บริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ไฮเทคระดับโลกจับมือร่วมกันตั้งสมาคมผู้ประกอบการ “Internet of Things” เพื่อสร้างมาตรฐานให้อุปกรณ์หลายล้านเครื่องบนโลกสามารถเชื่อมต่อข้อมูลถึงกัน งานนี้ Samsung, Intel รวมถึง Dell ขานรับร่วมสมาคมที่คาดว่าจะสามารถสร้างมาตรฐานแรกให้แก่วงการบ้านอัจฉริยะ หรือสมาร์ทโฮมได้อย่างเป็นทางการ หลักการของ “The Internet of things (IoT)” คือ การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่สามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้ ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์นั้นมีความสามารถพิเศษที่อัจฉริยะกว่าเดิม ตัวอย่างสินค้าภายใต้แนวคิดนี้ ได้แก่ ตู้เย็นออนไลน์ที่เจ้าของเครื่องสามารถตรวจสอบสิ่งของในตู้ขณะอยู่ที่ร้านค้าผ่านสมาร์ทโฟน หรือระบบไฟที่ผู้ใช้สามารถสั่งเปิดได้จากนอกบ้าน
รายงานล่าสุดระบุว่า อินเทล (Intel), ซัมซุง (Samsung) และเดลล์ (Dell) ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบการ Internet of Things ขึ้นโดยใช้ชื่อว่า Open Interconnect Consortium (OIC) เป้าหมายการก่อตั้งสมาคมนี้คือ การร่างมาตรฐานสำหรับนานาคุณสมบัติเครื่องที่สามารถส่งข้อข้อมูลระหว่างกันโดยไม่ยุ่งยาก แม้อุปกรณ์นั้นจะใช้ระบบปฏิบัติการต่างกัน รวมถึงการใช้รูปแบบ และเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายคนละมาตรฐานกัน
เบื้องต้น สมาคม OIC คาดว่าจะสามารถแจ้งเกิดมาตรฐานแรกสู่อุตสาหกรรมได้ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้นักพัฒนาสามารถนำชุดคำสั่งมาตรฐานเปิด หรือ open-source code ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์สามารถรับส่งข้อมูลถึงกันได้อย่างเสรี ถือเป็นการปูทางให้สมาร์ทโฟน รีโมตคอนโทรล นาฬิกา และอุปกรณ์ไฮเทคสวมใส่ได้ เครื่องใช้ในบ้าน รวมถึงอุปกรณ์ติดเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหวทุกชนิด สามารถแจ้งเตือนข้อมูลให้ผู้ใช้รับทราบได้สะดวก และง่ายดาย
จุดประสงค์ของการก่อตั้งสมาคม OIC สะท้อนว่า มาตรฐานแรกของการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างอุปกรณ์กำลังจะแจ้งเกิด โดยมาตรฐานนี้จะครอบคลุมทั้งการเชื่อมต่อ การค้นหา การวิเคราะห์ตัวตนของอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงรูปแบบการรับข้อมูลทั้งในอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับผู้บริโภค และองค์กรธุรกิจ จุดนี้แกรี่ มาร์ตซ์ (Gary Martz) ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของอินเทลให้ความเห็นว่า OIC จะขยายความร่วมมือไปสู่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมผู้ผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมสินค้าสุขภาพ หรือเฮลธ์แคร์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตอุปกรณ์ที่ยังใช้เทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลต่างชนิดกัน
การสร้างมาตรฐานเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต่างชนิดกันนั้นมีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะเมื่อการสำรวจของไอดีซีพบว่า ราวปี 2020 โลกจะมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันได้มากกว่า 2.12 แสนล้านรุ่น จุดนี้ถือเป็นการตอกย้ำว่าความสำคัญในการสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรม The Internet of things ที่จะทำให้ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรม IoT นี้ได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม สมาคม OIC ไม่ใช่สมาคมแรกที่ต้องการแจ้งเกิดมาตรฐานให้วงการ IoT โดยช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ประกาศร่วมมือกับสมาคม AllSeen Alliance ที่ก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคมปี 2013 แน่นอนว่าเป้าหมายของสมาคม OIC และ AllSeen นั้นคล้ายคลึงกัน นั่นคือ การกำหนดรูปแบบการทำงานมาตรฐานให้ซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์สามารถค้นหา และเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันได้สะดวก โดยแกนหลักของสมาคม AllSeen คือ แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ AllJoyn ของผู้ผลิตชิปนาม “ควอลคอม (Qualcomm)” ซึ่งออกแบบให้สมาร์ทโฟน สมาร์ทวอตช์ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์พีซีสามารถสื่อสารกันได้
จุดนี้ผู้บริหารอินเทลอธิบายว่า ความแตกต่างระหว่างสมาคม OIC และสมาคมอื่นคือ ยังไม่มีสมาคม IoT ใดที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย และการวิเคราะห์ตัวตน หรือ authentication ของอุปกรณ์ ซึ่งไม่เพียงกำหนดมาตรฐาน สมาคม OIC จะแบ่งปันชุดคำสั่งกับกลุ่มสมาคมอื่นเพื่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนาหน้าตาพื้นฐาน หรือ interface ให้ผู้ใช้อุปกรณ์ IoT มีความคุ้นเคย และใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น
คาดว่าสมาคม OIC จะประกาศรายชื่อสมาชิกเพิ่มเติมภายในปีนี้
ที่มา: manager.co.th