เมื่อวันที่ 25-27 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน "TETRA World Congress 2010" ณ ประเทศสิงคโปร์ ภายในงานเป็นการแสดง นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นภายใต้เทคโนโลยีเทตรา (TETRA : TErrestrial Trunked Radio) ซึ่งเป็นมาตรฐานของระบบวิทยุสื่อสารแบบทรังก์ดิจิทัล (หรือที่บ้านเรา เรียกว่า วอล์กกี้ทอล์กกี้) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยสถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมแห่งสหภาพยุโรป (European Telecommunications Standardisation Institute : ETSI)
"เพ เต็ก โม" รองประธานบริษัท โมโตโรล่า เอ็นเตอร์ไพรส์ โมบิลิตี้ โซลูชั่น เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ระบบเทตราได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอด 75 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งในระบบการป้องกันภัยสาธารณะของประเทศ ระบบการขนส่งสาธารณะ ธุรกิจการบิน น้ำมัน หรืออสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางถึงใหญ่ ซึ่งต้องการระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและความเสถียรสูงทั้งในยามปกติและภาวะฉุกเฉิน
อย่างโมโตโรล่า เฉพาะไตรมาสแรกของปีนี้ มียอดขายจากผลิตภัณฑ์ภายใต้ระบบเทตราสูงถึง 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในจำนวนนี้ 30% มาจากการติดตั้งระบบเทตราในระบบรถไฟฟ้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และในปัจจุบันมีการติดตั้งระบบเทตราไปแล้วกว่า 1.2 ล้านสถานีฐานทั่วโลก อาทิ หน่วยงานตำรวจและระบบรถไฟฟ้าใต้ดินในฮ่องกง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ ระบบสื่อสารภายในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอินซอนของเกาหลีใต้ หรือแม้แต่ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง คอมมอนเวลเกม 2010 ที่นิวเดลี รวมถึงเซี่ยงไฮ้ เวิลด์เอ็กซ์โป 2010
และยังมีบทบาทสำคัญในการกู้ภัย พิบัติหลาย ๆ ครั้ง ผ่านการทำงานของ นักผจญเพลิง หน่วยกู้ภัยและหน่วยงานกาชาดในประเทศต่าง ๆ อาทิ แผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน เมื่อ 12 พ.ค. 2551 ซึ่งทีมงานของโมโตโรล่าได้ร่วมกับรัฐบาล นครเฉิงตู และสภากาชาดจีน นำระบบเทตราไปใช้หลังจากระบบสื่อสารปกติได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับที่สนามบินสุวรรณภูมิประสบปัญหาโครงข่ายโทรศัพท์ล่มทั้งหมดในวันเปิดทำการวันแรก แต่โชคดีที่มีการติดตั้งระบบเทตราไว้ พนักงานทั้งหมดจึงสามารถติดต่อสื่อสารภายในสนามบินได้อย่างราบรื่น
"ระบบเทตราในปัจจุบัน พัฒนาจากเครื่องมือสื่อสารแบบ push-to-talk ในสมัยสงครามโลก ที่ส่งผ่านแค่เสียงจากคนหนึ่งไปถึงยังอีกคนหนึ่ง แต่สามารถส่งผ่านทั้งเสียง ข้อความสั้น ภาพนิ่ง วิดีโอคลิปความละเอียดสูง แผนที่ รวมถึงการบอกพิกัดที่อยู่ด้วยเทคโนโลยี GIS (ภูมิสารสนเทศ) ให้ทุกคนในเครือข่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้พร้อม ๆ กันแบบเรียลไทม์ แต่ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัยในระบบ
ตัวเครื่องวิทยุสื่อสารอย่าง "MTM 5400" ที่ได้เปิดตัวในงานนี้จึงได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนทั่วไป เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการรักษาความปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันระบบเทตรารุ่นใหม่ยังรองรับการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน ไอโฟน แบล็คเบอร์รี่ และพร้อมเชื่อมต่อได้ทั้งในรูปแบบของบรอดแบนด์ บลูทูท WiFi WiMax 3G 4G และ LTE หากได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลระบบให้สามารถเข้าถึงข้อมูลในเครือข่าย ซึ่งฟังก์ชั่นเหล่านี้จะช่วยลดข้อจำกัดในการใช้งานระบบ ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องใช้วิทยุสื่อสารติดตัวอยู่ตลอดเวลาก็สามารถรับหรือส่งข้อมูล อาทิ ภาพเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือภาพคนร้ายที่บังเอิญได้พบเห็นหลังจากออกเวรแล้ว เข้าสู่ระบบเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที
ขณะที่ตัวสถานีฐานที่ใช้ในการเชื่อมต่อระบบทั้งหมดก็ได้พัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและสามารถติดตั้งให้พร้อมใช้งานได้เร็วขึ้น เช่น "MTS1" ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 20.5 กิโลกรัม เหมาะกับการเคลื่อนย้ายไปพร้อมโมบายยูนิต และองค์กรธุรกิจขนาดกลางถึงเล็กที่ต้องการระบบการสื่อสารเพื่อการดูแลรักษาความปลอดภัยในระดับสูง อาทิ กาสิโน รีสอร์ต ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าใหม่
"ทอม เควิร์ก" ผู้จัดการอาวุโสเอ็นเตอร์ไพรส์ โมบิลิตี้ โซลูชั่นเวิลด์ไวด์ บริษัท โมโตโรล่า อิงค์ กล่าวว่า ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในระบบเทตราจะต้องคำนึงถึงปฏิกิริยาของมนุษย์ภายใต้ภาวะวิกฤต ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วง 8 ชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุ อาทิ การลดประสิทธิภาพลงของการมองเห็น การได้ยินและการตัดสินใจ ขณะที่ข้อมูลสถานการณ์แบบเรียลไทม์จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขสถานการณ์ ช่วยเหลือชีวิตของผู้ประสบภัยและผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้นการออกแบบอุปกรณ์จึงต้องทดสอบแล้วว่า ใช้งานได้ง่ายที่สุด และคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน ความร้อนความชื้นความเย็น
และเนื่องจากระบบเทตราสามารถทำงานได้บนทุกโครงข่าย แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ประชาชนมักจะตื่นตระหนกจนทำให้ระบบสื่อสารสาธารณะถูกใช้งานอย่างหนักจนทำให้ระบบล่มในที่สุด ซึ่งหากนำระบบเทตราไปผูกไว้กับโครงข่ายสื่อสารสาธารณะก็จะใช้งานได้เฉพาะการส่งข้อมูลผ่านทางเสียงบนย่านความถี่ 350-380 MHz ที่รัฐบาลส่วนใหญ่ทั่วโลกใช้เพื่อป้องกันภัยสาธารณะ ไม่สามารถใช้งานอุปกรณ์ได้เต็มประสิทธิภาพเพราะเป็น ย่านความถี่ที่ไม่รองรับการสื่อสารแบบ มัลติมีเดียความเร็วสูง
เวลานี้ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปบางประเทศอย่างเยอรมนี จึงได้จัดสรรคลื่นความถี่ 3G และวางแผนจะจัดสรรคลื่นความถี่ 4G, LTE ที่ใช้งานเฉพาะหน่วยงานรัฐ แยกต่างหากจากความถี่ที่เปิดใช้เชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่า หากเกิดภัยพิบัติขึ้นก็ยังมีโครงข่ายคุณภาพสูงสำหรับกู้วิกฤต
นี่คือไอเดียของประเทศที่เจริญแล้ว ไม่รู้ว่าประเทศที่เคยเกิดสึนามิ มีแผ่นดินไหว น้ำท่วมบ่อย ๆ นึกถึงจุดนี้หรือยัง
ที่มา: prachachat.net