สัญญาใหม่ MVNO 3G ทีโอทีใกล้คลอด เหลือเพียงขั้นตอนอัยการสูงสุดตรวจสอบสัญญา และเหลือเพียง 'สามารถ ไอ-โมบาย' รายเดียวเป็นมิตรแท้พร้อมร่วมหัวจมท้ายในฐานะ MVNO รายใหญ่ ประคองธุรกิจ 3G ให้ทีโอที โดย 22 ก.พ. ที่จะถึงนี้ พร้อมรีลอนซ์บริการ 3G เฟส 1 อีกครั้ง พ่วงทดสอบ 4G LTE ด้านเก้าอี้ซีอีโอแต่งตั้ง 'ยงยุทธ วัฒนสินธุ์' แล้ว นายอุดม พัวสกุล ประธานบอร์ดบริษัท ทีโอที กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดทีโอทีเมื่อวันที่ 14ก.พ.ว่าที่ประชุมมีการรายงานความคืบหน้าแผนการให้เอกชนเช่าใช้โครงข่ายเพื่อให้บริการ (MVNO) ภายใต้สัญญาฉบับใหม่นั้นใกล้จะเสร็จแล้วรอเพียงให้อัยการสูงสุดตรวจสอบสัญญาเท่านั้น ซึ่งสัญญาฉบับใหม่ดังกล่าวจะมีการปรับแก้ไขจากสัญญาฉบับเดิมโดยเน้นผลประโยชน์ของทีโอทีเป็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสัดส่วนรายได้ และกำไรที่ทีโอทีจะได้รับจากเอกชนที่เข้าร่วม พร้อมทั้งสัญญาฉบับใหม่จะไม่ยาวถึง 15 ปี และจะทบทวนสัญญาทุก 2 ปี
'ในตอนนี้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอทำ MVNO กับทีโอทีที่เป็นรายใหญ่เหลือเพียงรายเดียวคือ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย เท่านั้นโดยก่อนหน้านี้บริษัท ล็อกซเล่ย์ ก็แสดงความสนใจ MVNO เช่นเดียวกัน'
ส่วนความคืบหน้าการติดตั้งสถานีฐานเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G เฟส1จำนวน5,320สถานีฐานนั้นล่าสุดเหลือการติดตั้งอีกราว 700 สถานีฐาน ซึ่งคาดว่าจะติดตั้งครบทั้งหมดในเฟส 1ในเดือนเม.ย.นี้ แต่ในบางจังหวัดอย่างที่เชียงใหม่ได้มีการติดตั้งครอบคลุมทั้งจังหวัดแล้ว
อย่างไรก็ตามในวันที่ 22 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ทีโอทีจะเดินหน้าเปิดตัวการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G เฟส1อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเปิดทดลองการให้บริการ 4G ด้วยเทคโนโลยี LTE บนคลื่นความถี่ 2.3 GHz ซึ่งจะทำการขออนุญาตติดตั้งจำนวน 100-200 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ในการทดลองภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน โดยจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์ 4G บนสถานีฐานของ 3G เท่านั้น
'เบื้องต้นทีโอทีจะต้องเข้าไปดำเนินการขอทดลองใช้เทคโนโลยี LTE บนคลื่นความถี่ 2.3 GHz กับกสทช.อีกครั้งก่อนจึงจะสามารถเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ และเปิดทดลองใช้ในวันดังกล่าวต่อไปได้ ส่วนการเปิดให้บริการในลักษณะเชิงธุรกิจนั้นทีโอทีคงต้องรอดูอุปกรณ์รองรับ 4G ให้มากกว่านี้ก่อน'
นอกจากนี้บอร์ดทีโอทียังอนุมัติแต่'ตั้งให้นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีคนใหม่ โดยให้มีผลทันที ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี รับเงินเดือนในอัตรา 380,000 บาท พร้อมทั้งอนุมัติการลาออกจากการเป็นพนักงานทีโอทีด้วย
'บอร์ดได้มอบหมายงานเร่งด่วนให้ซีอีโอคนใหม่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญคือการจัดทำแผนเพื่อรองรับสัญญาสัมปทานสิ้นสุด เพื่อให้ทีโอทีอยู่รอด เนื่องจากในปี 57 ทีโอที จะไม่มีรายได้จากสัญญาสัมปทานอีกต่อไปตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.)ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้ทีโอทีมีรายได้ลดลง และการเดินหน้าโครงการการ3G เฟส1 และเฟส2 รวมไปถึงการทำ4G LTE บนคลื่น2.3GHz ด้วย'
นายอุดม กล่าวอีกว่าบอร์ดยังเห็นชอบให้ทีโอทีจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อวิเคราะห์โครงการสร้างโครงข่าย3G เฟส2 วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาทเพื่อติดตั้งสถานีฐาน 15,000-20,000 แห่ง โดยให้วิเคราะห์อย่างละเอียดทั้งผลการตอบแทน ความคุ้มค่าทางการลงทุน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ รวมถึงจะต้องวิเคราะห์ถึงมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่ว่าจะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทีโอทีให้มากที่สุด
สำหรับงบลงทุน 30,000 ล้านบาทสำหรับ 3G เฟส 2 ดังกล่าวนั้น ทีโอทีคาดว่าหากเกิดการตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ (บิสซิเนสยูนิต หรือ บียู) ซึ่งจะเป็นการตั้งบียูด้านทาวเวอร์โค โดยรวมเอาเสาโทรคมนาคม และสถานีฐานที่ได้รับมอบจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเอกชนตามสัญญาร่วมการงาน มาให้เช่าใช้บริการเพื่อสร้างรายได้ ตามที่น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีทีและคณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ได้วางแผนไว้นั้น ก็จะทำให้งบประมาณในการทำ3Gในเฟส2 ไม่สูงถึง30,000 ล้านบาทแน่นอน ซึ่งในประเด็นการตั้งบียูด้านทาวเวอร์โคนั้นคาดว่าในการประชุมบอร์ดทีโอทีในครั้งหน้าช่วงเดือนมี.ค.นี้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น
Company Related Link :
ทีโอที
ที่มา: manager.co.th