เป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษที่ยักษ์ไอทีสุดคูล "แอปเปิล อิงค์" เจ้าของสินค้าแบรนด์ดังอย่างไอโฟน ไอพอด ไอแพด และแมคบุ๊ก สามารถขยับขึ้นมาแซงหน้า "ไมโครซอฟท์" ยักษ์ซอฟต์แวร์ ในฐานะบริษัทเทคโนโลยี รายใหญ่สุดของโลก เมื่อวัดในแง่มูลค่าตลาด ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
โดยล่าสุด มูลค่าตลาดของค่ายแอปเปิล อยู่ที่ราว 222.12 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ไมโครซอฟท์อยู่ที่ระดับ 219.18 พันล้านดอลลาร์ ทั้งที่เมื่อมองกลับไปในปี 2540 มูลค่าตลาดของไมโครซอฟท์มากกว่า แอปเปิลถึง 5 เท่าตัว
นอกจากนี้ แอปเปิลยังเป็นบริษัทอเมริกันที่มีมูลค่าตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเอ็กซ์ซอนโมบิล ที่มีมูลค่าตลาดที่ 278.6 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ยังเป็นผู้นำ เมื่อประเมินในแง่อื่น ๆ โดยไมโครซอฟท์มีเงินสดในมือ 35.7 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่แอปเปิลมี 23 พันล้านดอลลาร์ ส่วนแง่ รายได้ไมโครซอฟท์อยู่ที่ 58.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่แอปเปิลอยู่ที่ 42.9 พันล้านดอลลาร์
"ลอสแองเจลิส ไทมส์" วิเคราะห์ถึงความสำเร็จของแอปเปิลว่ามีหลักไมล์สำคัญนับตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทเปิดตัวผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับความนิยมอย่าง "ไอพอด" เครื่องเล่นเพลงดิจิทัลที่เป็นการแจ้งเกิดและเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมดนตรี และทยอยส่งผลิตภัณฑ์ไฮเทคมาสร้างความคึกคักให้กับตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมือถืออัจฉริยะ "ไอโฟน" มาจนถึงแท็บเลตคอมพิวเตอร์ "ไอแพด"
อีกหนึ่งอานิสงส์ให้แอปเปิลตามมาทัน คือการเดินสะดุดขาตัวเองของ คู่แข่ง "ไมโครซอฟท์" ซึ่งประสบความสำเร็จน้อยกว่าที่คาดในการผลักดันผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หลังจากที่เคยทำได้จากระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ และซอฟต์แวร์ Office
ไม่ว่าจะเป็น "วินโดวส์ โมบาย" ระบบปฏิบัติการบนมือถือที่ผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก รวมถึงแท็บเลตคอมพิวเตอร์ของไมโครซอฟท์ที่เงียบหายไประหว่างทาง แม้แต่ระบบปฏิบัติการวิสต้า และเครื่องเล่นเพลงดิจิทัล Zune ก็ถูกคู่แข่งทิ้งห่าง
"ยาอีร์ ไรเนอร์" นักวิเคราะห์จาก ออปเพนไฮเมอร์ แอนด์ โค.ระบุว่า ครั้งหนึ่งไมโครซอฟท์เคยเป็นม้างานที่เป็นผลพวงจากการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ พีซี แต่ตอนนี้ดูเหมือนม้าตัวนี้กำลังจะหมดกลเม็ดเด็ดพรายเสียแล้ว
ขณะที่แอปเปิลเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะเมื่อย้อนกลับไปเมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมา แอปเปิลเผชิญกับความยากลำบากทางธุรกิจอย่างสาหัส และ "สตีฟ จ็อบส์" ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารต้อง ก้าวลงจากตำแหน่ง
กระทั่ง "จ็อบส์" กลับมานั่งตำแหน่งนี้อีกครั้งในปี 2540 และเริ่มทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ยอดนิยมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ "ไอพอด" ซึ่งขายได้หลายสิบล้านเครื่อง รวมถึง "ไอโฟน" "แมคบุ๊ก" และทำให้ คู่แข่งต้องหันมาเล่นในเกมไล่ล่าเทคโนโลยีที่แอปเปิลกำหนดขึ้น
ระยะหลัง ๆ มานี้ แอปเปิลเริ่มขยับออกไปในตลาดอื่น ๆ อาทิ ซอฟต์แวร์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจขายเพลง และภาพยนตร์ดิจิทัล และแอปพลิเคชั่น ผ่าน แพลตฟอร์ม "ไอจูนส์" (iTunes) หรือ ร้านค้าออนไลน์
ไรเนอร์บอกว่า นี่เป็นมากกว่าการ แข่งขันระหว่าง Mac กับพีซี แต่ตลาดมอง แอปเปิลในฐานะกลจักรขับเคลื่อน นวัตกรรมและการเติบโตทางธุรกิจ ขณะที่กำไรส่วนใหญ่ของไมโครซอฟท์นั้นมาจากผลิตภัณฑ์ที่วางขายในตลาดมายาวนาน
ทว่าด้วยเงินสดมหาศาลในมือและ ผลกำไรที่ยังได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้ไมโครซอฟท์ยังคงแข็งแกร่ง และยัง ครอบครองตลาดซอฟต์แวร์ที่ใช้ใน เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและ ภาคธุรกิจหลายล้านเครื่องทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ยังต้องต่อสู้กับคู่แข่งแล้ว ยังต้องเผชิญกับอีกแนวรบหนึ่ง คือภายในองค์กรเอง ซึ่งถูกวิพากษ์ว่านิ่งเกินไป และปรับตัวได้เชื่องช้า ท่ามกลางภูมิทัศน์ธุรกิจเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่ง "ซีซาร์ พอร์ติลโล" มองว่า ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ที่ให้ความรู้สึกคร่ำครึได้ส่งผลต่อชื่อเสียงของบริษัทเอง
"สก็อต จี. แมคเนลี" ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของซัน ไมโครซิสเต็มส์ กล่าวกับ นิวยอร์ก ไทมส์ ว่า แม้ไมโครซอฟท์จะยังครองความยิ่งใหญ่ไว้ได้ แต่แอปเปิลกำลังเปลี่ยนโมเมนตัมนี้ เพราะสตีฟ จ็อบส์ มองเห็นหนทางก่อนไมโครซอฟท์ ซึ่งทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จำเป็นต้องทำงานผสานกัน โดยไม่ต้องให้ผู้ใช้ต้องพยายามมากนัก
ด้าน "ปีเตอร์ เอ. ธีล" ผู้ก่อตั้ง PayPal กล่าวว่า ไมโครซอฟท์สนใจสถานะมากไป ในขณะที่แอปเปิลแข่งกับตัวเอง และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอด เพราะแอปเปิลวางเดิมพันไว้ที่เทคโนโลยี และสามารถต่อกรกับไมโครซอฟท์ได้อย่างชัดเจน
และถึงแม้แอปเปิลจะเป็นต่อในเกมธุรกิจ แต่บริษัทก็เผชิญกับคู่ต่อกรที่มีพลังมากอย่าง กูเกิล ซึ่งกำลังท้าทายด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ใช้บนมือถือ และโฆษณาบนมือถือ ทั้งนี้ มูลค่าตลาดของ กูเกิลอยู่ที่ 151.43 พันล้านดอลลาร์
"ทิม บาจาริน" นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยี ให้ความเห็นว่า ตอนนี้สมรภูมิธุรกิจได้เปลี่ยนจากคู่ต่อกรระหว่างไมโครซอฟท์กับแอปเปิล ไปเป็นแอปเปิลกับกูเกิล โดยแม้ตอนนี้แอปเปิลจะเป็นผู้นำอย่างชัดเจน แต่กูเกิลกำลังขยับสู่การเป็นคู่แข่งที่ทรงพลังมากขึ้น
ที่มา: prachachat.net