมเปญจำนวนมากๆ อย่างไรก็ตาม 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณของไมโครซอฟท์ บริษัทจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าเอ็นเตอร์ไพรซ์และภาครัฐมากขึ้น โดย เฉพาะภาครัฐยังมีโปรเจ็กต์อยู่ ต่อเนื่อง
ล่าสุด บริษัทได้เพิ่มโมเดลธุรกิจใหม่ คือการเช่าใช้ซอฟต์แวร์และโซลูชั่นทุกประเภทสำหรับลูกค้ากลุ่มเอ็นเตอร์ไพรซ์และเอสเอ็มอี โดยลูกค้าสามารถแบ่งจ่ายเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลาสูงสุด 3 ปี แทนการจ่ายเพียงครั้งเดียวเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงได้ขยายเวลาการลดราคาซอฟต์แวร์ 35% สำหรับ กลุ่มเอสเอ็มอีถึง มิ.ย.
"ลูกค้าชอบการจ่ายเป็นรายเดือนมากกว่าการจ่ายเงินก้อนเพียงครั้งเดียว เพราะสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ แม้ว่าค่าใช้จ่ายรวมทั้ง 3 ปี อาจจะจ่ายแพงกว่าการซื้อครั้งเดียวก็ตาม"
ทั้งนี้ ไตรมาส 3 ของไมโครซอฟท์ที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.) มีอัตราการเติบโต 22% แม้ว่าจะมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันพบว่าธุรกิจหลายแห่งเริ่มปรับกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด เช่น การลดค่าใช้จ่าย การเปลี่ยนมาเลือกซื้อสินค้าที่ถูกลงแทน พร้อมกับหันมาใช้ไอทีเพื่อลดการทำงานที่ซับซ้อน การทำคอนโซลิเดชั่นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นต้น
นางสาวปฐมากล่าวว่า กลุ่มลูกค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงคือกลุ่มสถาบันการเงิน เพราะขณะนี้หลายแห่งมีการลงทุนระบบและพัฒนาคนเพื่อเตรียมรับมือเศรษฐกิจฟื้น รวมทั้งตลาดการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนที่เริมมีการใช้ซอฟต์แวร์ในการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ บวกกับไมโครซอฟท์มีราคาเพื่อการศึกษา ทำให้สถาบันการศึกษาเริ่มเห็นประโยชน์มากขึ้น
สำหรับตลาดโออีเอ็มก็มีการเติบโตที่ดี เนื่องจากบริษัทเริ่มบุกต่างจังหวัดมากขึ้น มีการลงทุนด้านคนและงบประมาณต่างๆ เพื่อเจอคู่ค้าและอัพเดตเทคโนโลยีการโรดโชว์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ตลาดมากขึ้น จากเดิมที่เน้นอยู่ใน กทม.เป็นหลัก
นางสาวปฐมากล่าวอีกว่า จากข้อมูลไอดีซีเมื่อต้นปี พบว่าสินค้ากลุ่มฮาร์ดแวร์มีการเติบโตลดลง 8.9% จากต้นปี 2551 ที่มีการเติบโต 14% ขณะที่ตลาดซอฟต์แวร์ยังมีการเติบโตอยู่ แต่ต้องจับตลาดเฉพาะกลุ่ม ทำให้แต่ละบริษัทจะต้องปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม โดยเร็วๆ นี้บริษัทจะมีการเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ เป็นช่องทางใหม่ๆ ในการขยายฐานลูกค้า
พร้อมกันนี้ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เปิดตัวโครงการ "แรงงานไทยก้าวไกลด้วยไอที" เพื่อส่งเสริมทักษะด้านไอทีแก่กลุ่มผู้ว่างงาน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 9 แสนราย รวมทั้งกลุ่มคนทำงานที่ต้องการเพิ่มทักษะ และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ต้องการประกอบกิจการของตัวเอง โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ใช้งบฯการลงทุนทั้งหมด 121 ล้านบาท โดยเป็นงบฯสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาหลักสูตร 90% และอีก 10% หรือ 11 ล้านบาท ให้กับสถาบันคีนันเป็นผู้บริหารจัดการ
โดยไมโครซอฟท์จะเป็นผู้พัฒนาหลักสูตร Microsoft Unlimited Potential และหลักสูตร Microsoft Digital Literacy (ภาษาไทย) นำร่อง 20 จังหวัดทั่วประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการปิดกิจการและมีความต้องการพัฒนาทักษะไอที เช่น โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และจัดโรดโชว์นิคมอุตสาหกรรม โดยปีนี้จะเริ่ม 10 จังหวัด นอกจากนี้จะมีการจับคู่แรงงานที่มีทักษะ ไอทีกับสถานประกอบการที่มีความต้องการแรงงานและการส่งข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวในตลาดแรงงานผ่านเว็บไซต์ Ezyjob
ขณะที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเป็นผู้ทำหน้าที่รับสมัคร คัดเลือกแรงงาน และออกวุฒิบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรม พร้อมกับการเปิดโครงการ "ฉันจะเป็นเถ้าแก่" จำนวน 8 หลักสูตร ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานแก่ผู้สนใจที่ต้องการเป็นผู้ประกอบธุรกิจด้วย
นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดโครงการในอนาคต เพื่อขยายฐานไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีให้มีทักษะความรู้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 1 แสนราย และมีผู้สามารถกลับเข้าตลาดแรงงานและยกระดับแรงงานได้จำนวน 10% ขณะที่หลักสูตรสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วม 2 หมื่นราย
ที่มา: matichon.co.th