การสนทนาผ่านวิดีโอเป็นระบบ 3 มิติ (3D video call) อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีสัญลักษณ์บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต "Skype" บนสมาร์ทโฟน บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต “สไกป์ (Skype)” ยืนยันว่าบริษัทมีแผนพัฒนาระบบวิดีโอคอลหรือการสนทนาผ่านวิดีโอเป็นระบบ 3 มิติ (3D video call) ระบุเทคโนโลยียังอยู่ระหว่างการพัฒนาในห้องวิจัย คาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะสามารถนำมาเปิดตลาดได้ สไกป์เป็นบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตในเครือไมโครซอฟท์ (Microsoft) ซึ่งเพิ่งมีอายุครบรอบ 10 ปีแห่งการก่อตั้ง ล่าสุดสไกป์นำเรื่องราวการพัฒนาและทดสอบระบบวิดีโอคอล 3 มิติมาเปิดเผยระหว่างการให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวบีบีซี (BBC) โดยมาร์ก ยิลเลตต์ (Mark Gillett) รองประธานบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นผู้ดูแลสไกป์ยืนยันว่า การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในห้องวิจัยนั้นอยู่ในขั้นศึกษาความสามารถในการถ่ายทอดบนหน้าจอ 3 มิติและการเก็บภาพ 3 มิติ สะท้อนว่าสไกป์สามารถบรรลุการพัฒนาบางขั้นตอนไปได้แล้วในบางส่วน
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสไกป์ยอมรับว่าข้อจำกัดของการให้บริการระบบวิดีโอคอล 3 มิติคือการขาดแคลนอุปกรณ์เก็บภาพ 3 มิติในท้องตลาด โดยแม้ปัจจุบันผู้บริโภคจะเริ่มซื้อหาทีวี 3 มิติรวมถึงหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่รองรับภาพ 3 มิติ แต่อุปกรณ์เก็บภาพ 3 มิติสำหรับผู้บริโภคนั้นยังไม่มีการเปิดตลาดที่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นปัญหาหนึ่งที่สไกป์มองเห็นในขณะนี้
จุดนี้ผู้บริหารสไกป์ชี้ว่าระบบวิดีโอคอล 3 มิติสามารถให้บริการได้จริงในปัจจุบันหากผู้ใช้นำกล้องดิจิตอลหลายตัวมาเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ จากนั้นตั้งค่าให้กล้องแต่ละตัวทำงานร่วมกันและถ่ายทอดภาพในมุมองศาที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ผู้บริหารสไกป์ยืนยันว่าการทดสอบในห้องวิจัยนั้นให้ผลสำเร็จดี ซึ่งสไกป์กำลังให้ความสนใจที่ระบบอีโคซิสเต็มหรือระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของตลาดอุปกรณ์ 3 มิติ เพื่อให้ทุกฝ่ายในวงการภาพ 3 มิติสามารถร่วมมือกัน และผลักดันให้ระบบวิดีโอคอล 3 มิติสามารถแจ้งเกิดสู่ตลาด
วิดีโอคอลนั้นเป็นรูปแบบการโทรศัพท์แบบเห็นภาพ ซึ่งทำให้คู่สนทนาสามารถมองเห็นอีกฝ่ายได้แบบเรียลไทม์ ปัจจุบันบริการวิดีโอคอลทั้งแบบฟรีและเสียค่าใช้จ่ายได้รับความนิยมมากในกลุ่มชาวออนไลน์ที่สามารถแชตสนทนาแบบเห็นภาพได้ทั้งที่อยู่คนละสถานที่กัน โดยสามารถใช้กล้องเว็บแคมที่ติดอยู่บนอุปกรณ์ไอทีทั้งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดภาพได้แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์เพิ่ม ขณะเดียวกันก็สามารถชมภาพของปลายสายได้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์สะดวกสบาย
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี 3 มิตินั้นยังไม่แพร่หลายในปัจจุบันเนื่องจากอุปกรณ์ 3 มิติยังมีราคาแพงและผู้บริโภคยังไม่เห็นความจำเป็นของการมีอุปกรณ์ 3 มิติ ซึ่งสาเหตุหลังถือเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ตลาด 3 มิติไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยปัจจุบันเนื้อหาหรือคอนเทนต์ 3 มิติมีให้บริการในสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับเนื้อหาที่เป็นภาพ 2 มิติ จุดนี้รายงานย้ำว่า แม้ในประเทศอังกฤษจะมีจำนวนผู้เป็นเจ้าของทีวี 3 มิติมากกว่า 1.5 ล้านคน แต่ทุกคนพูดตรงกันว่าได้ชมเนื้อหารายการหรือภาพยนตร์ 3 มิติไม่กี่รายการเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ ผู้บริหารสไกป์ยอมรับว่าบริการวิดีโอแชต 3 มิติอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะติดตลาด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับบริการ 3 มิติอื่นอย่างทีวี 3 มิติหรือภาพยนตร์ 3 มิติ แต่เมื่อใดก็ตามที่วงการสมาร์ทโฟนมีการพัฒนาไปใช้หน้าจอภาพแบบ 3 มิติแบบไร้แว่นตาเต็มตัว (ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่สมาร์ทโฟนนั้นจะมาพร้อมกล้องดิจิตอล 3 มิติด้วย) เมื่อนั้นตลาดก็จะเปิดกว้างสำหรับระบบวิดีโอคอล 3 มิติ
ผู้บริหารสไกป์แสดงความเชื่อมั่นว่าตลาดทีวีและคอมพิวเตอร์ 3 มิติจะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต รวมถึงแนวโน้มในการติดกล้องดิจิตอลลงในทีวีที่จะมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อนาคตของระบบวิดีโอคอล 3 มิติเข้าใกล้ความเป็นจริงมากกว่าเดิม แม้วันนี้ตลาดอุปกรณ์ 3 มิติยังไม่มีแววคึกคักเท่าที่ควร
ที่มา: manager.co.th