หลังจากเคยมีปัญหาสัญญาณโทรศัพท์มือถือล่มครั้งใหญ่ช่วงปลายปีที่แล้ว ล่าสุดผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับดีแทค (DTAC) จำนวนมากร้องเรียนว่าไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ทั้งระบบ 2G และ 3G ในวันนี้ (28 สิงหาคม 2555) เบื้องต้นพบมีปัญหาทั่วกรุงเทพฯทั้งย่าน สุขุมวิท วิภาวดี รัชดา ลุมพินี ดุสิต ราษฎร์บูรณะ รวมถึงนนทบุรี อยุธยา ชลบุรี และนครปฐม ขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อทีมงานดีแทคเพื่อรับคำชี้แจงได้ ผู้ใช้จำนวนมากร้องเรียนบริการดีแทคผ่านกระทู้ในเว็บไซต์ pantip.com, หน้าเฟซบุ๊กของดีแทค รวมถึงทวิตเตอร์ @dtac_feelgoood ช่วงเวลา 11.00 น. ของวันนี้ (28) โดยผู้ใช้ทุกรายระบุว่าไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ทั้งการโทรและอินเทอร์เน็ต กระทั่งช่วง 11.50 น ผู้บริโภคบางส่วนระบุว่าสามารถกลับมาใช้งานได้ แต่อีก 10 นาทีก็ไม่สามารถใช้งาน
"Dtac จะทำอะไร เปลี่ยนอะไร ก็น่าจะบอกกันล่วงหน้า ทีให้จ่ายค่าโทรศัพท์ต้องตรงเวลา ทีสัญญาณหาย ทำไมไม่แจ้งบ้างอะไรบ้างล่ะค่ะ" ส่วนหนึ่งของความเห็นจากลูกค้าดีแทค โดยบางรายระบุว่าการติดต่อไปยังคอลล์เซ็นเตอร์ 1678 ก็ไม่สามารถทำได้
ดีแทคนั้นเคยเป็นข่าวใหญ่เรื่องเครือข่ายล่มเมื่อปลายปี 2554 ครั้งนั้นดีแทคชี้แจงว่าเกิดจากการถ่ายโอนฐานข้อมูลลูกค้าหรือ HLR ไม่ได้เกิดจากเซลไซต์ หรือช่องสัญญาณมีปัญหา ระบุว่าเป็นเหตุสุดวิสัยและพร้อมรับผิดชอบด้วยการชดเชยค่าเสียหายให้ลูกค้าที่มีการติดต่อสื่อสารภายในประเทศช่วงเวลาดังกล่าว 2 วัน (21-22 ธ.ค. 2554)
ไม่นาน 5 มกราคม 2555 ปัญหาสัญญาณดีแทคล่มเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 ในบริเวณภาคใต้ตอนบน 7 จังหวัด สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ บางส่วน โดยดีแทคชี้แจงว่ายังอยู่ระหว่างหาสาเหตุ คาดว่าเกิดจากชุมสายภายใต้ล่ม โดยมีการออกคำสั่งหยุดการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซาก ครั้งนั้นตัวแทนจากดีแทคแจงว่าเหตุสัญญาณล่มส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เลขหมายดีแทคทางภาคใต้ 1.8 ล้านรายในพื้นที่ 7 จังหวัดคือ ชุมพร สุราษฎร์ฯ ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และพังงา รวมไปถึงกรุงเทพฯ และปริมณทล
เชื่อว่าหลังจากปัญหาครั้งนี้ ดีแทคจะเป็นผู้นำทีมค่ายมือไทยในการจัดระเบียบวิถีการปรับปรุงเครือข่ายอย่างจริงจัง เนื่องจากก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม มีมติให้ค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต้องออกมาตรการแจ้งเตือนผู้บริโภครู้ตัวล่วงหน้า โดยให้มีการกำหนดเป็นประกาศ หรือมาตรการเรื่องการแจ้งเตือนหากมีการปรับปรุงระบบที่อาจมีผลกระทบต่อมาตรฐานการให้บริการ
"การแจ้งเตือนผู้บริโภคควรมีระดับการแจ้งเตือน 2 ระดับคือ ระดับที่ 1 กรณีการปรับปรุงระบบที่มีความเสี่ยงว่า จะเกิดผลกระทบกับการใช้บริการ ผู้ให้บริการจะต้องแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า เช่นเดียวกับไฟฟ้า หรือประปา ระดับที่ 2 กรณีที่มีการปรับปรุงระบบแล้วเกิดปัญหาจนส่งผลกระทบกับการใช้บริการในวงกว้าง บริษัทจะต้องแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการโดยการสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะเพื่อรับทราบสถานการณ์ทันที"
เบื้องต้น ผู้บริหารดีแทคระบุว่ายังไม่มีข้อมูลจากเหตุที่เกิดขึ้น ขณะที่ เลขา กสทช. ประกาศพร้อมลุยหาสาเหตุดีแทคล่มซ้ำซาก โดยเมื่อ 13.30 น. ที่ผ่านมาทางกสทช.ได้มีการแถลงข่าวเพื่อเรียกให้ทางดีแทค ส่งตัวแทนมาชี้แจงสาเหตุจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลา 16.00 น.
ที่มา: manager.co.th