"น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" กำลังเป็นรัฐมนตรีที่น่าสงสารที่สุดในครม. "ยิ่งลักษณ์" เพราะไร้อำนาจ ถูกผู้บริหารใต้สังกัดสอนมวย หลังเตือนสติ กสท ที่มีแผนปิดระบบซีดีเอ็มเอว่าควรรอให้ปัญหาข้อกฏหมายระหว่างกสทกับกลุ่มทรูชัดเจนก่อน ไม่งั้นลูกค้าอาจถูกลอยแพและอาจเจอ ม.157 คล้อยหลัง 24 ชม. "กิตติศักดิ์ ศรีประเสิรฐ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท ตอกรัฐมนตรีหน้าหงาย อ้างจำเป็นต้องปิดระบบภายใน 26 เม.ย.ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม คนในวงการชี้เส้นทางที่ป.ป.ช.ขีดให้อดีตซีอีโอ กสท อย่าง "จิรายุทธ รุ่งศรีทอง" เดินอาจไม่เปลี่ยวเหงาอีกต่อไปเพราะอนาคตอาจมี "กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ" เดินเป็นเพื่อนร่วมทาง นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสิรฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า บอร์ดกสทได้อนุมัติการขยายเวลาปิดโครงข่ายโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอทั้ง 25 จังหวัดภาคกลาง และโครงข่ายซีดีเอ็มเอใน 51 จังหวัดภูมิภาค โดยให้ลูกค้าทั้งหมดโอนย้ายมาใช้บริการ 3G My บนความถี่ 850 MHz ของกสทที่ให้บริการด้วยเทคโนโลยี HSPA แทน ภายในวันที่ 26 เม.ย.ที่จะถึงนี้
จากเดิมที่ต้องปิดระบบตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจาก กสท มีลูกค้าในระบบซีดีเอ็มเอจำนวนมากถึง 160,000 ราย แบ่งเป็นลูกค้าส่วนกลางจำนวน 40,000 ราย และลูกค้าส่วนภูมิภาคจำนวน 120,000 ราย จึงขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 เดือน เพราะต้องใช้เวลาในการโอนย้ายลูกค้าทั้งหมด
โดยขั้นตอนต่อไป กสท จะประสานกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเสนอแผนการรองรับลูกค้า และการจูงใจ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้บริการ และในขณะที่กสทช.ก็ต้องดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการต่อเนื่องเช่นกัน
"ปัญหาเดียวที่กสทช. กังวลคือถ้าโครงข่ายยังมีลูกค้าอยู่ก็ยังปิดไม่ได้ ซึ่งเราได้ประสานกับกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคแล้วว่าเราได้ทำดีที่สุด และมีโครงการเยียวยาอะไรบ้าง"
ส่วนสาเหตุที่ กสท ต้องรีบดำเนินการปิดระบบซีดีเอ็มเอเนื่องจากหากยังเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเออยู่จะสร้างความเสียหายในการดูแลลูกค้ากว่า 100 ล้านบาทต่อเดือนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดและเชื่อว่าจะสร้างความเสียหายสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ กสท ได้ให้ความใส่ใจในการดูแลลูกค้าและการบริหารจัดการองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนราชการเนื่องจากอยู่ภายใต้การบริหารงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
"ถึงแม้สัญญาระหว่าง กสท ที่ทำร่วมกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น บนความถี่ 850 MHz ซึ่งปัจจุบันยังคงมีปัญหาในเรื่องของข้อกฏหมายในสัญญาที่ต้องมีการตรวจสอบ และกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาจากหลายหน่วยงานอยู่ซึ่งมีความไม่แน่นอนอยู่นั้น แต่ กสท ก็ต้องบริหารความไม่แน่นอนให้งานออกมาดีที่สุด ถ้าต่อไปตัวสัญญาดังกล่าวไม่มีปัญหาแล้วเราต้องแบกภาระ 2 โครงข่าย กสท ก็จะมีปัญหาอยู่ดี ทุกมิติมีปัญหาหมด ก็ต้องหาทางที่สมดุลย์ที่สุด"
นอกจากนี้บอร์ดกสท ยังมีมติอนุมัติงบประมาณกว่า 350 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจัดหาอุปกรณ์ในการทำแคมเปญโปรโมชันจำนวน 200 ล้านบาท และนำไปบริหารเน็ตเวิร์กโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพจำนวน 150 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยจูงใจ และรองรับการโอนย้ายลูกค้าซีดีเอ็มเอ มายังระบบ 3G My ซึ่งในตอนนี้มีลูกค้าเข้ามาใช้งานในระบบแล้วราว 150,000 ราย
***รมว.ไอซีทีไร้น้ำยากำกับดูแล ทั้งหมดที่นายกิตติศักดิ์ให้สัมภาษณ์ข้างต้น ก่อนหน้านั้น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ระบุว่าการที่กสทจะปิดโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอในประเทศไทยแล้วให้ลูกค้าทั้งหมดโอนย้ายมาใช้บริการ 3G My บนความถี่ 850 MHz นั้นมองว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่เร็วเกินไปเนื่องจากระบบ 3G My เป็นการทำสัญญาระหว่างกสทที่ทำร่วมกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น บนความถี่ 850 MHz ซึ่งปัจจุบันยังคงมีปัญหาในเรื่องของข้อกฏหมายในสัญญาที่ต้องมีการตรวจสอบ และกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาจากหลายหน่วยงานอยู่
ไม่ว่าจะเป็นกสทช.โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติให้กสท และทรู ไปดำเนินการแก้ไขสัญญาจำนวน 6 ข้อให้เป็นไปตามมาตรา 46 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) แม้ที่ผ่านมา กสท ได้ลงนามแก้ไขสัญญาดังกล่าวเสร็จแล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ บริษัท บีเอฟเคที ของกลุ่มทรู ในฐานะผู้ติดตั้งและให้บริการโครงข่ายให้กับ กสท เช่าเพื่อมาทำบริการขายส่งให้บริษัทย่อยของทรูทำบริการ 3G ในอีกทอดหนึ่ง ก็อยู่ระหว่างพิจารณาจากกสทช.ว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 67 ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ โดยดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตหรือไม่
อีกทั้งสัญญาดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าการทำสัญญา 3G เข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) หรือไม่ ก่อนจะดำเนินการแก้ไขสัญญาต่อไป จากนั้นจะต้องส่งแผนและแนวทางการแก้ไขสัญญาเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงไอซีทีดังนั้นกสทควรที่จะรอกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จภายในเดือนก.พ.นี้
"หากกฤษฎีกาชี้ว่าเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ร่วมทุนสัญญาก็เป็นอันโมฆะ โดย ป.ป.ช.จะต้องเข้ามาตรวจสอบ จากนั้นจึงส่งฟ้องศาลต่อไป ถ้าหากกสทรีบดำเนินการย้ายลูกค้าจากซีดีเอ็มเอไปอยู่ 3G My ทั้งหมด เท่ากับลอยแพลูกค้าอยู่กลางอากาศ เนื่องจากปิดระบบเก่าไปแล้ว แถมระบบใหม่ก็ผิดกฏหมายอีก แล้วแบบนี้ลูกค้าจะไปอยู่ไหน"
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (สทช.) ได้ยื่นหนังสือถึงประธานป.ป.ช.กรณีการตรวจสอบสัญญา ระหว่าง กสท กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยระบุว่านับตั้งแต่ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ตามที่องค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ได้ยื่นเรื่องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบสัญญาโดยมีเมธี ครองแก้ว กรรมการป.ป.ช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการนั้น
คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555 ชี้มูลความผิดนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่กสท และเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องว่าเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นหรือปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในการทำสัญญากับกลุ่มทรูที่ขัดต่อกฎหมาย 3 ฉบับ แต่จนถึงขณะนี้ระยะเวลาผ่านมากว่า 8 เดือนแล้วกลับไม่มีรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการสรุปผลการไต่สวน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาชี้ขาดแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่รมว.ไอซีทีส่งเรื่องให้ดีเอสไอ ตรวจสอบสัญญาการซื้อขายกิจการระหว่างกสทกับกลุ่มฮัทช์ ว่าทำไมถึงไม่ถูกดำเนินการตามสัญญาทั้งๆที่มีการเซ็นสัญญาผูกพันกันไปแล้ว จนทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทรูเข้าซื้อกิจการฮัทช์ได้สำเร็จ โดยระยะเวลาเนิ่นานกว่า 6-7 เดือนแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบเช่นกัน รวมทั้งยังมีประเด็นที่ควรมีคนรับผิดชอบอย่างกรณีกสทลงทุนระบบซีดีเอ็มเอ 51 จังหวัดไป 7 พันล้านบาท แต่ให้บริการไปยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน ก็เลิกระบบหันไปหา HSPA แทน ในขณะที่สัญญากับกลุ่มทรูยังคลุมเครือและถูกตรวจสอบ กลับมีการทยอยรื้อถอนระบบซีดีเอ็มเอ ที่เป็นทรัพย์สินของกสท เปลี่ยนเป็น HSPAซึ่งหากท้ายสุดสรุปว่าสัญญา HSPA ผิด ก็สมควรต้องมีคนรับผิดชอบในเรื่องนี้เช่นกัน
"กสท ควรต้องรอบคอบ แม้จะช้าหน่อยก็ต้องรอเพื่อลดความเสี่ยงทางกฎหมาย เพราะเดี๋ยวจะเข้าข่ายทำความผิดเสียเองและเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทางอาญาได้ ตามมาตรา 157" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวเตือนสติก่อนหน้านี้ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่านายกิตติศักดิ์ไม่สนใจสิ่งที่รมว.ไอซีทีมีคำสั่งออกมา ก็เป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าวันนี้รมว.ไอซีทีกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท ใครกำกับดูแลใคร หรือ ใครมีอำนาจมากกว่ากันแน่ หรือนายกิตติศักดิ์ รับคำสั่งใครที่มีอำนาจเหนือ น.อ.อนุดิษฐ์ จนทำให้คำเตือนรมว.ไอซีทีเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่ต้องปฏิบัติหรือให้ความใส่ใจใดๆทั้งสิ้น
Company Relate Link :
ไอซีที
กสท
ที่มา: manager.co.th