สวทช.ขนต้นแบบจอ OLED ฝีมือคนไทยเปิดตัวในงาน NAC 2009 พร้อมหาเอกชนมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ มั่นใจของไทยเจ๋งกว่า ประหยัดพลังงานถึง 40% แถมบางเฉียบและบิดโค้งงอได้ ชี้เป็นจุดเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะมือถือ-หลอดไฟ
นายศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) หน่วยงานภายใต้ สวทช.ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบจอแสดงผลแบบ OLED (จอแบบไดโอดเปล่งแสงจากสารอินทรีย์) ถือเป็นเทคโนโลยีจอแสดงผลแห่งอนาคตที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน
โดยจะเข้ามาแทนที่จอแสดงผลแบบพลาสมาและจอแบนที่ใช้อุปกรณ์อย่างโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ กล้องดิจิทัล โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
จอ OLED สามารถพัฒนาให้บางเท่ากระดาษได้ และนำไปเคลือบวัสดุที่บิดงอได้ ทำให้เกิดฟังก์ชั่นใหม่ๆ ทั้งใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงได้จึงเริ่มมีแนวคิดจะพัฒนาเข้ามาแทนที่หลอดไฟปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานมากกว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน 40% อายุใช้งานมากกว่า ปล่อยพลังงานความร้อนสู่ชั้นบรรยากาศน้อยกว่าจอ LCD
นายธนศาสตร์ สุขศรีเมือง นักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า ได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้มากว่า 3 ปี ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยโตเกียว โพลีเทคนิค ประเทศญี่ปุ่น แต่นักวิจัยไทยเป็นคนค้นพบสารอินทรีย์ตั้งต้นที่ใช้ในการพัฒนาจอ OLED ตัวใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตร
ปัจจุบันหลายประเทศกำลังพัฒนาเทคโนโลยีจอแสดง OLED แต่มีเพียงบริษัทโซนี่เท่านั้นที่เริ่มผลิตเพื่อจำหน่ายแล้ว แต่มีราคาแพงมาก หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคได้ก่อนก็จะชิงความได้เปรียบในตลาดได้ การพัฒนาหน้าจอโทรศัพท์มือถือที่มีขนาด 2-3 นิ้ว น่าจะมีโอกาสเป็นจริงได้มากที่สุดเพราะมีขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน
โดยจะนำเทคโนโลยีนี้แสดงในงาน NAC 2009 เพื่อหาพันธมิตรร่วมลงทุนการผลิตในเชิงพาณิชย์ เชื่อว่าจะมีต้นทุนถูกกว่านำเข้า
"การหาเอกชนมาร่วมวิจัยเพื่อต่อยอดการผลิตเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะมีเงินเข้ามาช่วยสนับสนุนแล้ว ยังสร้างความมั่นใจทำให้กำหนดทิศทางในการพัฒนาได้อย่างชัดเจน เพราะแต่ละผลิตภัณฑ์นำ OLED ไปใช้ต่างกัน ที่ผ่านมามีบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติที่มีฐานการผลิตในไทยสนใจจะเข้ามาร่วมพัฒนาต่อแต่เศรษฐกิจแย่จึงชะลอ"
ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า เป้าหมายหลักของ สวทช.คือการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่วิจัยพัฒนาได้ไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทยอย่างอิเล็กทรอนิกส์ที่ในปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกราว 8 แสนล้านบาท หาก OLED มีส่วนร่วมเพียง 10% ก็สร้างมูลค่าได้ไม่น้อย
โดยจะใช้เวที NAC 2009 นำเสนอผลงานวิจัยและเวทีเจรจาธุรกิจ ภายใต้แนวคิดสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 12-14 มี.ค.นี้ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ที่มา: matichon.co.th