คอลัมน์ Click World
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกอินเทอร์เน็ตกับกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์กำลังหลอม รวมกันอย่างแยกไม่ออก และเริ่มเข้ามาผสมผสานวิถีชีวิตของผู้ใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่วงการไอทีโลกที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดเสมอ
ล่าสุด เอเอฟพีรายงานว่า กูเกิลประกาศร่วมมือกับบริษัท ไดเร็คทีวี (Direc TV) ผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมรายใหญ่ในสหรัฐ เพื่อขายโฆษณาเข้าสู่ ช่องเคเบิลทีวีในสังกัดของไดเร็คทีวี โดยกูเกิลจะใช้เครื่องมือโฆษณาของกูเกิล ภายใต้ชื่อ "กูเกิลทีวีแอดส์" (Google TV Ads) เพื่อขายโฆษณาใน 11 ช่อง อาทิ Bloomberg, Fox Business, TV Guide, Fuel, G4, Ovation เป็นต้น โดยลูกค้า ของกูเกิลทีวีแอดส์จะเป็นผู้อัพโหลดวิดีโอโฆษณาไปยังเว็บไซต์ของกูเกิล และสามารถตัดสินใจได้ว่า ต้องการจ่าย ค่าบริการเท่าใด
โดยดีลระหว่างกูเกิลกับไดเร็คทีวีนั้น ถือเป็นบิ๊กมูฟครั้งที่ 2 ของกูเกิล ในการ จับมือกับผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม หลังจากปี 2007 กูเกิลตกลงร่วมมือกับบริษัท Dish Network ในการพัฒนา "กูเกิลทีวี"
ประโยชน์ที่กูเกิลจะได้รับจากการจับมือกับไดเร็คทีวี คือการขยายอาณาจักรธุรกิจโฆษณาของกูเกิลให้กว้างขวางขึ้น นอกเหนือจากปัจจุบันที่สัดส่วนรายได้ของ กูเกิลกว่า 96% มาจากช่องทางอินเทอร์เน็ต เพราะไดเร็คทีวีถือเป็นผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ และจะช่วยให้กูเกิลสามารถเข้าถึงผู้รับชมทีวีดาวเทียมจำนวนกว่า 30 ล้านครัวเรือนได้ ขณะที่ ไดเร็คทีวีได้รับประโยชน์จากผู้โฆษณา รายใหม่ ๆ ที่ไม่เคยลงโฆษณาทางเคเบิลทีวีมาก่อนก็จะให้ความสนใจมากขึ้น
บริการกูเกิลทีวีแอดส์ เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2007 เป็นลักษณะการซื้อโฆษณาแบบประมูล โดยนักโฆษณาจะต้องเลือกรายการที่วีที่เหมาะสมกับสินค้า หรือโฆษณาที่ตนต้องการแล้วประมูลพื้นที่ โดยกูเกิลระบุว่า การบริการนี้ถือเป็นการปรับปรุงโมเดลการซื้อโฆษณาแบบดั้งเดิมให้ดีขึ้น เพราะสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายตามข้อมูลลักษณะประชากรศาสตร์ได้ และยังสามารถวัดผลได้ว่า ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์ หรือเข้าถึงโฆษณาอย่างไร
แต่กระนั้น หลายฝ่ายมองว่า กูเกิลทีวีแอดส์ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่ "กูเกิลทีวี" จะออกสู่ตลาดอย่าง เป็นทางการ
"กูเกิลทีวี" เป็นแพลตฟอร์มทีวี เชื่อมต่อกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล สามารถเล่นแอปพลิเคชั่นได้ ท่องอินเทอร์เน็ต รับชมวิดีโอ หรือหนัง ที่ทำงานอยู่บนเว็บได้ รวมถึงยังสามารถเสิร์ชหาโปรแกรมรายการที่ต้องการผ่านทางหน้าจออินเตอร์เฟสของกูเกิลด้วย โดยกูเกิลทีวีได้รับความร่วมมือจากยักษ์ใหญ่โลกเทคโนโลยี ประกอบด้วยบริษัท โซนี่ อินเทล และลอจิเทค
ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงกูเกิลทีวี ผ่านทีวีที่สามารถเข้าเว็บได้ ซึ่งพัฒนาโดยโซนี่ โดยผ่านเครื่องเซตท็อปบอกซ์ที่จะนำเว็บคอนเทนต์ต่าง ๆ เชื่อมเข้าสู่ทีวี ซึ่งทั้งโซนี่และลอจิเทคต่างคาดว่าบริษัท จะสามารถจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในสหรัฐได้ภายในปลายปีนี้
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันค่าย "แอปเปิล" มีข่าวเกี่ยวกับแอปเปิลทีวี (Apple TV) ออกสู่สาธารณะเช่นกัน โดยเว็บ Engadget อ้างถึงแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ว่า แอปเปิลทีวีมีแผนจะกลับมาใช้ชื่อเก่า คือ iTV ที่ถูกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2006 โดยคุณสมบัติการทำงานของแอปเปิลทีวี รุ่นใหม่นี้ คือสามารถป้อนข้อมูลดิจิทัล คอนเทนต์ที่หลากหลายได้ แสดงผลวิดีโอ ยูทูบ และภาพจาก iPhoto และ Flikr รองรับแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ โดยใช้ระบบปฏิบัติการแบบเดียวกับไอโฟน 4 และสามารถสตรีมวิดีโอจาก iTunes ได้ สนนราคาเพียง 99 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งคาดว่า iTV จะออกสู่สายตาชาวโลกในปีหน้า
โดยเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา "ทิม คุก" ซีโอโอจากแอปเปิล กล่าวถึงธุรกิจแอปเปิลทีวีว่า เป็นเสมือน "งานอดิเรก" ของบริษัท เพราะหากดูธุรกิจอื่น ๆ ที่แอปเปิลกำลังทำตลาดอยู่นั้น ล้วนแต่อยู่ในตลาดที่มีขนาดใหญ่มหาศาล เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดแอปเปิลทีวีที่อยู่ในตลาดที่มีขนาดเล็กมาก
แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า การเติบโตของตลาดอินเทอร์เน็ตทีวี ในแต่ละปีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การรักษาตลาดไว้ กลายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้แอปเปิลสามารถต่อกรกับกูเกิลที่กำลังปลุกปั้นกูเกิลทีวีรุ่นใหม่ เพราะหากแอปเปิลทีวี หรือกูเกิลทีวี สามารถดึงดูด ผู้ชมจนประสบความสำเร็จก่อน จะถือเป็นการเปิดฉากการแข่งขันหน้าใหม่ ของสองบริษัทคู่แข่งเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม กูเกิลและแอปเปิลไม่ใช่ ผู้เล่นรายแรก ๆ ที่พยายามหลอมรวมทีวีกับอินเทอร์เน็ตเข้าไว้ด้วยกัน เพราะปัจจุบัน ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ต่างพร้อมที่จะนำเสนอทีวีอินเทอร์เน็ต มากขึ้น หรือบางรายอาจจะผลิตในรูปแบบเซตท็อปบอกซ์ออกสู่ตลาด อาทิ ยาฮู กระโดดเข้าสู่ตลาดทีวีอินเทอร์เน็ต เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับโซนี่ ซัมซุง VIZIO และแอลจี พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานเชื่อมต่อกับทีวีกับเว็บไซต์โดยตรงได้ เป็นต้น
และไม่แน่ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ทีวีจะไม่เป็นเพียงหน้าจอธรรมดา ๆ อีกต่อไป แต่จะสามารถปฏิสัมพันธ์ สร้างประสบการณ์ใช้งานใหม่ ๆ กับ คอนซูเมอร์ได้ และหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะเป็นการพลิกโฉมโมเดล ธุรกิจทีวีในศตวรรษที่ 21 อีกครั้ง
ที่มา: prachachat.net