กสทช. 'เศรษฐพงค์' ชี้ทรูต้องยอมลงบทบาทเป็นแค่ MVNO หลังบอร์ดกทค.มีมติให้แก้ไขสัญญา พร้อมติงกสทต้องคิดให้รอบคอบก่อนจะซื้อคืนทรัพย์สินจากบีเอฟเคที เหตุเพราะกำลังตรวจสอบความผิดอาญา พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวถึงกรณีที่บอร์ดกทค.มีมติให้บริษัท กสท โทรคมนาคม แก้ไขสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ 3G HSPA กับกลุ่มทรูใน 6 ประเด็นว่ากสทต้องรีบแก้ไขสัญญาตามมติกทค.และกลุ่มทรูก็ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการดำเนินการตามมติบอร์ดกทค.เช่นกัน ถึงแม้การแก้ไขสัญญาจะเป็นการลดบทบาทของทรูเพราะจะทำให้ทรูอยู่ในฐานะคล้ายๆเป็นเพียง MVNOกับกสทเท่านั้นจากเดิมที่สามารถบริหารคลื่น และมีอำนาจเต็มตัวเสมือนอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของคลื่นมาโดยตลอด
ส่วนกรณีบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) อาจเข้าข่ายกระทำความผิดทางคดีอาญา เนื่องจากเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 67 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 นั้นหากสำนักงานกสทช.มีการตรวจสอบแล้วมีมูลชัดเจนว่ามีความผิดจริงขั้นร้ายแรงสุดอาจจะถึงติดคุกก็เป็นได้
'กรณีดังกล่าวทางสำนักงานจะต้องมีหลักฐานที่่แน่นหนา และมีน้ำหนักจริงๆ ถึงจะสามารถสรุปผลว่าบีเอฟเคทีผิดจริงเนื่องจากเป็นคดีอาญา'
ทั้งนี้สำนักงานกสทช.ต้องไปวิเคราะห์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายเกี่ยวกับการดำเนินการของบีเอฟเคทีตั้งแต่วันที่เข้าทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่บนความถี่ 850MHz กับกสทว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามมาตรา67หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นบอร์ดกทค.ได้ให้ระยะเวลาดำเนินการ 30 วันก่อนจะเสนอผลสรุปต่อบอร์ดกทค.อีกครั้งโดยหากสำนักงานเห็นควรให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยเฉพาะก็จำเป็นต้องตั้ง
'คาดว่าหากต้องตั้งคณะอนุกรรมการ บอร์ดกทค.จะเป็นคนตั้งเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญโดยคาดว่าจะใช้เวลาในการตั้งอีก2สัปดาห์และให้เวลาคณะอนุกรรมการตรวจสอบพิจารณาอีกประมาณ45วัน ดังนั้นคาดว่ากรณีบีเอฟเคทีจะรู้ผลสรุปภายในอีก2เดือนหรือไม่เกินเดือนก.ย.แน่นอน เพราะต้องเคลียร์ให้จบก่อนการประมูล3G'
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่าอุปสรรคสำคัญที่จะมาล้มการประมูล 3Gเชื่อว่าจะเป็นเรื่องร่างประกาศครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว เนื่องจากกลัวจะมีผู้ประกอบการบางรายที่ไม่เห็นด้วยอาจจะมีการฟ้องร้องในชั้นศาลก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล เพราะที่ผ่านมากสทช.พยายามผลักดันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่าการประมูลความถี่ 3G มีความสำคัญกับประเทศมากแค่ไหน และพยายามทำทุกขั้นตอนให้โปร่งใสและถูกต้องมากที่สุด
'กสทช.ไม่ได้มีแผนสำรองอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทุกอย่างอยู่ที่ดุลยพินิจของศาล เพราะศาลเป็นผู้เดียวที่จะสั่งให้หยุดการประมูล 3G ได้'
ส่วนกรณีที่นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทมีการหารือกับกลุ่มทรูที่จะของซื้อคืนทรัพย์สินจากบีเอฟเคทีนั้น โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากการที่หน่วยงานของรัฐจะนำเงินของรัฐไปซื้อทรัพย์สินจากเอกชน จะต้องมีเหตุผลในการดำเนินการดังกล่าวโดยเฉพาะจะต้องตอบโจทย์ที่ว่าซื้อมาแล้วรัฐได้ประโยชน์อะไร คุ้มค่าหรือไม่ แล้วรัฐจะเสียอะไรบ้าง ดังนั้นกสทควรที่จะรอผลสรุปจากกสทช.ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อทรัพย์สินจากบีเอฟเคที
ด้านนายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจโมบายล์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับกสท ในการปรับปรุงรายละเอียดข้อสัญญาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และให้สอดคล้องกับมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ตามมติของบอร์ดกทค. โดยประเด็นต่างๆ ที่กทค.มีคำสั่งให้กสทดำเนินการแก้ไขนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด บริษัทฯ จึงมั่นใจว่ากสทและทรู จะสามารถร่วมมือกันในการดำเนินการดังกล่าวให้เรียบร้อยได้ด้วยดี และบริษัทฯ ขอยืนยันกับลูกค้าว่าการให้บริการทรูมูฟ เอช 3G+ ยังคงเป็นไปตามปกติ ขอให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
แหล่งข่าวกล่าวว่าการตัดสินของกสทช.ในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบหรือเป็นผลเสียอะไรกับกลุ่มทรูเลย เพราะทำให้ทรูเดินหน้าเข้าร่วมประมูล 3G ความถี่ 2.1 GHz ในสถานะที่ได้เปรียบกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะถือ2 ความถี่ในการให้บริการคือ 850 MHz ในการให้บริการด้วยสัญญาณที่ครอบคลุมได้ไกลกว่า ในขณะที่ความถี่ 2.1 GHz จะให้บริการในเขตพื้นที่เมืองที่มีความหนาแน่น
'ไม่ว่ามีคำสั่งอะไรออกมาจากกสทช. กลุ่มทรูก็ยังได้เปรียบกว่าคนอื่นอยู่ดี เพียงแต่คำสั่งกสทช.อาจทำให้ป.ป.ช.หรือดีเอสไอ กล้าที่จะฟันนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพราะเห็นได้ชัดว่ามีการเอื้อประโยชน์ชัดเจนมากแค่ไหน'
Company Related Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th