คอลัมน์ Clickworld
ช่วงเวลาพิษเศรษฐกิจกำเริบ หลายบริษัทอาจรัดเข็มขัดควบคุมการใช้จ่าย แต่สำหรับธุรกิจระดับพี่บิ๊กและมีเงินสดสะพัดอยู่ในมือ ช่วงเวลาเช่นนี้อาจเป็นนาทีทองสำคัญเพื่อช็อปปิ้งบริษัทที่ตนสนใจในราคาย่อมเยา
รอยเตอร์รายงานว่า บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดระดับโลกหลายบริษัท ต่างกำลังพยายามผันตัวเองเพื่อทำธุรกิจแบบ "วันสต็อป" เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยจะเสนอสินค้า ครบทุกประเภท ทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และการบริการ ตั้งแต่เดสก์ทอปไล่ไปจนถึงดาต้าเซ็นเตอร์
"โฮเวิร์ต ลานเซอร์" นักวิเคราะห์ด้านการควบรวมกิจการ บริษัท Robert W. Baired กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัทยังคงถือเงินสดอยู่ในมือ เนื่องจากพวกเขาอยู่ในช่วงประเมินสถานการณ์ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ บวกกับมูลค่าของบริษัทที่เป็นเป้าหมายที่ต้องการและ "เล็ง" จะซื้อเริ่มมีราคาตกลง ส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งตัดสินใจจะเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในช่วงนี้
เห็นภาพชัดเจนจากยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมไอทีอย่าง "ไอบีเอ็ม" "เอชพี" และ "ซิสโก้ ซิสเต็มส์" ที่ประกาศแผนการ ซื้อกิจการบริษัทต่างๆ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะเจอปัญหาทางเศรษฐกิจรุมเร้า
โดยเฉพาะข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนทั้งซิลิกอนวัลเลย์ เมื่อมีรายงานว่า "ไอบีเอ็ม" กำลังเจรจาซื้อบริษัท "ซันไมโครซิสเต็มส์" ผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์รายใหญ่ระดับโลกและเจ้าของเทคโนโลยีซอฟต์แวร์จาวาด้วยมูลค่ากว่า 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในตลาดคลาว์ คอมพิวติ้งที่มีการเติบโตอย่างสูงในปัจจุบัน
ถือเป็นอภิมหาดีลที่เกิดขึ้นและใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของไอบีเอ็มในรอบ 100 ปี แม้ว่าจะมีหลายเสียงคัดค้านว่ามูลค่าของซันฯที่ไอบีเอ็มต้องจ่ายครั้งนี้สูงเกินไป
อย่างไรก็ตาม หากดีลนี้เกิดขึ้นจริง ไอบีเอ็มสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้เกือบ 10% จากปี 2008 ที่ไอบีเอ็มครองส่วนแบ่งตลาดเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลก 32%ตามมาด้วยเอชพี 30% และซัน 10%
นักวิเคราะห์และนักธนาคารต่างเห็นว่าดีลที่เกิดขึ้นในตลาดตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงอุ่นเครื่อง เพราะบริษัทไอทีที่ร่ำรวยเงินสดกำลังเดินหน้าหาเทคโนโลยีเฉพาะทางที่ราคาไม่แพงเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทของตน และท้ายที่สุดจะทำให้เหลือ ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเพียง 2-3 รายเท่านั้น
แม้แต่ความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่อุปกรณ์เน็ตเวิร์ก "ซิสโก้" ล่าสุดประกาศว่ากำลังดำเนินการซื้อกิจการบริษัท Pure Digital Technologies ผู้ผลิตแคมคอร์เดอร์ ดิจิทัลขนาดกระเป๋า มูลค่า 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บให้กลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ที่ซิสโก้ต้องการบุกตลาดอย่างจริงจังในอนาคต
ขณะเดียวกัน ซิสโก้ยังส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าซื้อกิจการอื่นๆ อย่างต่อเนื่องในอนาคต หากธุรกิจนั้นสามารถสนับสนุนการใช้งานประเภทคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ได้
"ปีเตอร์ เบลล์" จากบริษัทที่ปรึกษาไฮแลนด์ แคปปิตอล เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัท สตอเรจเน็ตเวิร์ก กล่าวว่า บริษัทขนาดใหญ่จะมองหาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และการบริการต่างๆ เพื่อเข้ามาเติมเต็มช่องว่างสินค้าของบริษัทที่ตนไม่มีเพื่อเสนอแก่ลูกค้า และยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะไม่สนใจการควบรวมกิจการที่สร้างดีลขนาดเล็กๆ แต่จะโฟกัสบริษัทที่มีมูลค่าตลาดระหว่าง 1-10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปมากกว่า
"เพราะผู้เล่นที่เป็นรายใหญ่ในตลาดจะสามารถเร่งเครื่องหรือกระโดดข้ามเหนือคู่แข่งได้ 12-24 เดือน ผ่านการควบรวมกิจการ"
นอกจากนี้ "ไมโครซอฟท์" ก็เป็นอีกรายที่ออกมาประกาศชัดว่าบริษัทยังคง เดินหน้าซื้อกิจการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แม้เจอมรสุมทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมทัพธุรกิจ
โดยที่ "สตีฟ บัลเมอร์" ซีอีโอใหญ่ค่ายไมโครซอฟท์ กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ยังคงมีเงินทุนเพียงพอและเดินหน้าลงทุนด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อแข่งขันกับกูเกิล สำหรับปีนี้บริษัทมีแผนที่จะซื้อกิจการมากกว่า 20 บริษัท ดีลขนาดตั้งแต่ 10-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากเป็นไปได้อาจปัดฝุ่นดีลการซื้อยาฮูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
เพราะเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รายงานของคอมสกอร์ระบุว่า ไมโครซอฟท์มีส่วนแบ่งตลาดการเสิร์ชในสหรัฐเพียง 8% ขณะที่กูเกิลมีส่วนแบ่งถึง 63% แม้ว่าตอนนี้ไมโครซอฟท์กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงบริการเสิร์ชของตนก็ตาม
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สตีฟ บัลเมอร์ สนใจจะตั้งโต๊ะเจรากับซีอีโอหญิงคนใหม่ของยาฮู "แครอล บราตซ์"
โดยสตีฟ บัลเมอร์ กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันไมโครซอฟท์กำลังปรับปรุงสินค้ากลุ่มเสิร์ชอยู่ แต่การเจรจากับยาฮูนั้นจะ เข้ามาช่วยจัดการระบบเสิร์ชให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์อย่างเดียว แต่เราคิดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจขณะนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความคิดเรื่องการเป็นพันธมิตร รวมถึง พบว่าธุรกิจด้านเสิร์ชมีมูลค่าสูงกว่าที่ ไมโครซอฟท์เคยคิดไว้ตั้งแต่แรก
ทั้งนี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า สตีฟได้พูดคุยกับบราตซ์ทางโทรศัพท์ และได้รับการตอบกลับว่าเธอจะเปิดการเจาจราต่อรองอย่างลับๆ ไม่ว่าจะเป็นดีลใดก็ตาม อย่างไรก็ตาม เธอไม่ต้องการให้ยาฮูถูกแยกออกเป็นส่วนๆ
การเริ่มต้นใหม่อีกครั้งระหว่างไมโครซอฟท์กับยาฮูจะเป็นอย่างไร คงต้องจับตา ดูต่อไป
ที่มา: matichon.co.th