บัณฑิต อึ้งรังษี
ทฤษฎี ณ พัทลุง
กลายเป็นประเด็นที่คนในแวดวงดนตรีโดยเฉพาะวงการเพลงคลาสสิกให้ความสนใจไม่น้อยทีเดียวกับการลุกขึ้นมาตั้งข้อสังเกตของ "ทฤษฎี ณ พัทลุง" คอนดักเตอร์หนุ่มชาวไทยวัย 24 ศิลปินในสังกัด Columbia Artists หรือ CAMI ต่อซีดีชุด “Heavenly Music” ของ Inspire Music ในหัวข้อ "บัณฑิต อึ้งรังษี กับ ซีดีเจ้าปัญหา” ผ่านเว็บบล็อกของตนเอง
โดยเจ้าของบล็อกได้ให้รายละเอียดว่า ซีดีชุดดังกล่าวมีหน้าปกเป็นรูปคอนดักเตอร์ชื่อดังของไทย "บัณฑิต อึ้งรังษี" กำลังคอนดักต์วงฝรั่งอยู่ ขณะที่ปกหลังเขียนว่า “บทเพลงเหล่านี้ได้ถูกคัดสรร โดย คอนดักเตอร์ บัณฑิต อึ้งรังษี…ทุกเพลงบรรเลงโดยนักดนตรีระดับโลกของยุโรป” ตามด้วยรูปคุณบัณฑิตกำลังคอนดักต์ “นักดนตรีระดับโลกของยุโรป” ส่วนภายในก็มีเนื้อหาว่าด้วยประวัติของคุณบัณฑิตทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ
...ทว่าที่น่าแปลกใจก็คือบทเพลงที่อยู่ในอัลบั้มชุดนี้ ไม่มีเพลงไหนเลยที่คุณบัณฑิตทำหน้าที่เป็นวาทยากรแม้แต่เพลงเดียว!
นอกจากนี้ในส่วนของที่มาของเพลงทั้งหมด ซึ่งมาจาก RFCM (Royalty-Free Classical Music "ดนตรีคลาสสิคปลอดค่าลิขสิทธิ์") คอนดักต์โดย Dr. Keith J. Salmon ก็ถูกพิมพ์ไว้ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ยาก และมีขนาดตัวพิมพ์ที่เล็กมากๆ ซึ่ง ทฤษฎี มองว่าเป็นเรื่องผิดปกติไปจากอัลบั้มเพลงคลาสสิกทั่วไปที่จะต้องมีรูปหรือว่าชื่อศิลปินเขียนไว้ชัดเจนบนปก
โดยเฉพาะถ้าเป็น "ศิลปินระดับโลก" จะต้องบอกไว้ชัดเจนว่า "เพลงอะไร", "ใครแต่ง", "ใครคอนดักต์", "ใครแสดงเครื่องดนตรีเดี่ยว", และ "วงอะไรเล่น" หากผิดไปจากนี้จะถือว่าผิดปกติเป็นอย่างมาก
นอกจากอัลบั้ม “Heavenly Music” แล้วเจ้าของบล็อกยังได้ตั้งข้อสังเกตไปยังงานอื่นๆ ของ บัณฑิต ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน อย่าง "Just Romantic" ที่นำเพลงของ RFCM มาใช้ แต่กลับไม่มีการระบุชื่อของคอนดักเตอร์และไม่ระบุลิงค์ของเว็บไซต์ตามที่สัญญาระบุไว้ แต่กับเพลงไหนที่เขาคอนดักต์เองกลับระบุชื่อไว้อย่างชัดเจน
รวมไปถึงซีดีชุดขาสั้นคลาสสิค ตอน “สั้นๆ ง่ายๆ สไตล์บัณฑิต” (I Feel Good) ซึ่งไม่มีการระบุเอาไว้เลยว่า วงอะไรเล่น? และใครคอนดักต์! โดยที่หน้าปกรูปของคุณบัณฑิตกำลังทำหน้าที่คอนดักต์วงต่างประเทศอยู่พร้อมกับตัวหนังสือที่ชวนคิดว่าผลงานนี้เป็นของใคร ว่า...บรรเลงโดย World-class conductor and international orchestras
หลังจากที่ ทฤษฎี ได้นำข้อสังเกตที่ว่านี้ไปโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊คของตนเอง ทางด้านของ บัณฑิต ก็ได้เข้ามาชี้แจงเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยระบุว่า การทำการตลาดเช่นนี้ที่ต่างประเทศก็ทำกันเป็นปกติ ไม่ได้เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค แต่ถ้ายังไม่ชัดเจนเพียงพอสำหรับบางท่านเจ้าตัวก็จะแก้ไขให้ผู้ซื้อซีดีเข้าใจอย่างชัดเจนในอนาคต พร้อมยังบอกถึงจุดประสงค์ในการทำซีดีชุดนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ดนตรีคลาสสิกเข้าถึงคนไทยได้อย่างไม่แพง ตนพยายามหาวิธีมานานแล้ว วิธีนี้เหมือนได้ผล เพราะได้รับการตอบรับที่ดี พอสมควร (อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่
http://drama-addict.com/?p=20271 และที่
http://trisdee.wordpress.com/2010/09/23/the-disappointing-truth/ ทั้งนี้เมื่อเรื่องดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวขึ้นมาก็ได้มีชาวอินเทอร์เน็ตจำนวนมากนำเอาไปประเด็นตั้งเป็นกระทู้ในหลายๆ เว็บไซต์ และมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากมาย โดยบางส่วนก็เห็นด้วยกับทาง บัณฑิต อึ้งรังษี ขณะที่ส่วนใหญ่ต่างมองว่าการกระทำที่ว่านี้ไม่เหมาะสม เพราะนอกจากจะเป็นการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดแล้วยังเหมือนกับเป็นการดูถูกคนฟังเพลงอีกต่างหาก
นอกจากนี้บางส่วนยังตั้งข้อสงสัยว่าการนำเอาเพลงของคนอื่นมาใช้โดยไม่ระบุที่มาที่ไปให้ชัดเจนเช่นนี้จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่? พร้อมมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่การผิดพลาดที่ว่านี้ทางวาทยากรชื่อดังจะไม่รู้แต่น่าจะเป็นเรื่องของความตั้งใจมากกว่า
เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อผู้สื่อข่าว Super บันเทิง ได้สอบถามความคิดเห็นไปยัง "อ.สมเถา สุจริตกุล" หนึ่งในวาทยากรชื่อดังรุ่นใหญ่ของไทย ซึ่งอ.สมเถา ได้แสดงทัศนะคติถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า
"คือผมอายุก็มากกว่าคุณบัณฑิตนะ แต่ผมไม่เคยเห็นสักทีที่ว่าการที่ศิลปินอันยิ่งใหญ่จะออกซีดีทั้งทีจะต้องให้คนเขาเปิดมาอ่านข้างใน ผมว่ามันเป็นเรื่องประหลาดที่สุด และมันก็เป็นปัญหาที่ไม่ทางที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในประเทศที่คุ้นเคยกับเพลงคลาสสิก"
"เพราะส่วนใหญ่เขาจะบอกไว้ให้เห็นเลย ว่าวงอะไร ใครคอนดักต์เพลงไหน อันนี้ผมว่ามันประหลาดมากที่เขาพูดอย่างนั้นว่าประเทศนอกเขาก็ทำกัน ซึ่งผมเชื่อว่าเรื่องมันจะไม่เป็นเรื่องเลยถ้าเขาบอกไว้ตั้งแต่ต้น แล้วยิ่งพอมาตอบแบบนี้มันเหมือนว่าดูถูกคนฟังคนดู คือศิลปินทุกคนน่ะเรื่องสำคัญอันหนึ่งคือต้องไม่ดูถูกคนดูคนฟัง"
เผยเป็นเรื่องที่ดีที่อีกฝ่ายพยายามทำให้เพลงคลาสสิกเป็นที่ยอมรับและเข้าถึงได้ง่าย เพียงแต่ว่า..."เพียงแต่ผมว่าเอ่อ ศีลธรรมการโฆษณามันเพี้ยนนิดหน่อยเท่านั้นเอง ถ้าเป็นบ้านเรามันเป็นไปได้เพราะว่าเราไม่มีอะไรที่ชัดเจนกับตรงนี้ คล้ายๆ กับมันยังไม่เป็นที่เข้าใจกัน ใครก็ทำอะไรก็ได้"
"แต่ในประเทศที่เขาผลิตซีดีเพลงคลาสสิกขายกันเยอะๆ เขาจะเข้าใจในตรงนี้นะ ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า คุณบัณฑิตเป็นตัวอย่างที่เผอิญทำให้เห็นชัดว่ามันเป็นปัญหา แต่เราจะโทษเขาไม่ได้ จะบอกว่าเขาผิดไม่ได้ เขาอาจจะซื้อมาอย่างถูกต้อง เขาก็ระบุจริงแต่มันอาจตัวเล็ก"
"ไม่ได้บอกว่าใครผิดนะ เพียงแต่ว่าหลักการมันเพี้ยนๆ ไปหน่อย แล้วเขาอ้างว่าไม่เจตนาเลยที่จะหลอกลวง แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่สามารถเข้าถึงได้มันก็จะให้หมายความว่าอย่างไรล่ะ"
ส่วนกรณีที่มีการมองกันว่าการออกมาวิพากษ์ของ ทฤษฎี ณ พัทลุง นั้น เหมือนจะเป็นการจับผิดอีกฝ่ายที่มีอาชีพทางสายเดียวกัน เรื่องนี้อ.สมเถามองว่า..."ถ้าจะมองว่าแข่งกัน คือทางคุณทฤษฎีนั้นเขามี CAMI เป็นเอเย่นนะ เขาเป็นคอนดักต์จริงๆ แล้วก็ได้รับการยอมรับจากหลายๆ ประเทศจริงๆ"
"เอาเป็นว่าเราลองพิมพ์คำว่า ทฤษฎี ลงในกูเกิ้ลส์ดูก็ได้ ผมว่าที่ไม่ใช่เว็บภาษาไทยนะ ชื่อของคุณทฤษฎีน่าจะเป็นที่รู้จักมากกว่าบัณฑิตอีก"
ที่มา: manager.co.th