นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และอินโดจีน ซิสโก้ “ซิสโก้” ประกาศแผนที่จะสร้าง “ระบบอินเทอร์คลาวด์” เครือข่ายคลาวด์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ใน 2 ปีข้างหน้า หวังรองรับการเกิดขึ้นของ “Internet of Everything” ผู้บริหารเผยอยู่ในระหว่างสร้างแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมโยงคลาวด์มากมายเพื่อให้เป็น “อินเทอร์คลาวด์” พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ โซลูชัน ให้ลูกค้า นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และอินโดจีน ซิสโก้ กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้งานระบบคลาวด์กำลังเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก โดยมีการประมาณการมูลค่าตลาดคลาวด์ทั่วโลกในแง่รายได้ด้านอินฟราสตรักเจอร์ ปี 2014 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านเหรียญ ในส่วนประเทศไทย สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) ประมาณการตลาดคลาวด์ไทยในปี 2014 ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2,800 ล้านบาท หรือเติบโตจากปี 2013 ประมาณ 25% โดยในส่วนซิสโก้เองเชื่อว่าจะมีการเติบโตในส่วนคลาวด์มากกว่า 50% โดยมองว่าตลาดรวมคลาวด์ของไทยยังขยายตัวได้อีกมาก
“ปัจจุบันคลาวด์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังขยายตัวได้อีกมาก คนใช้อีเมลลดลงแต่หันมาใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น บรอดแบรนด์ทำให้ชีวิตคนง่ายขึ้น”
ผู้บริหารซิสโก้ กล่าวว่า ด้วยความแพร่หลายของคลาวด์นี้เองจึงเป็นที่มาของแนวคิดในการใช้ประโยชน์ของคลาวด์ในแต่ละองค์กรที่สร้างขึ้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุดโดยการเชื่อมต่อ “อินเทอร์คลาวด์” หรือเครือข่ายคลาวด์ที่ประกอบด้วยระบบคลาวด์มากมาย เป็นการเชื่อมต่อกันของคลาวด์หลายๆ ระบบเข้าด้วยกัน
คอนเซ็ปต์ของอินเทอร์คลาวด์ จะเปรียบได้กับแต่ละสายการบินจะมีข้อมูลการบิน ข้อมูลลูกค้า การสะสมไมล์ของลูกค้าอยู่แล้ว โดยแต่ละสายการบินก็จะมีจุดแข็งของข้อมูลแต่ละส่วนที่ต่างกัน การนำเสนอแนวคิดอินเทอร์คลาวด์จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ได้อย่างมาก โดยการเชื่อมโยงจุดแข็งของแต่ละสายการบินเข้าด้วยกันกลายเป็น “star alliance airlines” ขึ้น ประโยชน์หลักๆของอินเทอร์คลาวด์ จึงอยู่ที่การลดต้นทุนเพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกันของแต่ละองค์กร เพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดของคลาวด์แต่ละระบบให้มากที่สุด
ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจหันมาใช้ระบบคลาวด์ภายในองค์กรไม่ว่าจะเป็นแบบไพรเวต แบบสาธารณะ และแบบไฮบริดเพิ่มมากขึ้น เพื่อหวังที่นำเสนอแอปพลิเคชัน และบริการทางด้านธุรกิจได้รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น โดยในวันนี้ซิสโก้ประกาศแผนที่จะสร้างระบบอินเทอร์คลาวด์ (Intercloud) หรือเครือข่ายคลาวด์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยร่วมมือกับคู่ค้าของซิสโก้เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของ Internet of Everything ด้วยระบบการรักษาความปลอดภัยที่ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับเวิร์กโหลดแอปพลิเคชัน
ระบบอินเทอร์คลาวด์นี้ใช้ API (Application Programming Interface ) ช่องทางซึ่งช่วยเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชันหนึ่งกับอีกแอปพลิเคชันหนึ่ง หรือเชื่อมเว็บไซต์หนึ่งกับเว็บไซต์อื่นๆ เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อินเทอร์คลาวด์ จะนำเสนอการให้บริการคลาวด์ในรูปแบบใหม่ระดับองค์กร สำหรับองค์กรธุรกิจ ผู้ให้บริการ และตัวแทนจำหน่าย
ซิสโก้ มีแผนที่จะลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 32,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจคลาวด์ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยรูปแบบธุรกิจจะมุ่งเน้นร่วมมือกับคู่ค้าเป็นหลัก จะช่วยเสริมความสามารถ และการลงทุนของคู่ค้า ในส่วนประเทศไทย ซิสโก้ จะมีการทีมงานเพื่อบุกเบิกอินเทอร์คลาวด์ในประเทศไทยโดยเฉพาะ
พันธมิตรคลาวด์ระดับโลกของซิสโก้ที่จะนำเสนอบริการร่วมในปัจจุบัน คือTelstra ผู้ให้บริการคมนาคมชั้นนำของออสเตรเลีย Allstream ผู้ให้บริการสื่อสารทางธุรกิจของแคนาดา Canopy บริษัทคลาวด์ของยุโรปในเครือ Atos บริษัท Ingram Micro ผู้ให้บริการคลาวด์และตัวแทนจำหน่ายเทคโนโลยี Logicalis Group ผู้ให้บริการไอทีและบริการ Managed Service ระดับโลก MicroStrategy ผู้จัดหาแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ระดับองค์กรสำหรับบิสซิเนสอินเทลลิเจนซ์ โมบายล์อินเทลลิเจนซ์ และเน็ตเวิร์กแอปพลิเคชัน OnX Managed Services ผู้จัดหาโซลูชันไอทีสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ระดับองค์กร SunGard Availability Services ผู้ให้บริการด้านความพร้อมใช้งานของข้อมูล และ Wipro บริษัทไอทีชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการเอาต์ซอร์ส และบริการให้คำปรึกษา ในส่วนของประเทศไทยอยู่ในระหว่างการเซ็นสัญญากับพันธมิตร 1 ราย
บริการคลาวด์ของซิสโก้ครอบคลุมบริการคลาวด์ทั้งในส่วนของ SaaS เช่น WebEx Meraki และ Cisco Cloud Web Security โดยบริการคลาวด์ที่โดดเด่น เช่น บริการโฮสต์สำหรับการทำงานร่วมกัน และ Cloud DVR รวมถึงเทคโนโลยีและบริการสำหรับการสร้างระบบคลาวด์สาธารณะ และระบบคลาวด์ภายในองค์กร เช่น Cisco Unified Computing System (Cisco UCS, โซลูชันโครงสร้างพื้นฐานแบบครบวงจร เช่น VCE Vblock Systems และ NetApp FlexPod และ Cisco Application Centric Infrastructure (ACI)
ในส่วนกลยุทธ์การทำตลาด ซิสโก้ กำลังขยายโครงการ Cisco Powered เพื่อให้ครอบคลุมบริการคลาวด์ของซิสโก้ โดยจะทำตลาดผ่านทางคู่ค้า และขายตรงให้แก่ลูกค้า คู่ค้าที่พัฒนาบริการ Cisco Powered จะสามารถนำเสนอบริการคลาวด์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยใช้เงินลงทุนน้อยลงสำหรับการพัฒนา ทำงานได้อย่างรวดเร็ว และมีขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น
นายวัตสัน กล่าวว่า ลูกค้า และคู่ค้าหันมาสนใจเทคโนโลยีของซิสโก้มากขึ้น เพื่อต้องการสร้างระบบไฮบริดคลาวด์ที่เปิดกว้าง และมีความปลอดภัยสูง ขณะเดียวกัน ก็ต้องการใช้คลาวด์ระดับองค์กรสำหรับลูกค้ารายสำคัญๆ ของพวกเขาในเวลาอันรวดเร็ว โดยเลี่ยงความเสี่ยงในการลงทุน
“ภายใต้ความร่วมมืออันแข็งแกร่งของซิสโก้กับคู่ค้า เราจะสามารถสร้างโลกที่ประกอบด้วยคลาวด์มากมายที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ลูกค้าของเราสามารถเลือกระบบคลาวด์ที่ปลอดภัย และเหมาะสำหรับเวิร์กโหลดแต่ละประเภท ควบคู่ไปกับการสร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่รวดเร็ว และการขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว”
ซิสโก้ มองว่า การเชื่อมต่อของผู้คน ข้อมูล กระบวนการ และสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันบนเครือข่าย Internet of Everything คาดว่าจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้มีมูลค่าสูงถึง 19 ล้านล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า Internet of Everything ทำให้เกิดความต้องการใหม่ๆ ต่อคลาวด์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยผู้ให้บริการไอทีมองว่าปัญหาท้าทายที่ลูกค้ากำลังเผชิญอยู่คือ โอกาสทางธุรกิจ และประเด็นสำคัญก็คือ ทำอย่างไรในการสร้างรายได้จากการให้บริการคลาวด์ และสร้างจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่งมากมายในตลาด
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาให้ซิสโก้ และคู่ค้าริเริ่มการพัฒนา “อินเทอร์คลาวด์” ที่ขยายขนาดได้อย่างยืดหยุ่น และปลอดภัย เพื่อนำเสนอบริการคลาวด์ในรูปแบบโมบายล์ สามารถรองรับวิดีโอความละเอียดสูง และรองรับการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นประสบการณ์การเชื่อมต่อที่เหนือชั้น ซิสโก้ และคู่ค้ามุ่งเน้นขยายขนาดของอินเทอร์คลาวด์ ด้วยการรวมระบบคลาวด์ต่างๆ เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งนำเสนอบริการคลาวด์ที่หลากหลายควบคู่กันไป “อินเทอร์คลาวด์” จะช่วยให้องค์กรธุรกิจ และผู้ให้บริการไอทีสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการจัดหาบริการแต่ละประเภทได้อย่างยืดหยุ่น โดยอยู่ในระหว่างการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับ Internet of Everything เชื่อมโยงคลาวด์ต่างๆ เพื่อให้เป็น “อินเทอร์คลาวด์” พร้อมนำเสนอโซลูชัน และบริการต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเวิร์กโหลดบนอินเทอร์คลาวด์
“จากข้อมูลสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Agency หรือEGA) เปิดเผยว่า ปีที่แล้ว ตลาดคลาวด์ในประเทศไทยมีมูลค่า 2.3 พันล้านบาท และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 25% เป็น 2.8 พันล้านบาทในปีนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้คลาวด์อย่างแพร่หลาย รัฐบาลควรจะใช้มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดให้องค์กรธุรกิจหันมาใช้ระบบคลาวด์อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจโทรคมนาคม วงการแพทย์ และธุรกิจค้าปลีก”
Company Related Link :
Cisco
ที่มา: manager.co.th