ทีโอทีจับมือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้คำปรึกษานำไอทีลดต้นทุนเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ไทยล้วนๆ คาดช่วยลดต้นทุนปีละ 100-300 ล้าน เพิ่มการจ้างงานในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เริ่มนำร่อง SMEs 100 บริษัท และผู้ผลิตซอฟต์แวร์ 10 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้(10มี.ค.52) บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ได้ลงนามสัญญา กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ SMEs ใช้ระบบไอทีในธุรกิจอุตสาหกรรม ในโครงการพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (Enhancing SMEs Competitiveness)EICT ซึ่งความร่วมมือกันครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของ SMEs ไทยและยังช่วยอุดหนุนซอฟต์แวร์ไทยให้มีการใช้งานและจ้างงานมากขึ้น
นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำไอทีเข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพผู้ ประกอบการ SMEs ไทย โดยโครงการ EICT จะนำผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 100 รายมานำร่องใช้ไอที ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์ไทยล้วนๆมาใช้ในการประกอบธุรกิจ โดยได้คัดเลือกผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยจำนวน 10 ราย
อย่างไรก็ดีสำหรับโครงการนี้กรมส่งเสริมการส่งออกได้ให้งบประมาณสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการนำร่องทั้งสิ้น 26 ล้านบาท และคาดว่าการใช้ซอฟต์แวร์ไทยช่วยในการทำธุรกิจจะช่วยให้ SMEs ไทยประหยัดต้นทุนให้ SMEs รายละ 1-3 ล้านบาทต่อปีรวมในโครงการนำร่องเป็นมูลค่าถึง 100-300 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs นำร่อง 100 ราย มีรายได้รายละ 30 ล้าน ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะกลับมาเป็นภาษีแก่รัฐ 3 ล้านบาทต่อ SMEs 1 ราย ทั้งยังจะเกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประมาณ 50 คน และจะสามารถลดการจ้างงานในอุตสาหกรรม SMEs รายละ 5 คนต่อปี เป็นจำนวน 500 คน/ปี
"กระบวนการในการคัดเลือก SMEs และ ซอฟต์แวร์เฮาส์ เข้าร่วมโครงการนั้น จะมีคณะกรรมการฯ จากหน่วยงานต่างๆเป็นผู้พิจารณา อย่างโปร่งใสและยุติธรรม ซึ่งเป็นตัวแทนจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม , ซิป้า , Software Park , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ , สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้อง"
อย่างไรก็ดี หลังจากครบระยะเวลา 1 ปีของกิจกรรมนี้แล้ว ในปีที่ 2 เป็นต้นไป กิจกรรมดังกล่าวก็สามารถเดินต่อไปได้ ตามกลไกของตลาด กล่าวคือ ซอฟต์แวร์เฮาส์ไทยก็เก็บค่าเช่าใช้ซอฟต์แวร์พร้อมบำรุงรักษารายเดือนจาก SMEs ที่ใช้ระบบ, SMEs ก็ใช้ซอฟต์แวร์ในอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมรับได้ ซึ่งสามารถช่วยให้กิจการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และทีโอทีมีรายได้จากการให้บริการด้าน Internet Data Center
นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่าในภาพรวมแล้วประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยมีตัวเลขลดลงเพียง 6-7 %ในประเทศไทยได้รับผลกระทบทางจิตใจ หากสามารถสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนจะช่วยให้ประเทศไทยมีการลงทุนและจับจ่ายในประเทศมากขึ้น
นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที เปิดเผยว่า ทีโอทีได้ลงทุนสำหรับโครงการนี้ 30 ล้าน แบ่งเป็นการลงทุนโครงข่าย 25 ล้านบาท การลงทุนฮาร์ดแวร์ ประมาณ 5 ล้านบาท โดยบริษัทจะมีรายได้จากการเช่าอินเทอร์เน็ต 5 ล้านบาทในปีแรก และมีรายได้จากการให้คำปรึกษา 2 ล้านบาทต่อปี ทีโอทีเชื่อว่าการลงทุนนี้จะส่งผลดีระยะยาวเพราะกรมส่งเสริมการส่งออกจะมีการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นต่อๆไป และ บริษัทอาจจะมีบริการใหม่ในรูปแบบเดียวกันนี้กับธุรกิจอื่นๆ
"ทีโอทีมีความพร้อมทั้งในด้านบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และมีศูนย์บริการข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Center) ที่พร้อมให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านระบบ ASP (Application Service Provider) หรือการใช้โปรแกรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญคือ ทีโอทีให้บริการไอซีทีแบบครบวงจร ICT Solution โดยบุคลากรที่มีความสามารถให้คำแนะนำปรึกษาแก่ SMEs"
ที่มา: manager.co.th