ดีแทควอนหน่วยงานภาครัฐ-กำกับดูแลขอลุย 4G LTE อ้างความต้องการผู้บริโภคและประโยชน์ประเทศชาติ เพิ่มทางเลือกให้ภาครัฐด้วยการเสนอคืนคลื่น 1800 MHz ที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อให้นำมาร่วมประมูลในปีหน้า หรือขอใช้คลื่นดังกล่าวให้บริการ ถ้าได้จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือดีแทค กล่าวถึงแนวคิดในการจัดการกับคลื่น 1800 MHz ซึ่งดีแทคถือครองอยู่แต่ไม่ได้นำมาใช้งานในปัจจุบันว่า ทางดีแทคมองเห็น 2 แนวทางในการจัดการคลื่น แนวทางแรกคือดีแทค และ กสท โทรคมนาคม นำคลื่น 1800 MHz อีก 25 MHz ที่ไม่ได้ใช้งานคืนให้ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อนำไปจัดประมูลร่วมกับคลื่น 1800 MHz ที่ทางบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) จะหมดช่วงเยี่ยวยาในเดือนกันยายน 2557
“ถ้าทาง กสทช.สามารถจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ได้ทันทีหลังจากหมดช่วงเวลาเยียวยา ประกอบกับทาง กสท ยินยอมที่จะคืนคลื่น การเปิดประมูลคลื่น 1800 MHz ด้วยช่วงความถี่ 45 MHz หรือจะรวมกับการประมูลคลื่น 900 MHz ของทางเอไอเอส อีก 17.5 MHz มาร่วมประมูลด้วยจะทำให้การประมูลน่าสนใจ และจะทำให้เกิดการแข่งขันได้มากกว่านำเฉพาะคลื่นจากทรูมูฟ และดีพีซี เพียง 20 MHz มาประมูล”
โดยในแนวทางนี้ ดีแทคได้ยื่นหนังสือถึงทั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และทาง กสทช. ไว้แล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างรอดูท่าทีว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป บนจุดยืนที่มองถึงความต้องการของผู้บริโภค และประโยชน์สูงสุดของประเทศเมื่อมีการให้บริการ 4G บนคลื่นดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ทาง กสท ไม่ยอมให้คืนคลื่นดังกล่าวไปให้ กสทช. แต่ถ้ามีการเปิดประมูลคลื่น 1800 MHz ที่เหลือดีแทคก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลเพื่อให้สามารถนำคลื่นดังกล่าวมาให้บริการ 4G LTE แก่ผู้บริโภค โดยไม่คำนึงถึงเรื่องของการที่ดีแทคมีคลื่น 1800 MHz อยู่แล้วจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลคลื่นดังกล่าวได้
“การที่บอกว่าดีแทคถือครองคลื่น 1800 MHz บนระบบสัมปทานอยู่แล้ว ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตบนคลื่น 1800 MHz ได้ดูแล้วอาจจะไม่ค่อยยุติธรรมกับดีแทค เพราะว่าถึงดีแทคจะมีคลื่นอยู่แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้งานได้อยู่ดี ก็เหมือนกับไม่ได้ถือครองคลื่นอยู่”
อีกแนวทางหนึ่งที่มองไว้ และได้เริ่มดำเนินการไปเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาคือ การยื่นข้อเสนอไปยัง กสทช.ในการที่ดีแทคจะนำ 1800 MHz อีก 25 MHz ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้งานมาให้บริการ 4G บนสัญญาสัมปทานเดิมที่มีอยู่ ซึ่งถ้า กสทช.เห็นด้วยก็พร้อมที่จะเริ่มในช่วงต้นเดือนตุลาคม ก่อนจะเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้
โดยแนวทางนี้ทั้ง กสทช. และไอซีทีให้ความเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดี และได้ตั้งทีมขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการดังกล่าว และจะนัดหมายกับทางดีแทคให้เข้าพบภายในสัปดาห์นี้ แต่ก็ต้องรอดูทาง กสท ด้วยว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่ เพราะก็จะเป็นแนวทางที่สร้างรายได้ให้แก่ กสท ด้วย
เพราะตามข้อกำหนดของสัมปทานในส่วนของช่วงคลื่นที่เหลือบน 1800 MHz ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าจะนำมาใช้ต้องให้ดีแทคแสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องเปิดใช้ ในจุดนี้ก็จะเสนอในมุมของการสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติถ้ามีการเปิดให้บริการ 4G
“เรารู้ว่าทั้ง 2 แนวทางเกิดขึ้นได้ยาก และมีความท้าทายสูง แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีแทคต้องทำ โดยจะยึดถือแนวทางแรกเป็นหลัก ถ้าไม่ได้ก็ถือว่ามีแนวทางที่ 2 เป็นทางเลือก”
นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลถึงการให้บริการ 4G LTE ว่า ภายในสิ้นปีนี้เครือข่ายดีแทคจะมีลูกค้าที่มีอุปกรณ์พร้อมใช้งาน 4G LTE อยู่กว่า 1 ล้านราย หรือคิดเป็นราว 20% ของผู้ใช้งานดาต้าในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในตัวเมือง ซึ่งการให้บริการ 4G จะเข้ามาช่วยลดปริมาณการใช้แบนด์วิดท์บนคลื่น 3G ส่งผลให้ลูกค้าที่ใช้งาน 3G ก็จะได้ความเร็วที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
นายจอนยังมองว่า ปริมาณคลื่นที่เหมาะสมสำหรับการนำมาให้บริการ 4G LTE คือราว 20 MHz เพราะถือว่าเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ เพราะลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ใช้งาน 4G ความเร็วสูงได้หลายๆ รายพร้อมกัน แต่ถ้ามีช่วงคลื่นน้อยความเร็วที่ได้ก็จะลดลง
ซึ่งถ้าแนวทางที่ 2 เกิดขึ้น ก็จะทำให้ดีแทคมีคลื่นเพื่อให้บริการทั้ง 2G 3G และ 4G ทั้งหมด 75 MHz ประกอบไปด้วยคลื่น 850 MHz จำนวน 10 MHz 1800 MHz จำนวน 50 MHz และ 2.1 GHz อีก 15 MHz ทำให้กลายเป็นผู้ให้บริการที่มีช่วงคลื่นมากที่สุด
ขณะที่ในมุมของการลงทุน 4G LTE ในแนวทางที่ 2 จะมีช่วงเวลาในการให้บริการเพียง 5 ปี เพราะสัญญาสัมปทานจะหมดลงในปี 2561 อาจทำให้ต้องเลือกการลงทุนในพื้นที่ที่มีปริมาณการใช้งานหนาแน่นก่อนเพื่อให้สามารถสร้างรายได้ให้คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป ไม่เหมือนกับการลงทุนในระบบใบอนุญาตที่มีช่วงระยะเวลาในการให้บริการที่นานกว่า
ทั้งนี้ ความคืบหน้าในการให้บริการไตรเน็ต ปัจจุบันสามารถให้บริการได้ครอบคลุมเกิน 50% ของจำนวนประชากรแล้ว และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 55% ส่วนในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานก็คาดว่าจะมีลูกค้าที่ใช้ไตรเน็ตภายในสิ้นปีอยู่ที่ 10 ล้านราย โดยจะเป็นลูกค้าเก่า 5 ล้านราย และลูกค้าใหม่ 5 ล้านราย
ส่วนในแง่ของจำนวนสถานีฐานที่ให้บริการจนถึงสิ้นปีจะมีทั้งหมด 11,000 สถานีฐาน ซึ่งจะเป็นการให้บริการบนคลื่น 2.1 GHz ราว 5,500-6,000 สถานีฐาน โดยมีนัยที่สำคัญหลังจากเปิดให้บริการไตรเน็ตมาระยะหนึ่งคือ พฤติกรรมผู้ใช้งานในช่วงที่ผ่านมาพบว่าถ้าลูกค้าเปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟนมาใช้สมาร์ทโฟน ค่าบริการเฉลี่ยต่อเบอร์ต่อเดือน (ARPU) จะเพิ่มสูงขึ้น 30% ขณะที่ลูกค้าที่เปลี่ยนจากพรีเพดมาเป็นโพสต์เพด เพิ่มขึ้น 60%
Company Relate Link :
DTAC
ที่มา: manager.co.th