เปิดยุทธศาสตร์ "ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ" ผู้บุกเบิกโมเดลโมบายแอปพลิเคชันในประเทศไทย ดาวรุ่งดวงนี้มุ่งเจาะการตลาดช่องทางใหม่ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ พร้อมกำเนิดแพลตฟอร์มใหม่สร้างธุรกิจกว่าร้อยล้านผ่านโฆษณาบนสมาร์ทโฟน
ดีกรีการันตีของทู ทรี เปอร์สเปกทีฟคือการส่ง 2 แพลตฟอร์มเข้าประกวดในโครงการประกวดผลงานซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ (Thailand ICT Award 2010) เพื่อขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
มุ่งกระแสเฟสบุ๊ก
ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเริ่มต้นมองเห็นถึงเทรนด์ในการทำตลาดผ่านช่องทางโมบาย แพลตฟอร์ม รวมไปถึงมีทีมงานเชี่ยวชาญในการพัฒนาแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ทำให้เชื่อว่าจะสามารถจับกระแสเครือช่ายสังคม มาเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ผ่านโมเดลธุรกิจโฆษณาบนแอปฯ ในประเทศไทย
"ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ เกิดขึ้นจากแนวคิดในการทำธุรกิจเกี่ยวกับเว็บ 2.0 รวมไปถึงการใช้งาน 3G ซึ่งถือเป็นที่มาของชื่อบริษัท ที่ต้องการสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้มากกว่า 500,000 ราย ไม่นับรวมเครื่องหิ้วในตลาด"
จากยอดการใช้งานสมาร์ทโฟนดังกล่าว ทำให้เชื่อว่าช่องทางการทำตลาดผ่านโมบายแอปฯ ถือเป็นช่องทางใหม่ที่มีเทรนด์เริ่มขึ้นมาจากต่างประเทศ โดยกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆกับเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง เฟสบุ๊กและทวิตเตอร์ เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำหรับการเข้าถึงบริการนั้นๆ
การสำรวจแนวโน้มการเติบโตของโฆษณาบนอุปกรณ์เคลื่อนที่และการตลาดทั่วโลก พบว่าจากมูลค่าเดิม 530.2 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2008 จะขยายตัวขึ้นเป็น 38,000 ล้านเหรียญในปี 2015 ถือเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก ซึ่งในจุดนี้ต้องมองกลับมาว่าในประเทศไทย พร้อมที่จะใช้ช่องทางที่ในการโฆษณาและทำการตลาดหรือยัง
"ขณะที่มูลค่าของธุรกิจการตลาดออนไลน์ที่ทางไอซีทีทำการสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าในไทยมีการใช้งบกับส่วนนี้เพียง 1% เท่านั้น จากงบในการโฆษณาราวๆ 2-3 หมื่นล้านบาท หรืออยู่ที่ประมาณ 2-3 ร้อยล้านเท่านั้น ขณะที่ปีนี้ในช่วงต้นปีมีการใช้งบส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2-3% ซึ่งส่วนตัวหวังว่าในสิ้นปีนี้จะขึ้นมาอยู่ราว 5% หรือ 1 พันล้านบาท"
ธุรกิจหลักของ ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ คือการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับแอปพลิเคชันขึ้นมาเอง รวมไปถึงรับจ้างพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับองค์กรต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวโน้มของการสร้างรายได้จากแอปพลิเคชัน (App Economy) ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ยังมีในส่วนของการพัฒนาเว็บไซต์ให้กับบริษัทเองชน
ธนพงศ์พรรณ ยังมองว่า เนื่องจากธุรกิจเกี่ยวกับโมบาย แอปพลิเคชัน ต้องใช้ทักษะ และวิธีการเฉพาะในการทำงาน ทำให้เชื่อว่าในอนาคตจะมีคู่แข่งในตลาดมากขึ้น ดังนั้นการเริ่มต้นที่แม้ว่าจะไม่ถึง 2 ปี แต่ก็เชื่อว่าการมีพาร์ทเนอร์และคอนเนคชัน รวมถึงโอกาสทางธุรกิจจากต่างประเทศจะช่วยให้บริษัทเติบโตได้
ปัจจุบัน ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ ได้ร่วมงานกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมส่งเสริมการส่งออก สวนสยาม ในการให้คำปรึกษาเรื่องช่องทางการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไปยังผู้บริโภคให้หลากหลายขึ้น ซึ่งจากการร่วมมือกับทาง ททท. ทำให้ยอดแฟนเพจในเฟสบุ๊กเพิ่มขึ้นจากเดิม 40 เท่า ขณะที่ทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า ในระยะเวลา 10 เดือน
"สัดส่วนรายได้ของบริษัทในขณะนี้ส่วนใหญ่ 70% มาจากการรับงานโปรเจกต์ต่างๆ ขณะที่อีก 30% เป็นรายได้จากแพลตฟอร์มของ Wikalenda และ Shoppening ที่บริษัทกำลังเข้าไปร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ เพื่อที่จะให้แพลตฟอร์มดังกล่าวติดตลาดขึ้นมา"
เลี้ยงตัวด้วยโฆษณา
ในปีหน้า ธนพงศ์พรรณมองว่าหลังจากแพลตฟอร์มทั้ง 2 ตัวที่สร้างขึ้นมา สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองจากการลงขายโฆษณา จะทำให้สัดส่วนรายได้ของทู ทรี เปอร์สเปกทีฟส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก Search Ad Marketing ที่จะเกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม Wikalenda และ Shoppening ถึง 70-80% ส่วนที่เหลืออยู่ที่การรับทำโปรเจกต์ต่างๆ
จุดต่างสำคัญที่ธนธงศ์พรรณคิดว่าจะทำให้ทั้ง 2 แพลตฟอร์ม มีบริษัทเข้ามาโฆษณาจำนวนมาก เกิดจากข้อมูลผู้บริโภคที่เข้ามาใช้งานผ่านโมบายแอปฯ ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลการค้นหา สถานที่ เวลาใช้งาน ความสนใจในข้อมูลของผู้ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้บริโภคที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นหลัก
"ผู้ที่เข้ามาลงโฆษณาสามารถเลือกคีย์เวิร์ด ช่วงเวลา หรือจากสถานที่ใกล้เคียง เพื่อที่จะได้แสดงผลให้แก่กลุ่มผู้บริโภคที่ตรงเป้าหมายอย่างแท้จริง จากการเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลตั้งแต่เปิดใช้งาน"
โดยปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้งาน Wikalenda อยู่ที่ราวๆ 2-3 พันคนต่อวัน ส่วน Shoppening อยู่ที่หลักพันคน ซึ่งเป็นการนับจาก UIP ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีคนเข้ามาใช้งานอยู่ในหลักหมื่นคน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้ใช้งานโมบายแอปฯ ผ่านแบล็กเบอรี ไอโฟน ไอแพดเป็นหลัก ส่วนในอนาคตจะมีบนแอนดรอยด์ด้วย
Wikalenda.com เกิดขึ้นจากการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลของการงานอีเวนต์และการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการในรูปแบบโมบายแอปฯ
ขณะที่ Shoppening เป็นผลงานที่เกิดจากแรงบันดาลใจในการทำโปรโมชันชอปปิ้ง ผ่านคูปองบนมือถือ เพื่อช่วยให้นักช้อปสามารถประหยัดได้ด้วยการรับส่วนลด สิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อแชร์ให้กับเพื่อนในเครือข่ายสังคม ผ่านสมาร์ทโฟน
การใช้งาน Shoppening จะถูกผนวกเข้าไปกับระบบ GPS เพื่อระบุตำแหน่งของผู้ใช้ เพื่อที่จะแสดงผลส่วนลดพิเศษจาก ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นไม่ว่าไปในสถานที่ใด ก็สามารถเข้าถึงส่วนลดได้ตลอดเวลา
โกอินเตอร์
นอกจากการบุกเบิกธุรกิจในประเทศแล้ว ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ ยังมองว่าสามารถนำแพลตฟอร์มดังกล่าว ไปทำตลาดในเอเชียแปซิฟิกได้ จากแนวคิดในการออกแบบแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างเป็นสากล
"ช่วงเดือนตุลาคม คาดว่าจะมีโอกาสนำผลงานไปแสดงในการประกวดระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ประเทศมาเลเซีย จากการเข้าประกวดในโครงการประกวดผลงานซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ ทำให้เป็นช่องทางในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้ง่ายขึ้น"
ส่วนแนวทางของธุรกิจในตอนนี้จะเน้นไปที่การทำบิสสิเนส พาร์ทเนอร์ ร่วมกับเอเจนซี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบันกำลังคุยกับเอเจนซีอยู่ 4 ราย เป็นในประเทศ 3 ราย และต่างประเทศ 1 ราย ตั้งเป้าไว้ว่าปีหน้าบริษัทจะมีรายได้ราว 400 ล้านบาท จากที่คาดว่าปีนี้จะปิดที่ 100 ล้าน
ผลงานที่โดดเด่นที่ผ่านมาของ ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ คือการให้คำปรึกษาในการพัฒนาหน้าแฟนเพจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
http://www.facebook.com/AmazingThailand ที่ปัจจุบันเป็นแฟนเฟจประเภทองค์กรท่องเที่ยวอันดับที่ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น
Company Related Link :
23Perspective
ที่มา: manager.co.th