นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หนังโฆษณาอภิมหาดรามา เรื่อง “การให้คือการสื่อสารที่ดีที่สุด” ดูคอนเซ็ปต์ดีแต่สวนทางกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับลูกค้าทรูมูฟ ในงานสัมมนา “60 วัน ประกาศเยียวยาคลื่น 1800 MHz ผู้บริโภคได้อะไร” พบผู้บริโภคร้องเรียนกว่า 50 เรื่อง โดยเฉพาะการบังคับโอนย้ายเครือข่ายโดยไม่สมัครใจ จุดไต้ตำตอ แม้กระทั่ง กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค “นพ.ประวิทย์” ยังโดนกับตัวเอง แล้วผู้บริโภคทั่วไปจะเหลือหรือ ส่วนตัวแทนทรูมูฟ “จักรกฤษณ์” กล้ายืนยันหยุดขายซิมใหม่ ถึงซื้อไปก็เปิดบริการไม่ได้ แต่โดนตอกกลับแกะซิมใหม่ 1800 MHz ที่เพิ่งซื้อวันนี้ 14 พ.ย.แต่สามารถใช้บริการได้ สารี อ๋องสมหวัง อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวภายในงานเสวนา “60 วัน ประกาศเยียวยาคลื่น 1800 MHz ผู้บริโภคได้อะไร” ว่า ภายหลังประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (ประกาศเยียวยา 1800 MHz) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ก.ย. 2556 ที่ผ่านมานั้นมีปัญหาร้องเรียนจากกรณีหมดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz จำนวน 50 เรื่อง โดยเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ ผู้บริโภคถูกโอนย้ายไปใช้เครือข่ายอื่นโดยไม่สมัครใจหรือเป็นการมัดมือย้าย และเรื่องสิทธิประโยชน์ลดลงเมื่อถูกย้ายไปเครือข่ายใหม่ เช่น ถูกลดจำนวนวันใช้งาน, ลดระยะเวลาโปรโมชัน, โปรโมชันใหม่ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงกว่าเดิม
รวมทั้งยังมีเรื่องร้องเรียนกรณีผู้ประกอบการไม่ยอมคืนเงินคงเหลือในระบบเก่าจากการโอนย้ายจากระบบ 2G ไป 3G ในทันทีทำให้ผู้บริโภคต้องเติมเงินเพิ่มทั้งที่มีเงินคงเหลือในระบบ และยังมีปัญหาเรื่องกรณีไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้หรือซิมดับ เป็นต้น โดยปัญหาเรื่องร้องเรียนทั้งหมดยังไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนภายใน 30 วันตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เนื่องจาก กสทช.ติดปัญหาเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติในการดำเนินงานภายใน กสทช. โดยขั้นตอนในการพิจารณานั้นจะต้องเสนอเข้าคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และคณะกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
นายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ประกาศเยียวยา 1800 MHz ออกมาเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน และประโยชน์ของรัฐ ส่วนปัญหาเรื่องร้องเรียนภายหลังการออกประกาศนั้น ล่าสุดกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมได้รายงานเรื่องร้องเรียนปัญหากรณีหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz มีเพียงจำนวน 11 เรื่องเท่านั้น โดยเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ การโอนย้ายเลขหมายผู้ใช้บริการโดยไม่สมัครใจ
โดยในเบื้องต้น กสทช.ได้ส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการทั้ง 2 รายแล้วว่าให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่หากผู้ประกอบการยังไม่ดำเนินการแก้ไข ทาง กสทช.อาจจะใช้การบังคับทางปกครองซึ่งจะมีการปรับวันละประมาณ 1 แสนบาท
“ถึงแม้มูลค่าการปรับทางปกครองจะน้อยมากหากเทียบกับรายได้ของผู้ประกอบการที่ได้รับก็ตาม แต่ทาง กสทช.จะนำกรณีดังกล่าวมาพิจารณาประกอบในการออกใบอนุญาตต่อไปด้วย”
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงาน กสทช.ยอมรับว่ากระบวนการดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหลังได้รับหนังสือร้องเรียนตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 นั้นยังถือว่าช้าไป เนื่องจากประชาชนเดือนร้อนมากหากปล่อยไว้นาน และในเบื้องต้น กสทช.ยังได้เชิญผู้ประกอบการทั้ง 2 รายเข้าหารือทุก 2 สัปดาห์ และให้มีการส่งแผนงานช่วงเยียวยาทุกเดือนเพื่อติดตามความคืบหน้า โดยเฉพาะแผนการโอนย้ายเลขหมายนั้น กสทช.ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการมาโดยตลอด
*** “บุญยืน” ซัดประกาศเยียวยา 1800 MHz แค่กระดาษเปื้อนหมึก บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า การบังคับใช้ประกาศเยียวยา 1800 MHz นั้น ระบุห้ามซิมดับแต่สุดท้ายซิมก็ดับ ห้ามขายซิมระบบ 1800 MHz ก็ยังขายซิม และกรณีห้ามโอนย้ายลูกค้าโดยไม่สมัครใจก็ยังมีให้เห็นอยู่ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากผู้ประกอบการที่ไม่ยอมดำเนินการตามประกาศเยียวยา 1800 MHz เลยสักข้อที่ระบุไว้ในประกาศ ดังนั้น ประกาศเยียวยา 1800 MHz จึงไม่มีสภาพการบังคับใช้เลยตั้งแต่มีผลบังคับใช้ออกมา
“กสทช.เล่นบทเอียงไปฝั่งผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แทนที่จะเข้าข้างหรือคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นประกาศฉบับดังกล่าวจึงไม่มีความหมายต่อผู้ประกอบการเลย”
*** “กสทช.ประวิทย์” โดนทรูมูฟลูบคมบังคับโอนย้ายโดยไม่สมัครใจ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่าล่าสุดปัญหาเรื่องการโอนย้ายโดยไม่สมัครใจเกิดขึ้นกับตนเองภายหลังมีใบแจ้งหนี้รอบบิลเดือน ก.ย.-ต.ค.ที่ยังเป็นใบแจ้งหนี้ทรูมูฟอยู่ แต่พอมาเดือน พ.ย.กลับมีการส่งใบแจ้งอนุมัติขอหักชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ทรูมูฟเอชทางบัตรเครดิตเดิมจากทางทรูมูฟเอชทั้งที่ตนไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลย จึงถือว่าเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปให้บริษัทอื่นๆ โดยพลการ ซึ่งในกรณีนี้กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการฟ้องร้องอยู่
เช่นเดียวกับระบบเติมเงินของทรูมูฟซึ่งในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ได้มีการลองซื้อซิม 1800 MHz กับทางผู้ค้ารายย่อยเพื่อทดสอบการลงทะเบียนใช้งานดู ซึ่งผลที่ได้คือสามารถใช้งานได้ตามปกติทั้งๆ ที่ตัวประกาศฯ ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามจำหน่ายซิมคลื่นดังกล่าวแก่ผู้ใช้บริการรายใหม่
“ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการให้บริการโดยต่อเนื่องและต้องถูกกฎหมายด้วย ไม่ใช่เป็นการให้บริการที่อยู่บนความผิดของกฎหมายที่เกิดเรื่องร้องเรียนอยู่ในขณะนี้”
นอกจากนี้ หาก กสทช.เตรียมการประมูลเอาไว้ล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในทุกคลื่นความถี่ก็จะช่วยให้ปัญหาทุกอย่างไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือเอไอเอส ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานบนคลื่น 900 MHz ในปี 2557 หาก กสทช.ยังนิ่งเฉยก็จะส่งผลออกมาเหมือนเดิมคือขยายเวลาสัญญาออกไปอีก 1 ปีนั่นเอง และ กสทช.จะต้องเตรียมการออกประกาศให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด
*** ทรูมูฟส่ง “จักรกฤษณ์” แถสีข้างถลอก นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ยืนยันว่าบริษัทได้มีการส่ง SMS แจ้งไปยังผู้ใช้บริการทุกรายแล้วในการโอนย้ายไปสู่ระบบเครือข่ายใหม่ โดยให้เข้ามาเปลี่ยนซิมได้ที่ศูนย์บริการทรูทั่วประเทศ และขอยืนยันว่าไม่มีการจำหน่ายซิม 1800 MHz แล้วในตอนนี้
“ขอยืนยันว่าตอนนี้ทางทรูมูฟไม่มีการจำหน่ายซิมบนระบบ 1800 MHz แล้ว แต่หากยังมีผู้ค้ารายย่อยยังขายซิมดังกล่าวอยู่นั้นก็ไม่สามารถลงทะเบียนเข้าใช้ได้แต่อย่างใด”
สำหรับในตอนนี้ทรูมูฟมีลูกค้าอยู่ในระบบ 1800 MHz จำนวน 14 ล้านเลขหมายจากเดิมมี 18 ล้านเลขหมาย ซึ่งภายใน 2 เดือนหลังออกประกาศมีการโอนย้ายลูกค้าออกจากระบบไปแล้ว 4 ล้านเลขหมาย
***สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สระบุรี เล็งฟ้อง กสทช.ทั้งคณะ ขณะเดียวกัน นายกำชัย น้อยบรรจง เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ได้แถลงข่าวภายหลังงานเสวนาว่าจะเดินหน้าฟ้องบอร์ด กสทช.ทั้งคณะ และสำนักงาน กสทช.กรณีออกประกาศเยียวยา 1800 MHz กับศาลปกครองกลางเพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ในตอนท้ายของการแถลงข่าวยังมีการทดลองเปิดใช้งานซิมทรูมูฟในระบบ 1800 MHz ที่เพิ่งซื้อมาในวันที่ 14 พ.ย. ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่ายังสามารถเปิดใช้งานได้ตามปกติ
อนึ่งประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (ประกาศเยียวยา 1800MHz) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนก.ย. 2556 ที่ผ่านมาแล้วดังนั้นหากจะมีการฟ้องร้องประกาศดังกล่าวจะต้องดำเนินการภายใน 90 วันภายหลังประกาศบังคับใช้แล้ว หรือราวช่วงเดือน พ.ย.2556 นี้
Company Related Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th