นับจากสตรีทไฟเตอร์ 2 ได้ให้นิยามใหม่กับเกมต่อสู้ แนวการเล่นนี้ก็ได้พัฒนาไปตามกาลเวลา ผ่านการลองผิดลองถูกเพิ่มระบบสารพัดและตัวละครพิสดารมากมาย จนในที่สุดแล้ว "สตรีทไฟเตอร์ 4" ก็ได้พาเรากลับคืนสู่ความเรียบง่ายอีกครั้ง
เรื่องราวของสตรีทไฟเตอร์ 4 จะย้อนไปอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างภาค 2 กับ 3 ซึ่งการต่อสู้เพิ่งจบไปไม่นาน ตัวละครหลักทั้ง 12 คนจึงได้กลับมาครบถ้วนในภาพลักษณ์ที่ไม่ต่างจากเดิมมาก ตามความตั้งใจของผู้สร้างที่อยากให้ตามรอยภาค 2 ซึ่งเคยสร้างความนิยมไว้
นอกจากตัวละครชุดเดิมและบางส่วนจากภาคอื่นแล้ว ในคราวนี้เกมยังได้เพิ่มนักสู้หน้าใหม่อีกจำนวนหนึ่งได้แก่ "รูฟัส" หนุ่มอ้วนผู้ใช้วิชากังฟูคิดค้นเอง, "เอลฟอร์เต้" นักมวยปล้ำสไตล์เม็กซิกันที่ทำงานเป็นพ่อครัวด้วย, "คริมสันไวเปอร์" สายลับสาวในชุดสูทติดอาวุธรอบตัว, "อาเบล" ชายความจำเสื่อมใช้ศิลปะการต่อสู้ผสมผสานแบบทหาร และอีก 2 ตัวลับคือ "เซธ" บอสใหญ่ที่ใช้ไม้ตายของตัวละครอื่นได้ กับ "โกเคน" อาจารย์ของริวและเคน
การนำเสนอของเกมในคราวนี้ได้ทำออกมาเป็นโพลิกอน 3 มิติหมดทั้งตัวละครและฉากหลัง แต่แนวการเล่นจะใช้รูปแบบ 2 มิติซ้ายขวาของเกมต่อสู้ VS ดั้งเดิม โดยมีการเปลี่ยนมุมกล้องขณะใช้ไม้ตายต่างๆเป็นลูกเล่นเสริมให้ดูได้อารมณ์มากขึ้น
วิธีบังคับเกมหลักๆมีปุ่ม 8 ทิศทางใช้ก้มกระโดด ตั้งการ์ด เดินซ้ายขวา รัวสองทีเป็นการแดชได้ทั้งหน้าหลัง การโจมตีมีเตะต่อยอย่างละ 3 ปุ่ม เบา-กลาง-หนัก ส่วนท่าทุ่มจะใช้วิธีกดเตะเบาต่อยเบาพร้อมกันโดยที่บางตัวจะมีท่าทุ่มอื่นให้กดเป็นไม้ตายเฉพาะอีก และปุ่มต่อยหนักเตะหนักพร้อมกันเป็นท่ายั่วยุ เอาไว้โชว์เหนือกันเท่านั้น
การใช้ท่าไม้ตายต่างๆจะให้เราโยกปุ่มทิศทางผสมปุ่มโจมตี แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆคือกดค้างแล้วดันไปอีกด้านกับกดตวัดเป็นโค้ง และจะมีเทคนิกที่เรียกว่าไม้ตายแบบ EX ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพอย่างจำนวนฮิต หักล้างการป้องกันหรือทะลุไม้ตายของอีกฝั่งได้ ใช้โดยการใส่คำสั่งกับปุ่มเตะหรือต่อยทีเดียวสองปุ่ม (เช่นฮาโดเคนตวัดแล้วกดต่อยหนักพร้อมต่อยกลาง) แต่ก็ต้องแลกกับแถบซุปเปอร์ 1 ใน 4 ส่วนด้วย
เทคนิกใหม่อีกอย่างที่เพิ่มเข้ามาคือ "โฟกัสแอทแทค" (หรือเซฟวิ่งแอทแทคในฝั่งญี่ปุ่น) ใช้โดยการกดต่อยกลางกับเตะกลางพร้อมกันค้างไว้แล้วปล่อย ออกมาเป็นท่าอัดที่มีผลทั้งทะลุการ์ด ทำให้เสียหลัก และทนการโจมตีของศัตรูได้ 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับว่ากดชาร์จนานแค่ไหน
นอกจากใช้เพื่อการจู่โจมแล้ว โฟกัสแอทแทคยังมีลูกเล่นพิเศษใช้ผสมกับการแดชเพื่อยกเลิกท่าไม้ตายขณะกระทบเป้าได้ ซึ่งถ้าอัดโดนจะเป็นการพลิกแพลงเพื่อต่อท่าอื่น หรือถ้าพลาดติดการ์ดก็จะเป็นการดึงกลับก่อนเปิดช่องให้ศัตรูสวน โดยเทคนิกนี้ต้องแลกกับแถบพลังซุปเปอร์ถึงครึ่งหลอด
การสะสมแถบพลังในคราวนี้จะแบ่งเป็นแถบ "ซุปเปอร์" ให้ใช้ทั้งหมดเพื่อทำท่าซุปเปอร์คอมโบหรือใช้บางส่วนเพื่อทำเทคนิกอื่นๆ กับอีกแถบใหม่คือ "รีเวนจ์" เป็นรูปครึ่งวงกลมซึ่งจะเพิ่มขึ้นเมื่อเราโดนอัดและเริ่มนับใหม่หลังจบราวน์ เมื่อสะสมถึงครึ่งหรือเต็มก็จะใช้ไม้ตายสุดยอด "อุลตร้าคอมโบ" ได้
รูปแบบการสู้ของเกมโดยหลักจะเน้นให้ใช้ท่าอัดธรรมดาและท่าพิเศษผสมกันเป็นคอมโบ อย่างเช่นโดดเตะ-ตัดขา-ไม้ตาย โดยมีท่า EX กับโฟกัสแอทแทคเป็นตัวเสริมหรือใช้หลอกล่อดึงจังหวะ ซึ่งถ้ามือแม่นพอจะสามารถสร้างความเสียหายชุดใหญ่ต่อเนื่องจากการอัดโดนแค่ 1 ครั้งได้เลย
สำหรับมือใหม่หรือคนที่ไม่ชอบเทคนิกมาก วิธีพื้นๆอย่างการก้มเตะ,ดักต่อย,โฮสวนหรือยิงพลังเข้าไปกดดันก็ยังคงใช้ได้ผล ยิ่งถ้าเจอคู่แข่งลีลาเยอะก็ยิ่งเปิดการ์ดให้เราอัดง่ายขึ้นเช่นกัน แต่บอสใหญ่ในโหมดอาร์เคดอาจโหดเกินไปนิดกับคนที่ไม่เชี่ยวชาญเกมแนวนี้
ส่วนของโหมดการเล่น นอกจากอาร์เคด, VS, เซอร์ไววัล, ไทม์แอทแทค และโหมดฝึกฝนตามสูตรของเกมแนวนี้แล้ว ยังมีโหมด "ไทรอัล" ที่จะให้ใช้ท่าโจมตีหรือคอมโบตามโจทย์ทีละข้อ เป็นการสอนให้เรารู้จักเทคนิกเฉพาะของตัวละครนั้นไปในตัว แต่รวมๆแล้วก็ยังมีอะไรให้ทำค่อนข้างน้อยสำหรับการเล่นคนเดียว
กราฟิกในภาคนี้ก็ใช้เทคนิกใหม่ให้สีสันเหมือนภาพวาดที่มีรายละเอียดสวยงามน่าประทับใจ ลบภาพลักษณ์เดิมๆของเกม HD ที่มักจะมีแต่รูขุมขนกับหยาดเหงื่อเป็นมันวาวจนหลายคนเริ่มเอียน แต่ภาพยนตร์อนิเมชั่นที่นำมาใช้เล่าเรื่องตอนเริ่มและจบยังดูไม่เนี้ยบเท่าที่ควร ยิ่งเทียบกับภาพการเล่นยิ่งเหมือนไม่ได้มาด้วยกันชอบกล
ทางด้านดนตรีประกอบ เพลงของวง EXILE ที่เป็นธีมหลักก็เข้ากับเกมได้เป็นอย่างดี พร้อมซาวน์เอฟเฟกต์ที่หนักแน่นตามสไตล์เกมต่อสู้ของแคปคอม ส่วนเสียงพากย์ต่างๆก็มีทั้งภาษาญี่ปุ่นอังกฤษให้เลือกครบถ้วน
โดยรวมแล้ว แม้ระบบการเล่นของสตรีทไฟเตอร์ 4 จะไม่ได้ทำอะไรแปลกใหม่ล้ำสมัยมากนัก แต่ก็สามารถเลือกเอาส่วนที่ดีของเกมต่อสู้มาขัดเกลาให้สมดุลและสนุกได้ ส่วนการนำเสนอก็ทำได้โดดเด่นเป็นมาตรฐานใหม่ให้กับค่ายอื่นที่คิดจะสร้างเกมแนวนี้ต่อเลยทีเดียว
"สตรีทไฟเตอร์ 4" ถือเป็นการก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ลืมรากฐานเดิมของตนเอง ทำให้นักเล่นได้ย้อนไปถึงความรู้สึกแรกที่หันมาสนใจเกมต่อสู้ ทั้งความอยากเอาชนะและฝึกฝนฝีมือ ซึ่งเป็นหัวใจของเกมแนวนี้อย่างแท้จริง
Street Fighter IV
Official Site
เครื่อง: Xbox360 /PS3
บริษัท: Capcom
แนวเกม: VS Fighting
จำนวนผู้เล่น: 1-2 คน (2 คนออนไลน์)
ESRB Rating:Teen (สำหรับผู้มีอายุ 13 ปีขึ้นไป)
http://www.gametrailers.com/remote_wrap.php?mid=44750ที่มา:
http://www.manager.co.th