ไอบีเอ็มเผยผลสำรวจกลุ่มธุรกิจแบงกิ้ง พบมุมมองผู้บริหารผิดจากความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า พร้อมแนะธุรกิจธนาคารต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน สู่การให้บริการที่มีความถนัดและมีประสิทธิภาพจะเป็นผลดีกว่าการมีบริการที่หลากหลาย เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในยุคปัจจุบัน
ปัจจุบันกระแสความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจนับเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวงสำหรับภาคธุรกิจ การแสวงหาความรู้ ความชำนาญ และวิทยาการการเงินใหม่ๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์การเงินโลกเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ซูซาน แอล ดันแคน Financial Markets Industry Leader IBM Institute for Business Value กล่าวถึงมุมมองด้านความคิดเห็นที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการเงินในประเด็นของการปรับตัวของธุรกิจแบงกิ้งอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยนำเสนอผลการสำรวจที่มุ่งไปที่คู่ค้าและคู่แข่ง
ผู้บริหารไอบีเอ็มกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบันโดย 85% มีสาเหตุหลักมาจากความไม่โปร่งใส่ ไม่ชัดเจนในการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น ให้ความหวังว่าธุรกิจนี้ดีอย่างไร ส่งผลให้ 50% ของกำไรของธุรกิจธนาคารมาจากการเก็งกำไร ขณะที่แบงก์ไทยมีข้อดีในส่วนนี้ตรงที่ผลกำไรของธุรกิจมาจากการคาดการณ์แค่ 20% ส่วนอีก 80% เป็นกำไรที่แบงก์สร้างจากความแข็งแกร่งของแบงก์เอง
ประเด็นหลักที่ธุรกิจแบงกิ้งควรให้ความสำคัญคือ คอนเซอร์เวทีฟ แต่ขณะเดียวกันธุรกิจธนาคารก็ควรมีการตัดสินใจที่รอบคอบในการลงทุน ไม่ลงทุนหรือขยายกิจการไปตามน้ำ หรือตามคู่แข่ง ซึ่งจากผลการสำรวจธุรกิจแบงกิ้งทั่วโลกพบว่าธนาคารที่มีโปรดักต์แปลกๆหรือที่เรียกว่าเป็นแฟนซี่มักจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากกว่าแบงก์ที่มีโปรดักต์ที่เรียบง่าย
จากผลการสำรวจพบว่าผู้ที่อยู่ในธุรกิจแบงกิ้ง 80% มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวลูกค้าผิดว่ามีความต้องการอย่างไรหากต้องจ่ายเงินเพื่อแลกกับบริการที่ควรได้
"จากการสำรวจพบว่า 60% ของแบงก์ที่ทำการสำรวจคิดว่าลูกค้าชอบให้แบงก์มีโปรดักต์ที่ซับซ้อน หรูหรา หรือเป็นสีสันและการมีบริการที่ครบวงจรที่วันสตอปเซอร์วิส แต่จากการสอบถามความต้องการของลูกค้าที่แท้จริงพบว่าลูกค้าอยากให้แบงก์มีการบริการที่ดีให้คำแนะนำที่เป็นความจริง และความต้องการความสะดวกสบายไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอนเป็น2ความต้องการอันดับแรกที่ลูกค้าอยากได้จากแบงก์”
ซูซาน กล่าวว่า จากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้เกิดเป็นแนวคิดใหม่หรือรูปแบบบิสิเนสโมเดลของธุรกิจแบงกิ้งที่ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดคือ1.แบงก์ต้องปรับตัวสู่การทำธุรกิจในแบบที่ตนถนัด ไม่ทำทุกอย่างหรือมีทุกบริการในลักษณะวันสตอปเซอร์วิสเหมือนเช่นที่ผ่านมา ตลอดจนโฟกัสในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ โดยชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าที่เปลี่ยนไปและไม่คิดว่าแบงก์จะมีความสามารถให้บริการทุกอย่างได้ดีไปหมดได้ และจะหันไปหาผู้ที่ให้บริการที่ดีที่สุดในแต่ละบริการ ขณะที่แบงก์ที่จะอยู่รอดได้ต่อไปในอนาคตจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร มีการบริหารความเสี่ยงที่ดีและให้บริการในบริการที่ตนถนัดมากกว่ามีการบริหารที่หลากหลายเกินการดูแลได้ทั่วถึง
ที่มา: manager.co.th