ดีแทค ไม่หวั่นเปิดให้บริการ 3G ความถี่ 2.1 GHz ช้ากว่ารายอื่น เชื่อมั่นประสิทธิภาพ 3G ความถี่ 850 MHz ดีอยู่แล้ว ลุยเพิ่มฐานลูกค้า “แฮปปี้” ให้ใช้งานดาต้าเพิ่มกว่า 10 ล้านราย จากปัจจุบัน 7 ล้านราย ชี้ตลาดพรีเพดยังมีโอกาสเติบโต เห็นด้วยเอไอเอสเก็บค่ารักษาเลขหมาย 1 บาทต่อวันเหมาะสมแล้ว นายปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ตอนนี้ผู้ให้บริการเครือข่ายส่วนใหญ่หันไปให้ความสำคัญกับการเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz แต่ทางดีแทคกลับมองว่า การเปิดให้บริการ 3G ไม่ว่าจะบนคลื่นความถี่ใด ถ้ามีประสิทธิภาพการใช้งานที่ลูกค้าพึงพอใจทุกอย่างก็โอเค
“ลูกค้าไม่สนใจว่าจะใช้งาน 3G บนความถี่ 2.1 GHz หรือ 3G ความถี่ 850 MHz เพราะในการใช้งานจริง ถ้าสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ความเร็วสูงที่เสถียร มีประสิทธิภาพในการใช้งานโทรศัพท์ได้ดีก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นดีแทคจึงเน้นไปที่การให้บริการลูกค้าให้ดีที่สุด”
ดีแทคยังมองว่าปีนี้จะยังไม่เกิดการแข่งขันในการแย่งลูกค้าของแต่ละผู้ให้บริการ เนื่องจากทั้งเอไอเอส และทรูมูฟ จำเป็นต้องมีการโอนย้ายลูกค้าให้ไปใช้งานบนใบอนุญาต แทนระบบสัมปทานที่ใกล้จะหมดลงมากกว่า รวมกับอุปกรณ์ที่รองรับ 3G ความถี่ 2.1 GHz ในปัจจุบันยังมีจำนวนน้อย ถ้าลูกค้าของทุกโอเปอเรเตอร์ต้องการใช้งาน 3G ทั้งหมด ก็จะต้องมีอุปกรณ์ที่รองรับ 3G เข้ามามากกว่า 50 ล้านเครื่อง
ดีแทคยังให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจการให้บริการเครือข่าย 3G ภายในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่า การให้บริการ 3G ของดีแทคดีที่สุดใน 8 เขต จาก 11 เขตหลักในกรุงเทพฯ รวมกับรถไฟฟ้า และทางด่วน ส่วนอีก 5 เขตก็อยู่ในอันดับที่ 2 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการลงทุนเครือข่ายใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมา
นายปกรณ์กล่าวถึงโอกาสในการทำตลาดพรีเพดว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกเปิดใช้งานเกิน 125% แล้ว แต่ปีที่ผ่านมาก็ยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้แบรนด์แฮปปี้ ถ้ามองในแง่ของการใช้งานดาต้าพบว่ามีการเติบโตมากกว่า 200% ในปีเดียว
โดยปีที่ผ่านมา แฮปปี้มีลูกค้าใหม่ประมาณ 1.7 ล้านราย ทำให้รวมแล้วปัจจุบันมีลูกค้าแฮปปี้อยู่ในระบบราว 22.5 ล้านเลขหมาย ซึ่งถ้ารวมลูกค้าโพสต์เพดเข้าไปด้วยจะทำให้ดีแทคมีลูกค้าทั้งหมด 25.3 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้มีลูกค้าที่ใช้งาน 3G ราว 3.5 ล้านราย และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเกิน 10 ล้านราย
“ถ้ามองเฉพาะในแฮปปี้ มีลูกค้าที่ใช้งานดาต้า (ทั้ง EDGE และ 3G) อยู่ประมาณ 7 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนใช้งานดาต้าราว 30% ขณะที่ในส่วนของโพสต์เพดสัดส่วนการใช้งานดาต้าอยู่ที่ราว 70% จึงตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้ลูกค้าพรีเพดน่าจะมีการใช้งานดาต้าเกิน 10 ล้านราย”
ซึ่งจากปริมาณการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สัดส่วนรายได้จาก ARPU (ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน) ของแฮปปี้ที่ 220 บาท แบ่งเป็นการใช้งานบริการเสริม 20% เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากช่วงต้นปี 2555 โดยเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการนำเสนอโปรโมชันแก่ลูกค้าที่ใช้งาน
“การทำตลาดแฮปปี้แบบเซกเมนต์ ร่วมกับแพกเกจซูเปอร์จิ๋ว ช่วยให้ลูกค้าพรีเพดหันมาใช้งานบริการเสริมมากขึ้น เพราะมีบริการให้เลือกหลากหลาย ที่คิดเป็นปริมาณการสมัครกว่า 100 ล้านครั้งต่อดือน”
บริการซูปเปอร์จิ๋วถือเป็นโปรโมชันเสริมในราคาเริ่มต้นที่ 5 บาท ให้ลูกค้ากดสมัครผ่านระบบอัตโนมัติเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต โทร. แม้กระทั่งใช้งานเฟซบุ๊ก เนื่องจากดีแทคมั่นใจว่าลูกค้าในระบบดีแทคมีการใช้งานเฟซบุ๊กผ่านโทรศัพท์มือถือมากที่สุดด้วยส่วนแบ่งกว่า 40% จาก ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กผ่านโทรศัพท์มือถือ 10 ล้านราย
ค่ารักษาเลขหมาย 1 บาทเหมาะสมแล้ว
นายปกรณ์กล่าวถึงเรื่องการยื่นข้อเสนอ กสทช. ในประเด็นของการขอเก็บค่ารักษาเลขหมาย 1 บาทต่อวันกรณีลูกค้าไม่มีการใช้งานต่อเนื่องเกิน 30 วันว่า ทางดีแทคก็ได้มีการยื่นเรื่องดังกล่าวไปยัง กสทช.เช่นเดียวกัน เพียงแต่เอไอเอสอาจมีการยื่นก่อน จึงทำให้ข่าวที่ออกมามีเพียงแต่เอไอเอสเท่านั้น ซึ่งในประเด็นนี้มองว่า กสทช.ควรต้องคำนึงถึงค่าบำรุงรักษาเลขหมายในระบบด้วย ไม่ใช่คิดเฉพาะค่าเลขหมายที่จ่ายให้แก่ กสทช.
โดยการเก็บค่ารักษาเลขหมาย มีขึ้นเพื่อช่วยลดปริมาณหมายเลขในตลาด เพราะพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคชาวไทยจะนิยมเปลี่ยนซิมใหม่ ส่วนซิมเก่าก็ทิ้งไว้ ดังนั้นในการคิดบริการค่ารักษาเลขหมายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไม่มีการใช้งานเกิน 30 วัน ดังนั้นถ้าลูกค้ายังมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการคิดค่าบริการดังกล่าวแต่อย่างใด
“การขอเก็บค่ารักษาเลขหมายก็เป็นเหมือนข้อกำหนด ที่ช่วยให้ลูกค้าที่ไม่ใช้งานปิดเบอร์ และนำเบอร์กลับมาให้บริการลูกค้ารายอื่นต่อไปแทน เป็นการช่วยรักษาทรัพยากรของชาติด้วยเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วก็จะมีข้อยุติออกมา”
Company Relate Link :
Dtac
ที่มา: manager.co.th