'สมพล จันทร์ประเสริฐ' รองกจญ.กสท พยานเซ็นสัญญาเช่า FTTX ภูมิภาค ยืนยันโครงการโปร่งใส พร้อมแจงสตง. แต่ปฏิเสธไม่รับรู้ข้อร้องเรียนจากพนักงาน ทั้งๆที่หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าว ลงกันคึกคัก นายสมพล จันทร์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจบรอดแบนด์ บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ยื่นหนังสือตรวจสอบโครงการเช่าอุปกรณ์ FTTX ในภูมิภาคทั้ง 10 จังหวัดนั้น กสท กำลังจะส่งหนังสือตอบกลับไปยังสตง.ในประเด็นอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยตอนนี้อยู่ระหว่างให้คณะกรรมการกสท พิจารณาก่อนส่งไป
'เรามั่นใจว่าทุกอย่างที่ดำเนินการไปในตอนนั้นถูกต้องตามระเบียบทั้งหมด ส่วนในเรื่องมีพนักงานร้องเรียนว่าโครงการดังกล่าวไม่โปรงใสนั้น ผมไม่ทราบ และไม่สามารถตอบได้จริงๆ'
แหล่งข่าวในกสท กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า การร้องเรียนของพนักงานผ่านสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวหลายสำนัก คนในวงการรู้กันหมด แต่แปลกใจที่คนระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลับไม่รู้เรื่อง อาจเป็นเพราะนายสมพล เซ็นชื่อเป็นพยานในสัญญาด้วย ก็เลยปฏิเสธที่จะรับรู้
'เร็วไปหรือเปล่า ที่รีบออกมารับรองความถูกต้องของสัญญาทั้งหมดว่าทำถูกต้องตามระเบียบ รอผลสอบอย่างเป็นทางการของกรรมการออกมาแล้วค่อยพูดจะดีกว่ามั้ง เพราะหากสัญญาผิดคนเป็นพยานก็น่าจะมีความผิดด้วย'
ส่วนความคืบหน้าล่าสุดโครงการ FTTX ในส่วนภูมิภาคทั้ง 10 จังหวัด คือที่สมุย หัวหิน นครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ อุดรธานี ภูเก็ต และพัทยา ในสมัยนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่นั้นมีที่พัทยาเท่านั้นที่ติดตั้งแล้วเสร็จ ส่วนอีก 9 จังหวัดที่เหลือคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนเม.ย. - มิ.ย.นี้
ทั้งนี้โครงการ FTTX ในส่วนภูมิภาคคาดว่าจะสามารถทำรายได้ให้กับ กสท ตลอดระยะเวลา 6 ปีประมาณ 12,000 ล้านบาท แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนค่าติดตั้ง และค่าเช่าทั้งหมดรวม 8,000 ล้านบาท ซึ่งท้ายสุด กสท จะมีกำไรจากโครงการดังกล่าว 4,000 ล้านบาท โดยตามแผนธุรกิจของ กสท ในปี 2555 โครงการ FTTX ในภูมิภาคจะมีรายได้ทั้งสิ้น 528 ล้านบาท และในปี 2556 จะเพิ่มเป็น 1,373 ล้านบาท
นายสมพลยังกล่าวถึงรายได้ธุรกิจสื่อสารข้อมูลในปี55นี้ว่าจะสามารถทำรายได้ 7,560 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตราว 8.1% โดยรายได้ธุรกิจสื่อสารข้อมูลมีสัดส่วนของรายได้ทั้งหมด 15% โดยปีนี้กสทคาดว่าผลประกอบการของกสทจะอยู่ที่ 61,279 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีรายได้ 51,327 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากสัญญาสัมปทานราว 26,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้จากบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ วงจรสื่อสารข้อมูล โทรศัพท์มือถือ 3G HSPA แบรนด์ "My" และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์)
ทั้งนี้หากไม่รวมรายได้จากสัญญาสัมปทานที่ได้รับจากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ธุรกิจสื่อสารข้อมูลจะมีรายได้คิดเป็น 50% จากรายได้รวมของกสท โดยรายได้ดังกล่าว มาจากธุรกิจวงจรเช่า 5,177 ล้านบาท บรอดแบนด์ 1,200 ล้านบาท อี-บิสซิเนส 100 ล้านบาท และธุรกิจไอที ซิเคียวริตี้จำนวน 200 ล้านบาท นอกจากนี้กสท ยังทำสัญญาให้เช่าในส่วนของการทำเคเบิลใต้น้ำธุรกิจพลังงานบริเวณอ่าวไทย ให้กับ บริษัท ปตท. สผ. และบริษัท เชฟรอน ซึ่งมีสัญญาเช่าถึง15 ปีโดยจะต้องจ่ายค่าเช่าเฉลี่ยให้กับกสท 365 ล้านบาทต่อปีทั้ง 2 บริษัท
บอร์ดกสท ได้มีมติอนุมติงบลงทุนในการดำเนินการโครงการเคเบิลใต้น้ำเอเชีย แปซิฟิก เกตเวย์ (APG) ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาทซึ่งจะแล้วเสร็จอีกประมาณ 2 ปีหรือประมาณปี 2557 เชื่อมต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวม 14 ราย มีความยาวของเคเบิ้ลกว่า 8,000 กิโลเมตร มีจุดขึ้นบกในประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย
ขณะที่โครงการ FTTX ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ความคืบหน้าล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้กสทกลับไปทำเป็นโครงการนำร่องก่อนช่วงแรกจากที่กสท เสนอเข้าไปก่อนหน้านี้ทั้งหมด 4 แสนพอร์ดภายใต้งบ 6,000 ล้านบาท ทำให้เหลือเพียง 1 แสนพอร์ต งบ 1,280 ล้านบาทโดยอยู่ระหว่างกระทรวงไอซีทีพิจารณาโครงการดังกล่าว ก่อนจะส่งไปยังสศช.ต่อไป
Company Relate Link :
CAT
ที่มา: manager.co.th