การควบรวมกิจการครั้งใหญ่ของโลกไอทีระหว่าง "ออราเคิล" และ "ซัน ไมโครซิสเต็มส์" ที่เกิดขึ้นปลายเดือน เม.ย. สร้างความร้อนระอุให้กับอุตสาหกรรมไอทีโลกประเดิม ปี 2552
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า บริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่เบอร์ 2 ของโลก ประกาศซื้อกิจการซันฯด้วยมูลค่า 7.4 พันล้านเหรียญ หลังจากที่ไอบีเอ็มประกาศถอนตัวไปก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์
เหตุผลที่ทางออราเคิลฮุบซันฯครั้งนี้ เพราะสินทรัพย์ซอฟต์แวร์อย่าง "จาวา" ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและถูกพัฒนาใช้ตามเว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องเล่นดีวีดีสามารถที่จะนำมาต่อยอดหรือเสริมความแกร่งให้กับออราเคิลในอนาคตได้
ทางออราเคิลถึงกับกล่าวว่า "จาวานั้นเป็นซอฟต์แวร์ที่สำคัญที่สุดที่ออราเคิลเคยมีมาเลยทีเดียว"
ยังไม่นับรวมระบบปฏิบัติการโซลาริสสำหรับเซิร์ฟเวอร์และสินค้าฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่ออราเคิลจะได้รับจากดีลครั้งนี้ด้วย
"แลรี่ เอลิสัน" ซีอีโอใหญ่ของออราเคิล กล่าวว่า การควบรวมกิจการกับซันฯก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมไอที ขณะเดียวกันยังทำให้ออราเคิลเคลื่อนตัวจากการเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไปสู่ผู้ให้บริการเทคโนโลยีแบบออลอินวัน สามารถออกแบบให้ระบบทั้งหมดสามารถผสมผสานทำงานร่วมกันได้ ด้วยค่าใช้จ่ายลดลง ขณะที่ประสิทธิภาพการทำงาน ความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของระบบดีขึ้น
ออราเคิลประเมินว่า ซันฯจะเข้ามาช่วยสร้างกำไรให้ออราเคิลมากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีแรก และมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีถัดมา
แต่ประเด็นใหญ่ของดีลครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าเป็นการเพิ่มเขี้ยวเล็บธุรกิจฮาร์ดแวร์ของออราเคิล เพราะปัจจุบันซันฯเป็นผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก แม้ว่าพักหลังส่วนแบ่งการตลาดของซันฯลดลงอย่างต่อเนื่องให้กับคู่แข่ง
แล้วธุรกิจฮาร์ดแวร์ของซันฯที่ออราเคิลซื้อมาจะเป็นอย่างไรต่อไป ?
หากดูจากคำแถลงของซีอีโอออราเคิลจะพบว่า ปัจจัยหลักที่ออราเคิลต้องการซื้อซันฯ คือ ประโยชน์ทางธุรกิจจากซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ แต่กระนั้นนักวิเคราะห์ในแวดวงอุตสาหกรรมไอที ต่างคาดการณ์ว่า "ออราเคิล-ซันฯ" จะกลายเป็นยักษ์เซิร์ฟเวอร์อีกรายหนึ่งที่เข้ามาท้าทายรุ่นพี่ เช่น ไอบีเอ็ม เอชพีและรายอื่นๆ เพื่อที่จะนำเสนอสินค้าสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์แบบครบวงจร
หากเป็นดังที่กล่าว ถือว่าออราเคิลกำลังเดินทางเข้าสู่ธุรกิจฮาร์ดแวร์ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมไอทีกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ระบบคอนโซลิเดชั่นได้อย่างถูกจังหวะทีเดียว
เพราะสินค้าของซันฯ คือ เซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ ซอฟต์แวร์โครงสร้างพื้นฐานที่เขียนบนจาวาและระบบโซลาริส ขณะที่ ค่ายออราเคิลมีดาต้าเบสแอปพลิเคชั่น และ fusion middleware สามารถรวมกันเพื่อเข้าสู่ตลาดง่ายขึ้น
"คริส ฟอสเตอร์" นักวิเคราะห์จากเทคโนโลยี บิสซิเนส รีเสิร์ช กล่าวว่า ศักยภาพของการรวมผลิตภัณฑ์ทำให้อุตสาหกรรมไอทีมีความเป็นเอกลักษณ์ มากขึ้น และเปิดโอกาสให้ออราเคิลสามารถขยายอิทธิพลเข้าสู่ตลาดเอสเอ็มอีได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ตลาดระดับบน ออราเคิล-ซันฯ ยังสามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ อาทิ ไอบีเอ็มและอื่นๆ ได้
แต่เนื่องจากผู้เล่นในตลาดเซิร์ฟเวอร์ ส่วนใหญ่ที่ซัพพอร์ทการทำ ตลาดซอฟต์แวร์ดาต้าเบสของออราเคิล รวมถึงแอปพลิเคชั่น อื่นๆ ดังนั้นช่วงเวลาต่อจากนี้ออราเคิลจะต้องมีความระมัด ระวังมากขึ้นในการเข้าสู่ตลาดฮาร์ดแวร์
"หากออราเคิลโปรโมตแพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์ของตัวเองบนเทคโนโลยีของซันฯ ฮาร์ดแวร์รายอื่นอาจลังเลใจ ในการกระตุ้นลูกค้าให้เลือกใช้ซอฟต์แวร์ของออราเคิล"
สอดคล้องกับ "สตีเฟ่น แชรงค์แลนด์" นักวิเคราะห์จาก CNET news กล่าวว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ออราเคิลมีแผนที่จะ จำหน่ายเซิร์ฟเวอร์แบบสแตนด์อะโลนด้วยหรือไม่ เพราะตามประวัติศาสตร์การขายซอฟต์แวร์มีกำไรที่สูงกว่าการขายฮาร์ดแวร์มาก
"เมื่อออราเคิลลงสู่ตลาดเซิร์ฟเวอร์ ต้องยอมเผชิญกับความจริงที่ว่าทั้งเอชพี เดลล์ ไอบีเอ็ม อาจจะให้น้ำหนักในการทำตลาดซอฟต์แวร์ของออราเคิลน้อยลง"
ด้าน "เอมิแทปห์ โจเอล" นักวิเคราะห์จากเฟิรสต์ โกลบอล แสดงความเห็นว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้อาจไม่ได้มีแต่ด้านบวกอย่างเดียว เพราะออราเคิลจะต้องทำธุรกิจฮาร์ดแวร์ที่ได้มาจากซันฯ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ตามการซื้อซันฯครั้งนี้จะตอกย้ำเป้าหมายของ ออราเคิลที่ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น และสามารถเสนอสินค้าแบบผสมผสาน end to end ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และการบริการแก่ลูกค้า
ที่มา: matichon.co.th