คอลัมน์ Cilckworld
เดอะวอลล์สตรีต เจอร์นัล เปิดเผยรายงานของ "ไอดีซี" ว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อตลาดมือถือในไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมาที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอ คาดว่าภาพรวมในปีนี้ยอดจำหน่ายมือถือ ทั่วโลกจะมีปริมาณลดลง 8.3% และอาจเป็นปีแรกที่เติบโตลดลง นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา
ขณะที่ยอดขายสมาร์ทโฟนเติบโตเพียง 3.4% จากเดิมที่คาดว่าจะโตถึง 8.7%
"ไรอัร รีธ" นักวิเคราะห์วิจัยอาวุโสจากไอดีซี กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ บวกกับข่าวเศรษฐกิจแง่ลบ ที่ออกมาเป็นระยะๆ ล้วนเป็นตัวบ่งชี้ว่าปีนี้สถานการณ์น่าจะแย่กว่าที่คาดไว้ แต่ก็หวังว่าตลาดจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในครึ่งปีแรกของปี 2553
สาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง รวมถึงผู้ผลิตแฮนด์เซ็ตและบริษัทต่างๆ ลดการสต๊อกสินค้าในร้านส่งผลให้ปริมาณสินค้าที่ออกสู่ตลาดลดน้อยลง แม้ความต้องการจะไม่ได้ตกลงอย่างรวดเร็วก็ตาม
"ไอดีซี" เชื่อด้วยว่า ภูมิภาคที่ตลาดอิ่มตัว เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตกกำลังเผชิญภาวะความยากลำบากมากขึ้น ขณะเดียวกันโอเปอเรเตอร์ต่างต้องดิ้นรนเพื่อหากลยุทธ์ทางการตลาด แบบผสมผสานที่เหมาะสม หรือการให้เงินอุดหนุนโทรศัพท์ค่ายต่างๆ เพื่อกระตุ้น คอนซูเมอร์ให้หันมาสนใจสินค้าของตนในภาวะที่ลูกค้าต่างรัดเข็มขัด
ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนที่เคยมีอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลักอาจเติบโตลดลง 0.3% โดยอินเดียเป็นประเทศที่มีอนาคตสดใสมากที่สุดในกลุ่มนี้ ขณะที่รัสเซียปัจจุบันกำลังประสบปัญหาการใช้จ่ายของ ผู้บริโภคที่ลดลงอย่างรวดเร็ว
"ไอดีซี" ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่เซ็กเมนต์สมาร์ทโฟนมากขึ้น แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากจากพิษเศรษฐกิจ เพราะอุปกรณ์ที่มีราคาสูงอาจทำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการซื้อได้
"เป็นที่น่าสังเกตว่า เซ็กเมนต์สมาร์ทโฟน จะยังมีการเติบโตเป็นบวก ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมคาดว่าจะลดลง 8.3% อุปกรณ์ในเซ็กเมนต์นี้มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกในอนาคต เมื่อตลาดดีดตัวกลับมา"
ด้าน "เอเอฟพี" รายงานว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกในไตรมาส 4 ปีที่แล้วเติบโตในอัตราที่ลดลง เนื่องจากวิกฤตการเงินส่งผลกระทบต่อความต้องการในตลาด โดย "การ์ดเนอร์" บริษัทวิจัยจากสหรัฐประเมินว่า ไตรมาส 4 ปี 2008 ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกอยู่ที่ 38.14 ล้านเครื่อง เพิ่ม 3.7% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา นับเป็นการเติบโตในอัตราต่ำสุด นับตั้งแต่การ์ดเนอร์สำรวจตลาดสมาร์ทโฟนในปี 2546
แต่หากรวมยอดขายสมาร์ทโฟนทั้งปี 2551 พบว่ามีจำนวน 139.3 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปี 2550
"โรเบิร์ตตา คอซซา" ผู้อำนวยการวิจัยจากการ์ดเนอร์ กล่าวว่า ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ตลาดสมาร์ทโฟนค่อนข้างแข็งแกร่ง เพราะมีสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด แต่หลังจากนั้นสภาพเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ลง และการไม่มีสินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่น่าดึงดูด ทำให้กระทบยอดขายในไตรมาส 4
"โนเกีย" ยังคงครองความเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟน แต่ก็เป็นเพียงแบรนด์เดียวที่ยอดขายตกลง 16.8% ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ขณะที่คู่แข่งรายหลักกลับมียอดขายเพิ่มขึ้น หากรวมทั้งปีที่ผ่านมา โนเกียมียอดขายสมาร์ทโฟน 60.9 ล้านเครื่อง มีส่วนแบ่งตลาด 43.7% ลดลงจาก 49.4% ในปีที่แล้ว
ปัจจัยหลักมาจากโนเกียเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในมือถือกลุ่มไฮเอนด์ และสภาพตลาดในสหรัฐที่ได้ผลกระทบจากวิกฤต
ค่าย "รีเสิรช อิน โมชั่น" ผู้ผลิต "แบล็กเบอร์รี่" มียอดขายตามมาเป็น อันดับ 2 ที่ 23.14 ล้านเครื่อง มีส่วนแบ่งการตลาด 16.6% โดยเฉพาะการเปิดตัวโมเดลใหม่ 2 รุ่นในไตรมาสสุดท้ายช่วยผลักดันยอดขายให้สูงขึ้น ส่วนแอปเปิล ที่นำ "ไอโฟน" บุกตลาดอย่างหนัก คว้าที่ 3 ของโลกด้วยยอดขาย 11.42 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเปิดตัวเมื่อปี 2549 ส่งผลให้ไอโฟนครองส่วนแบ่ง 8.2% ถือเป็นผู้เล่นในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในปีที่แล้ว ด้วยสถิติ 245%
"การ์ดเนอร์" ให้เหตุผลว่า เพราะความพึงพอใจของผู้ใช้ เรื่องความสามารถของบรอดแบรนด์ที่รวดเร็วมากขึ้น, GPS, และความสามารถในการเข้าถึง AppStore ทำให้คนเลือกซื้อไอโฟน รวมทั้งได้ประโยชน์จากการนำไอโฟน 3 จี บุกตลาดใหม่ๆ เช่น ญี่ปุ่นและรัสเซียด้วย
ขณะที่แบรนด์อื่นอย่างเอชทีซีและซัมซุงล้วนมีการเติบโตในตลาดสมาร์ทโฟนเช่นกัน แต่ยังไม่สูงและรวดเร็วเท่าแอปเปิล
"หากมองภาพรวมตลาดในปี 2551 ผู้ผลิตและผู้ให้บริการต่างโฟกัสไปที่การเพิ่มจำนวนสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนส่งผลให้เซ็กเมนต์นี้ยังแข็งแรงอยู่
ทั้งซัมซุง แบล็กเบอร์รี่ เอชทีซี และ แอปเปิลต่างมียอดขายและส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น เพราะเสนออุปกรณ์ที่กระตุ้นความสนใจ สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าและหน้าจอระบบสัมผัส"
อย่างไรก็ตามการ์ดเนอร์ยังประเมินว่า แม้ภาพรวมของตลาดมือถือในปีนี้จะชะลอตัวลงจากสภาพเศรษฐกิจ แต่สำหรับตลาดสมาร์ทโฟนแล้ว คาดว่ายังเป็นตลาดที่เติบโตอยู่
ที่มา: matichon.co.th