ทีโอที เตรียมเสนอแผนธุรกิจรองรับหลังหมดรายได้จากสัญญาสัมปทานในปี 2558 ให้ กนร. 7 มิ.ย.นี้ เผยตั้ง 2 บริษัทใหม่ คือ ทาวเวอร์คัมปะนี กับ อินฟราสตักเจอร์ คัมปะนี แยกออกจากทีโอที ด้านรมว.ไอซีที 'อนุดิษฐ์' พรัอมสนับสนุนแนวทาง MVNO 3G TOT และจำนวนสถานีฐานที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ต้องใช้ทรัพยากรที่ได้รับมอบจากเอกชนให้คุ้มค่า นายมนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดในการจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจของทีโอทีในอนาคตเพื่อรองรับสัมปทานที่จะหมดลงในปี 2558 ตามที่กระทรวงไอซีทีได้สั่งให้ทีโอทีจัดทำร่างแผนงานเพื่อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้แนวทางที่ทีโอทีจะเสนอต่อกนร.นั้น คือการดำเนินการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ โดยการแยกเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ เพื่อดูแล และบริหารงานด้านการเสาโทรคมนาคม สถานีฐาน (ทาวเวอร์ คัมพะนี) ที่ปัจจุบันมีอยู่ 14,000 แห่ง แบ่งเป็นทรัพย์สินตามสัมปทานสร้าง-โอน-บริหาร (BTO) จากเอไอเอสจำนวน 12,000 แห่ง และของทีโอทีเอง 2,000 แห่ง และบริษัทบริหารงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ คัมพะนี) โดยในเบื้องต้น การจัดหาบุคลากรในการบริหารงานบริษัทลูกทั้ง 2 แห่งนั้น อาจต้องดึงคนนอกที่มีประสบการณ์มาดำเนินการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่เอกชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ให้รวดเร็วใกล้เคียงกับการดำเนินงานของบริษัทเอกชน
'เราคาดว่าจะสามารถตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาได้ก่อนเปิดการประมูล3G ของกสทช.ในไตรมาส 3ปีนี้ เพื่อที่จะเป็นการจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับเรานั่นเอง'
นายมนต์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ภายหลังจากที่ได้หารือกับน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับโครงการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ในย่านความถี่ 1900 MHz ที่มีความล่าช้า จากแผนเดิมที่จะเปิดให้บริการทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ในกทม.และ 16 จังหวัดในหัวเมืองหลักทั่วประเทศ โดยล่าสุดบอร์ดทีโอที และผู้บริหารระดับสูงออกมายอมรับการดำเนินการที่ผิดพลาด และไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จากจำนวนสถานีฐานที่พร้อมให้บริการ จากการใช้โครงข่ายร่วม (โค-ไซต์) กับผู้ประกอบการเอกชน และการติดตั้งของกลุ่มเอสแอลคอนซอร์เตี้ยม
สำหรับปัจจุบันทีโอทีมีสถานีฐานให้บริการ 3G เพียง 1,800 แห่งเท่านั้น ซึ่งรวมถึงสถานีฐานเดิมในเฟส 0 ที่ทำตลาดในกทม.ไปตั้งแต่ 2553 ที่มีจำนวน 543 แห่ง จากกำหนดเดิมตั้งเป้าจะมีจำนวนสถานีฐานให้บริการทั้งสิ้น 5,320 แห่ง
'เรายอมรับว่าต้องเลื่อนการเปิดบริการ 3G ออกเป็นเดือนส.ค.นี้แทนเดือนพ.ค. เนื่องจากติดปัญหาหลายด้าน แต่ยังคาดว่าจะมีสถานีฐานให้บริการ 3,000 กว่าแห่ง และจะครบตามกำหนดเดิมในสิ้นปีนี้แน่นอน'
ขณะที่ความคืบหน้าแผนการให้เอกชนเช่าใช้โครงข่าย (MVNO) นั้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิ.ย.นี้ โดยเบื้องต้นจะมีหลักเกณฑ์แบ่ง MVNO เป็น2 ประเภทคือแบบไม่ต้องประกันรายได้ กับแบบต้องประกันรายได้ โดยทีโอทีจะให้สิทธิ กับ MVNO รายเก่าทั้ง 5 รายได้แก่1. บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย 2. บริษัท ล็อกซเล่ย์ 3. บริษัท เอ็มคอนซัลท์ 4. บริษัท ไออีซี เทคโนโลยี และ5. บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น ในการเข้าร่วมแผน MVNOใหม่ของทีโอทีรวมทั้งจะเปิดโอกาสให้กับรายใหม่เข้ามาเป็น MVNO ด้วยเช่นเดียวกัน
ด้านน.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่าพร้อมสนับสนุนแนวทาง MVNO 3G TOT ที่จะเข้ามาช่วยทำการตลาดให้บริการ 3G TOT และพร้อมสนับสนุนแผนโครงข่ายที่จะต้องมีสถานีฐานให้ครบ 1.5-2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันและให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่ทีโอทีต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด
'ทีโอทีมีเสาทั้งหมด 1.4 หมื่นแห่ง ขณะที่อเมริกาเองมี 2 หมื่นเสา แต่เมื่อเทียบกับขนาดประเทศแล้วต่างกันมาก ทีโอทีไม่ควรต้องลงทุนซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มีอยู่'
Company Relate Link :
TOT
ที่มา: manager.co.th