บอร์ด กทค.มีมติเห็นชอบส่งหนังสือทวงความถี่ 1800 MHz จาก กสท หลังสัญญาสัมปทานทรูมูฟและดีพีซีสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย. 56 ระบุ กสท ต้องส่งแผนเยียวยาผู้บริโภคกลับมา กสทช.ภายในเดือน เม.ย.นี้ ด้าน “ฐากร” แย้มปลัดไอซีทีย่องพบยินดีคืนความถี่ 1800 MHz ตามกฎหมาย แต่สงวนสิทธิ์ขอเจรจาใช้ความถี่คราวหน้า ด้านเอไอเอสเตรียมถอนฟ้อง พร้อมจ่ายค่าปรับพรีเพด พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า บอร์ด กทค.ได้มีการจัดประชุมสัญจรที่จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ส่งหนังสือไปยังเจ้าของสัญญาสัมปทาน คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม (กสท) และบริษัทคู่สัญญาสัมปทาน ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอลโฟน ที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือในย่านความถี่ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย. 2556 นี้เพื่อให้รับทราบและปฏิบัติตามกฎหมายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานที่จะต้องนำความถี่ส่งคืนกลับมายัง กสทช. ซึ่งสำนักงาน กสทช.จะส่งหนังสือดังกล่าวไปภายในสัปดาห์หน้า
“หลังจาก กสท ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วจะต้องสรุปมาตรการเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงภายในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้เป็นอย่างช้า เนื่องจากแผนการเยียวยาลูกค้าจะต้องเสร็จก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 6 เดือน โดยสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งบอร์ด กทค.ก็จะทำแผนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาคู่ขนานไปพร้อมกันด้วย”
ในเบื้องต้นคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมรองรับสัญญาสัมปทานความถี่ 1800 MHz ได้สรุปผลการศึกษาให้บอร์ด กทค.พิจารณา โดยแบ่งผลการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. การประมูลคลื่นความถี่ 2. การเยียวยาผลกระทบหลังหมดสัญญาสัมปทาน โดยเรื่องการประมูลความถี่แยกออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรก เตรียมการประมูลสำหรับความถี่ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย. 2556 (ทรูมูฟกับดีพีซี) ส่วนช่วงที่ 2 คือช่วงก่อนหมดสัญญาสัมปทานของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2561
ขณะที่มาตรการเยียวยาผลกระทบหลังหมดสัญญาสัมปทานนั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอเรื่องการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ตบิลิตี) โดยเห็นว่าควรเปิดให้มีการโอนเลขหมายในระบบออนไลน์ และเพิ่มความจุในการโอนย้ายเลขหมายในแต่ละวันให้มีความจุที่เพียงพอต่อเลขหมายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน และให้กลุ่มงานเลขหมายของสำนักงาน กสทช.ประเมินเลขหมายที่จะมีการโอนย้ายจริงเสนอให้บอร์ด กทค. ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องมีแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบัตรเติมเงิน (พรีเพด) และระบบจดทะเบียนรายเดือน (โพสต์เพด)
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.จะต้องเตรียมการประชาสัมพันธ์เรื่องการโอนย้ายลูกค้าที่จะหมดสัญญาสัมปทาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะแรกให้มีการเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดสัญญาสัมปทานที่จะหมดลง และระยะที่ 2 แจ้งให้ทราบถึงหลักเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภค
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ยังระบุว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เข้าพบเลขาธิการ กสทช.เพื่อชี้แจงกรณีการคืนคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะหมดสัญญาสัมปทาน โดยกระทรวงไอซีทีพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขของ กสทช.ทั้งหมด ส่วนการขอใช้คลื่นความถี่หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกระทรวงไอซีทีจะมาทำข้อตกลงกับ กสทช.คราวหน้า
***เอไอเอสถอนฟ้อง กสทช. พร้อมปฏิบัติตาม ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ได้แจ้งมายังสำนักงาน กสทช.ถึงการยอมปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง และยินดีชำระค่าปรับวันละ 100,000 บาท กรณีการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน ซึ่งมีคำสั่งตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2555 และยินดีถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 56/2556 ที่เอไอเอสฟ้อง กสทช.และบอร์ด กทค.เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงาน กสทช.ที่เรียกค่าปรับจากผู้ให้บริการที่ยังกำหนดวันหมดอายุในการให้บริการระบบเติมเงิน
Company Related Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th