ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่กลุ่มทรูเปิดเกมรุกอย่างหนักในหลายด้านด้วยกัน ไม่เฉพาะเกมการตลาดแต่รวมไปถึงความพยายามในการสร้างโอกาสใหม่ๆ และลดขอจำกัดของตนเองลงทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นการยืดอายุสัมปทานบริการโทรศัพท์มือถือของทรูมูฟออกไปอีก 5 ปี ถึงปี 2561 (เท่าดีแทค แต่เป็นการเช่าโครงข่าย)
การคว้าสิทธิทำตลาด "ไอโฟน 3G" จากแอปเปิล พร้อมๆ กับการได้แบ่งคลื่น 850 MHz มาทำ 3G
การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อหาเงินมา ปลดภาระหนี้ ซึ่งตัวเลขเป้าหมายต้องการหาเงินก้อนโตจากการขายหุ้นเป็นเงินถึง 1.9 หมื่นล้าน (หุ้นเพิ่มทุนลอตแรกขายได้ 6 พันกว่าล้านบาท)
นอกจากมีหนี้ต้องจ่ายแล้ว ยังต้องคิดถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการชิงดำคลื่นใหม่ 2.1GHz กับเขาด้วย
และไม่ใช่แค่เงิน
การตามล่าหา "พาร์ตเนอร์" ใหม่ (ในฝัน) บิ๊กกลุ่มทรู ศุภชัย เจียรวนนท์ พูดชัดถ้อยชัดคำว่า ต้องการพาร์ตเนอร์มาร่วมหัวจมท้ายในการลงทุน 3G บนคลื่นใหม่
ที่ว่าเป็นพาร์ตเนอร์ในฝันก็เพราะไม่ใช่แต่ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและมีเงินถุงเงินถังเท่านั้น แต่ต้องใจกว้างยอมเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นไทยกุมอำนาจบริหารบริษัท
ฟากธุรกิจเคเบิลทีวี "ทรูวิชั่นส์" หลังใช้ความพยายามมานานหลายปี ที่สุดก็ผลักดันจน อสมท ต้นสังกัดยอมใจอ่อนปล่อยให้มี "โฆษณา" ได้
ไม่เฉพาะแต่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเห็นๆ ว่ากันว่า อาจถึงขั้นพลิกโฉมโมเดลธุรกิจของ ทรูวิชั่นส์ได้เลยทีเดียว
แต่ที่ยังต้องแบกไว้เต็มบ่าและเหนื่อยอีกนานหนีไม่พ้นหนี้ก้อนโตหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ยังสลัดไม่หลุดก็โดนวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ฉุดให้เศรษฐกิจบ้านเราย่ำแย่ไปด้วย
เทียบคู่แข่ง "กลุ่มทรู" จะหนักกว่าไหม
"ศุภชัย เจียรวนนท์" มีคำตอบ
- กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจไทย
บ้านเรามีแนวโน้มว่าจะแย่งลงไปกว่านี้อีก ถ้าอเมริกายังไม่ดีขึ้น ของเราก็จะลงไปเรื่อยๆ ถ้าอเมริกาขึ้นเมื่อไร เราจะเริ่มผงกหัวขึ้นมาใน 6 เดือนถัดไป หลายคนบอกว่า ปลายปีนี้น่าจะนิ่งและเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ผมเองก็หวังว่าจะเห็นแบบนั้น
- เศรษฐกิจไทยล่ะ
จริงๆ เศรษฐกิจบ้านเราไม่ล่มนะ ที่ว่าเป็นขาลงเพราะไม่ดีเหมือนเคย จากภาคธุรกิจส่งออกที่หายไปเยอะมาก ทุนที่เคยมาจากต่างประเทศ เงินกู้ต่างประเทศหายไป ทำให้โครงการต่างๆ ไม่เดินหน้า เดิมที่มีทุนจากต่างชาติสนับสนุน ตอนนี้เหลือแต่ทุนไทยกันเอง
นโยบายของรัฐบาลต้องผลักมากกว่านี้ถึงจะทดแทนทุนต่างประเทศที่หายไปได้ ตอนนี้รัฐบาลใช้นโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบลงไปเยอะแล้วก็จริง แต่โดยส่วนตัวคิดว่ายังไม่พอ คือเพิ่มเข้ามาเป็นหลักหมื่นล้านบาท แต่ที่หายไปเป็นหลักแสนล้านบาท
- กับธุรกิจสื่อสารเป็นอย่างไร
อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมยัง โอเคอยู่ ยังเติบโตต่อได้ แต่อาจไม่โตมาก ที่โตเพราะถือเป็นสาธารณูปโภค
ยังมีกลุ่มทุนที่สนใจธุรกิจโทรคมนาคมอีกพอสมควร ประกอบกับเทเลคอมไทยกำลังเข้าสู่ 3G เลยมีตัวกระตุ้น ถ้าเราดูหมวดเทเลคอมอย่างในอเมริกาหรือยุโรปที่เศรษฐกิจมีปัญหามากๆ ก็ยังไม่กระทบนะ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่ดีขึ้น ต่อไปก็คงไม่ดี
- กระทบแผนเพิ่มทุนของทรูไหม
ลอตแรกก็ถือว่าโอเค จะมีตามออกมาอีก ทั้งหมดตั้งไว 1.9 หมื่นล้านบาท
- ถ้ามี กทช.ชุดใหม่จะกระทบ 3G
ชุดใหม่หรือชุดเก่าก็น่าจะเร่งทำ 3G ทั้งคู่ เพราะเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจได้
- เทียบกับคู่แข่งทรูเสียเปรียบไหม
เราก็คงต้องดึงทุนจากต่างประเทศเข้ามาบ้าง แต่ในช่วงประมูลคิดว่าเรามีกำลังพอ ไม่ใช่ปัญหา แต่สเต็ปถัดไปในเรื่องการลงทุนขยายเครือข่ายคงต้องหาพาร์ตเนอร์ ซึ่งก็มีหลายรายแสดงความสนใจ
- 3G บนคลื่นเดิมเมื่อไรจะเก็บตังค์
เราก็พยายามขอให้ กสทฯช่วยพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งก็มีความคืบหน้าไปบ้าง
- มีนโยบายในภาวะวิกฤตอย่างไร
เรื่องประหยัดและการควบคุมบัดเจ็ต เป็นนโยบายที่ปีนี้จะประหยัดให้ได้ 15% ของปีที่แล้ว เป็นเรื่องที่ต้องพยายามแต่คิดว่าทำได้ เพราะแค่ 15% ไม่ใช่ 30-50%
- ผลตอบรับจากไอโฟน
ตอบยาก เพราะตามข้อตกลงกับ แอปเปิล เราพูดอะไรมากไม่ได้
แตกว่าจะเปิดตัวได้ ทั้ง 3G ทั้งไอโฟน ต้องทำงานกันหนักมาก พอเปิดตัวไปแล้ว ก็โอเค ผมใช้เองก็เห็นแนวโน้มค่อนข้างชัดว่าเทรนด์ของด้านนี้มาแน่นอน คือเป็น คอนเวอร์เจนซ์ และเป็นคอนเทนต์ โอเรียนเท็ด แอปพลิเคชั่น และเน็ตแอ็กเซส ซึ่งเสริมกับ 3G ดีมาก
- ถ้าเริ่มเก็บตังค์คนจะใช้น้อยลงไหม
เรื่องการใช้งานคิดว่าในแง่ของเดต้าของ 3G คงไม่น่าจะราคาแพงกว่า 2G เดิมมากนัก การใช้เดต้าก็โตขึ้นทุกปี ปีนึงสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ คนใช้น็อนวอยซ์เยอะขึ้น 3G มาลดความขาดแคลนของฟิกซ์ไลน์ที่จะมาทำเอดีเอสแอล
ในมุมมองของเรา 3G เป็นโอกาสที่เราจะเริ่มต้น อย่างเท่าเทียมกับคนอื่น เรื่องการแปรสัญญาสัมปทาน ถ้าเกิดขึ้นได้ในปีนี้ด้วยก็จะยิ่งดีมากๆ
ที่มา: matichon.co.th