นักวิชาการชี้ กสท เปลี่ยนเทคโนโลยี เลิก CDMA หันไปทำ 3G HSPA ไม่คุ้มค่า ได้ไม่เท่าเสีย ชี้เทคโนโลยีจะตายในอีก 3-4 ปีข้างหน้า เผยซื้อฮัทช์มีอำนาจต่อรองสูงเพราะเป็นเจ้าของความถี่ ควรเร่งซื้อมาปั๊มเงินทำประโยชน์ก่อนหมดอายุแล้วลุยทำ 4G LTE คุ้มค่ากว่ากันเยอะ
นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า การที่บริษัท กสท โทรคมนาคม มีแผนเปลี่ยนเทคโนโลยีจาก CDMA หันมาลงทุน 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA แทน หากไม่สามารถซื้อกิจการบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย (ฮัทช์) ได้นั้น การลงทุนใหม่ด้วย HSPA ถือว่าไม่มีเหตุผลเนื่องจากอายุของเทคโนโลยีดังกล่าวจะหมดลงในอีก 3-4 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับ CDMA เนื่องจากขณะนี้โลกของเทคโนโลยีไร้สาย กำลังมุ่งเข้าสู่เทคโนโลยี 4G หรือ LTE ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบและจะแพร่หลายในเชิงพาณิชย์มากขึ้นในอีก 3-4 ปีข้างหน้า
'การที่ กสท มีแผนสำรองอัปเกรดความถี่เดิมเป็น 3G ด้วย HSPA หากซื้อฮัทช์ไม่สำเร็จ เป็นวิธีที่ไม่มีเหตุผลเลย เพราะอย่างที่รู้ๆ กัน HSPA คือระบบ 3.9G ที่อายุเทคโนโลยีจะหมดลงในอีก 3-4 ข้างหน้า กว่า กสท จะจัดซื้อจัดจ้างประมูล ติดตั้งโครงข่ายใหม่ ก็ใช้เวลาไปร่วมปีครึ่ง ยิ่งทำให้เหลือเวลาใช้งาน HSPA สั้นลงไปอีก'
ทั้งนี้การลงทุนด้าน HSPA ถึงจะมีต้นทุนที่ต่ำก็จริง แต่สาเหตุที่ราคาอุปกรณ์ถูกเป็นเพราะอายุการใช้งานเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว
หากพิจารณาให้รอบด้านถึงเทคโนโลยีปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตแล้ว จะเห็นว่าการที่ กสท เข้าไปซื้อกิจการฮัทช์มีเหตุผลมากกว่า เพราะราคาสามารถต่อรองกันได้ เนื่องจากฮัทช์เป็นเพียงผู้ทำการตลาด ส่วนบริษัท บีเอฟเคที ประเทศไทย จำกัดเป็นผู้ติดตั้งและให้เช่าโครงข่าย ส่วน กสท เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ ซึ่งอำนาจการต่อรองย่อมสูงกว่า
'การซื้อฮัทช์เป็นการซื้อของที่มีอยู่แล้ว มาเร่งปั๊มเงินทำประโยชน์ให้สูงสุดก่อนเทคโนโลยีจะหมดอายุ ซึ่งคุ้มค่าและคุ้มทุนได้เร็วกว่า'
อย่างไรก็ตามการนำความถี่ 850MHz มาให้บริการ 3G HSPA นั้น กสท ไม่สามารถทำได้ทันทีเพราะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก่อนเพราะความถี่ดังกล่าวได้รับอนุญาตให้บริการแบบอนาล็อกเท่านั้น ดังนั้นการนำมาให้บริการดิจิตอลจึงต้องขออนุญาตก่อนซึ่งจะกลายเป็นเรื่องยากเพราะที่ผ่านมา กสท ได้ฟ้องร้อง กทช.กรณีจัดสรรความถี่ 2.1GHz เพื่อให้บริการ 3G ส่งผลให้ กทช.ไม่มีอำนาจจัดสรรคลื่นความถี่จนกว่าศาลจะตัดสินชี้ขาด
นายอนุภาพกล่าวต่อว่า หาก กสท ไม่สามารถซื้อฮัทช์ได้ก็ควรมุ่งการลงทุนไปยังเทคโนโลยี LTE ซึ่งเป็น 4G จะคุ้มค่ามากกว่า เพราะ LTE แม้จะนิยมใช้บนย่านความถี่ 2.0-2.4GHz แต่ก็สามารถให้บริการบนย่านความถี่ 850MHz ได้เช่นกัน เพียงแต่ไม่มีการใช้งานแพร่หลายเท่านั้นและการลงทุนบนความถี่ 850MHz จะมีต้นทุนสูงกว่าการลงทุนบนความถี่ย่าน 2.0-2.4GHz เพราะปริมาณการผลิตอุปกรณ์มีจำนวนน้อยกว่า
แหล่งข่าวจาก กสท กล่าวว่าการเมืองกำลังจะทำให้องค์กรนี้วิบัติ เพราะความเห็นแก่ได้ ซึ่งหากเห็นกับหน่วยงานรัฐหรือชาติบ้านเมืองบ้าง ควรกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่าจะให้หรือไม่ให้ทำอะไร กรณี CAT CDMA เรียกได้ว่าลงทุนไปยังไม่ทันจะได้ขายหาเงินให้คุ้มค่า ทั้งๆที่ได้เปรียบอย่างมากใน 51 จังหวัดภูมิภาคเพราะเป็นบริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงน้องๆ 3G มีเวนเดอร์จำนวนมากเข้าแถวรอนำเข้าอุปกรณ์เพื่อมาช่วยทำตลาด แต่ความไม่แน่นอนของคนกุมนโยบาย กำลังทำให้โอกาสที่ดีทางการตลาดหลุดลอยไป
'จะทำอะไรก็รีบทำให้ชัดเจน เพราะธุรกิจเดินหน้าไม่ได้ ถ้าไม่มีความชัดเจนสักเรื่อง หากอยากล้มดีลฮัทช์เลิก CDMA แล้วเปลี่ยนเป็น HSPA ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าดีกว่าอย่างไร และควรรีบทำ เพราะลงทุน HSPA ก็เหมือนทำโครงการใหม่อีกเป็นปีกว่าจะเสร็จ ซึ่งระหว่างนี้ก็ควรตอบให้ได้ว่าจะให้กสทยืนอยู่จุดไหน ในธุรกิจสื่อสารไร้สาย'
Company Related Link :
CAT CDMA
ที่มา: manager.co.th