ดีใจได้แล้วสำหรับใครที่ยังฝังใจว่าโอเพนออฟฟิศยังทำงานกับภาษาไทยได้ไม่ดี หรือผิดหวังที่การย้ายไฟล์ใช้งานไปมาระหว่างไมโครซอฟท์ออฟฟิศกับโอเพนออฟฟิศยังทำงานไม่สมบูรณ์ดั่งใจแม้จะสามารถบันทึกและแก้ไขไปมาข้ามระบบได้แล้ว เพราะล่าสุด ซิป้าเป็นแม่งานระดมสมองจากนานาองค์กรสัญชาติไทยเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของโอเพนออฟฟิศเวอร์ชันใหม่ พบ 5 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขบนความหวังว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพจนคนไทยหันมาใช้งานโอเพ่นออฟฟิศกันมากขึ้น
ซิป้าบอกว่า การแก้ไขลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 2-3 ปีก่อน สำหรับครั้งนี้เป็นการแก้ไขโอเพ่นออฟฟิศที่เปลี่ยนเวอร์ชันจาก 2.4 มาเป็น 3.0 บนจุดเปลี่ยนคือความสามารถที่เพิ่มขึ้น และหน้าตาที่สวยงามขึ้นกว่าเดิม แต่ความผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้งานภาษาไทยก็ยังคงมีอยู่
สิ่งที่ซิป้าทำคือการรวบรวมความเห็นบริษัทองค์กรทั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนที่ใช้งานโอเพ่นออฟฟิศมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นคนที่ให้ข้อมูลได้ดีที่สุดว่าข้อผิดพลาดใดพบบ่อยหรือข้อผิดพลาดจุดใดที่มีความสำคัญมากควรทำการแก้ไขก่อน ซิป้าจึงเป็นเจ้าภาพระดมสมองเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยมีเนคเทค, การไฟฟ้าฝ่ายผลิต, การเคหะแห่งชาติ, บริษัทสยามวาลา, บริษัทเอสแอนด์พี, บริษัทไอทีเบเคอรี่ และบริษัทโอเพนซอร์สดิเวลอปเมนต์ เข้าประชุมร่วมกัน
หลังจากตัวแทนทั้งหมดร่วมพูดคุยพร้อมยกปัญหาที่เคยพบเจอและยังคงพบอยู่ ซิป้าระบุว่าข้อผิดพลาดอันดับหนึ่งของโอเพ่นออฟฟิศคือ การแปลงข้อมูลวันที่มีข้อผิดพลาดในส่วนของปี พ.ศ. ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดในการใช้งานโปรแกรม Calc ของโอเพนออฟฟิศ โดยหากผู้ใช้บันทึกไฟล์เพื่อไปเปิดในโปรแกรม excel ผลที่ได้คือในส่วนของการแสดงวันที่ในส่วนของปี พ.ศ. ที่ไม่ถูกต้อง กลุ่มมองว่าควรทำการแก้ไขเรื่องดังกล่าวโดยด่วน
ข้อผิดพลาดที่ต้องเร่งแก้ไขอันดับสองคือข้อผิดพลาดจากการใช้โปรแกรม writer ของโอเพนออฟฟิศ โดยหากผู้ใช้คลิกเมาส์เปิดเอกสารที่ทำมาจากไมโครซอฟท์ออฟฟิศ 2003 หรือออฟฟิศ 2003 ในโอเพนออฟฟิศ พบว่าชนิดของตัวอักษรภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงรวมไปถึงขนาดตัวอักษรก็เปลี่ยนแปลง ทำให้เอกสารที่เปิดขึ้นมาต้องทำการแก้ไขเรื่องของฟอนต์และขนาดของตัวอักษร โดยความผิดพลาดนี้ไม่เกิดขึ้นกับเนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษ
ข้อผิดพลาดอันดับ 3 คือฟังก์ชัน Auto Complete ทำให้ตัวอักษรไทยบางตัวแสดงผลซ้อนกัน เช่นหากผู้ใช้รายใดเลือกใช้ฟังก์ชัน Auto Complete ในโอเพ่นออฟฟิศ ตัวอักษรภาษาไทยบางตัวจะเกิดการแสดงผลของตัวอักษรซ้อนกัน และต้องทำการแก้ไขโดยการลบแล้วพิมพ์ไหม่ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้งาน ในขณะที่หากใช้ในเนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษไม่พบข้อผิดพลาดนี้
ข้อผิดพลาดอันดับที่ 4 คือเส้นใต้ภาษาไทยหนาเกินไป ซึ่งในการใช้งานฟังก์ชันเลือกขีดเส้นใต้ข้อความภาษาไทยพบว่ามีขนาดของเส้นใหญ่ผิดปกติ ต่างจากการใช้งานในเนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เอกสารมองดูแล้วไม่สวยงามจึงควรทำการแก้ไขเรื่องนี้
ข้อผิดพลาดอันดับ 5 คือการแสดงผลของข้อมูลผิดพลาดใน input line ของโปรแกรม cals บนวินโดวส์วิสต้า โดยหากผู้ใช้นำเอาโปรแกรม cals ไปทำงานบนวินโดวส์วิสต้า จะพบว่าในส่วนของ input line มีการแสดงผลภาษาไทยผิดพลาด โดยมีตัวอักษรซ้อนกันทำให้อ่านลำบาก
ซิป้าไม่ได้ให้ข้อมูลว่าการแก้ไขเหล่านี้จะแล้วเสร็จเมื่อใด แต่ย้ำว่าการแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านี้คือหนึ่งในความตั้งใจที่ต้องการให้คนไทยหันมาใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สกันให้มากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจดีเพื่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
ที่มา: manager.co.th