จากมติ ครม.เมื่อ 21 เมษายน 2552 ในกรณีให้หน่วยงานราชการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศหรือเป็นกิจการของคนไทย แม้ว่าหลายฝ่ายอาจมองว่าไม่มีอะไรใหม่ และจะมีหน่วยงานราชการสักกี่แห่งที่จะจริงจังกับการปฏิบัติตามมติ ครม.ครั้งนี้
แต่สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการพีซีโลคอลแบรนด์นั้น ถือว่าเป็นการต่อลมหายใจให้กับพีซีแบรนด์ไทยอย่างดี
"ภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มติ ครม.ที่ออกมาเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการพีซีโลคอลแบรนด์ให้สามารถเข้าประมูลโปรเจ็กต์ของหน่วยงานราชการมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเพียงแค่มติ ครม.ออกมาแล้วทุกหน่วยงานจะรับปฏิบัติอย่างแข็งขัน แต่ผู้ประกอบการจะต้องออกแรงในการเข้าไปทำความเข้าใจกับหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อที่จะเปิดช่องให้โลคอลแบรนด์มีโอกาสเข้าร่วมประมูลด้วย
และหมายความว่าหากหน่วยงานราชการไหนมีการออกทีโออาร์ที่ปิดกั้นโลคอลแบรนด์ ผู้ประกอบการก็ยังสามารถที่จะใช้มติ ครม.ดังกล่าวไปเรียกร้องได้ อย่างน้อยก็ทำให้หน่วยงานราชการต่างๆ ไม่กล้าที่จะออกทีโออาร์ที่กีดกันสินค้าไทยอีกต่อไป
"อย่างน้อยในปีงบประมาณ 2553 การออกทีโออาร์ของหน่วยงานราชการต่างๆ ก็ควรจะเปิดโอกาสให้พีซีโลคอล แบรนด์ได้ มีโอกาสเข้าร่วมการประมูลด้วย" นายภานุวัฒน์กล่าวและว่า
สำหรับกลุ่มโลคอลแบรนด์ที่ยังแข็งแรงนั้นเหลืออยู่ไม่กี่ราย อาทิ สุพรีมฯ, เอสวีโอเอ และเอ็มพีพี เพราะส่วนใหญ่ก็ถอดใจไปเป็นตัวแทนจำหน่ายอินเตอร์แบรนด์เพื่อที่จะได้มีโอกาสในการเข้าประมูล ที่ผ่านมา สถานการณ์ของโลคอลแบรนด์ค่อนข้างลำบาก ส่วนหนึ่งเพราะโน้ตบุ๊กกินส่วนแบ่งตลาดไปกว่า 50% ขณะที่ตลาดโน้ตบุ๊ก โลคอลแบรนด์ก็เข้าไปแข่งขันยาก ตลาด พีซีตั้งโต๊ะก็เล็กลง และตลาดหลักของโลคอลแบรนด์ก็คือราชการ โดยเฉพาะในภาคการศึกษาเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโลคอล แบรนด์ที่คงอยู่ในตลาดเวลานี้ ถือว่าเป็นของจริงที่มีจุดแข็งที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการเซ็กเมนเตชั่นตลาด นายภานุวัฒน์กล่าวว่า การเข้าโปรเจ็กต์ราชการของสุพรีมฯจะโฟกัสที่โปรเจ็กต์ขนาดไม่เกิน 100 เครื่อง เพราะเป็นขนาดที่ทำให้เรามีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ เพราะด้วยราคาโลคอลแบรนด์ดีกว่าอินเตอร์แบรนด์อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ บริษัทแม่ก็มักจะโดดเข้ามาซัพพอร์ตทำให้ได้ต้นทุนราคาที่ดีกว่าโลคอลแบรนด์
ขณะเดียวกันโลคอลแบรนด์จะมีความยืดหยุ่นในแง่ของสเป็กที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ คือถ้าสเป็กไม่ได้อยู่ในไลน์การผลิตปกติก็สามารถที่จะ build to order ได้ แต่ในแง่ของอินเตอร์แบรนด์จะทำไม่ได้
จุดสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีเซ็กเมนต์ตลาดที่ตัวเอง "แข็ง" ประกอบกับต้องมี "คุณภาพ" ของสินค้าและบริการ
ถ้าผู้ประกอบการไม่มีเซ็กเมนต์ที่ตัวเองแข็งแรง แล้วใช้วิธีการดัมพ์ราคาแข่งเพื่อให้ได้งานอย่างเดียว ก็ต้องทำราคาให้ถูกที่สุดอย่างเดียว โอกาสอยู่รอดก็ยาก
อย่างไรก็ตาม ตลาดของโลคอลแบรนด์และเครื่องประกอบ (ดีไอวาย) ส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างจังหวัด
โดยในส่วนของสุพรีมฯจะมีจุดแข็งในตลาดการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนระดับประถมและมัธยมในสังกัด สพฐ. ซึ่งปีนี้มีการจัดซื้อทั้งหมดประมาณ 12,000 เครื่อง เป็นการกระจายการจัดซื้อของแต่ละโรงเรียน ในส่วนของสุพรีมฯก็ได้โครงการมาประมาณ 4,000-5,000 เครื่อง และปีนี้บริษัทก็ขยายตลาดเข้าไปในระดับปริญญาตรีในกลุ่มสถาบันราชภัฏและราชมงคล
นอกจากนี้บริษัทยังชนะประมูลโครงการศูนย์ไอซีทีชุมชน 100 แห่งของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มูลค่า 45.9 ล้านบาท ทำให้ไตรมาสแรกที่ผ่านมาสุพรีมฯทำยอดขายได้ประมาณ 300 ล้านบาท จากปี 2551 บริษัทมียอดขายทั้งปี 400 ล้านบาท
"ปีนี้ทำได้ดี เป็นผลจากที่บริษัททำการบ้าน 2 ปีก่อน คือเดิมราชการก็มองว่าเครื่องโลคอลแบรนด์มีปัญหา คุณภาพสู้อินเตอร์แบรนด์ไม่ได้ บริษัทก็เข้าไปพูดคุยแล้วก็เสนอให้คอมพิวเตอร์ไปทดลองใช้ ก็ทำให้หลายหน่วยงานยอมรับและเปิดกว้างสำหรับโลคอลแบรนด์ ทำให้กล้าเขียนสเป็กที่เปิดโอกาสให้โลคอลแบรนด์มากขึ้น"
ดาน "ประทีป เอื้อศักดิ์เจริญกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมโทร โปรเฟสชั่นแนล โปรดักส์ จำกัด ภายใต้แบรนด์ "เอ็มพีพี" กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทจะเน้นจุดแข็งในส่วนของตลาดเซิร์ฟเวอร์ แต่ช่วง ที่ผ่านมาก็ขยายไปทำตลาดเครื่องอินเตอร์แบรนด์มากขึ้น แต่ก็เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในระยะสั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายให้ซื้อสินค้าไทยถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่จะยืนระยะยาวได้ต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด คือการสร้างแบรนด์ของตัวเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องผลักดันให้อุตสาหกรรมโลคอลแบรนด์เข้มแข็ง เพื่อให้ผู้ประกอบการ อยู่รอด
อย่างไรก็ตาม ถ้านโยบายไม่ถูกกระตุ้นให้นำมาใช้ก็ไม่ออกดอกออกผล ดังนั้นจะต้องมีแผนงานตามมาอีกหลายขั้นตอน
ที่มา: matichon.co.th