Author Topic: 3G ฉลุย ศาลไม่รับฟ้อง  (Read 678 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

3G ฉลุย ศาลไม่รับฟ้อง
« on: December 04, 2012, 01:43:00 PM »

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


ศาลไม่รับฟ้องคดีผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องระงับประมูล 3G พร้อมจำหน่ายคดีจากสารบบ ด้านเลขาธิการ กสทช.คาดออกใบอนุญาตให้เอกชนไม่เกิน 20 ธ.ค.นี้ ส่วน “พ.อ.เศรษฐพงค์” ยันไม่เคยทำผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาเป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างมากกว่า
       
       เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 3 ธ.ค. 55 ที่ศาลปกครองกลาง ห้องพิจารณาคดีที่ 6 นายสุชาติ ศรีวรกร ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครอง ได้นั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 2865/2555 ระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยมีคำสั่งไม่รับฟ้อง และไม่คุ้มครองชั่วคราว พร้อมให้จำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบ เนื่องจากผู้ฟ้องร้องไม่มีอำนาจ และไม่มีสิทธิในการฟ้องร้องคดีดังกล่าวตั้งแต่ต้นแล้ว
       
       ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่าน 2.1 GHz เป็นการดำเนินการที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 47 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 41 วรรค 1 และวรรค 7 จึงได้ร้องขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน และขอให้ศาลมีคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการระงับการออกใบอนุญาต 2.1 GHz (3G) ที่มีการประมูลไปเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาเอาไว้ก่อนด้วย
       
       โดยสาเหตุที่ศาลไม่รับคำร้องคดีดังกล่าวแม้ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจตรวจสอบเรื่องต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ใช่ข้าราชการ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานท้องถิ่น ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจตีความเรื่องคุณสมบัติของ กสทช.ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักได้
       
       อีกทั้งผู้ฟ้องคดีก็ยอมรับในสำนวนคำร้องว่าไม่มีอำนาจตรวจสอบ กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่ได้รับสิทธิให้ปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการ กสทช.ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ให้สิทธิและอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่แก่ กสทช.
       
       ดังนั้นศาลจึงไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา แต่ยอมรับว่าการพิจารณาคำสั่งคดีดังกล่าวตุลาการมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ แต่ศาลไม่ขออ่านความเห็นต่าง
       
       ด้านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จะนำคำสั่งศาลไปรายงานที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งความเห็นของตุลาการเสียงข้างน้อยเพื่อพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ แต่ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ตั้งตัวเป็นคู่กรณีของ กสทช.ที่จะดำเนินการฟ้องร้องเหมือนกรณีทั่วไป แต่เป็นเพียงการทำหน้าที่เพื่อดูแลสาธารณประโยชน์
       
       นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จะนำคำสั่งศาลไปเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กทค.ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้เพื่อพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการเรื่องการออกใบอนุญาต 3G ต่อไป รวมทั้งจะมีการรายงานเรื่องผลสอบพฤติกรรมการฮั้วประมูล 3G เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาที่คณะทำงานไม่พบว่ามีการฮั้ว โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้พิจารณาในวาระเดียวกันด้วย
       
       “หากบอร์ด กทค.มีมติเห็นชอบแล้วก็น่าจะใช้เวลาดำเนินการให้ใบอนุญาตแก่เอกชนทั้ง 3 รายได้ไม่เกินวันที่ 20 ธ.ค.นี้”
       
       พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค.กล่าวว่า เป็นที่น่าพอใจสำหรับคำสั่งศาล ที่ไม่รับฟ้องคดี 3G โดยขั้นตอนต่อไป กทค.จะเดินหน้าออกใบอนุญาต 3G ให้ผู้เข้าร่วมประมูลที่ชนะการประมูลภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถให้บริการ 3G ในหัวเมืองใหญ่ๆ ได้ภายใน 3-4 เดือน
       
       “เรามองว่าอาจมีการฟ้องร้องอีกก็เป็นไปได้ แต่ที่ผ่านมาดูแล้วขั้นตอนการดำเนินการของประกาศ และตัวกฎหมายก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ที่ผิดคือเรื่องของความเห็นที่ไม่ชอบของแต่ละฝ่ายมากกว่า ซึ่งส่วนตัวไม่ได้กังวลเรื่องใดๆ ส่วนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ก็เป็นเรื่องของตัวบุคคลไม่เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายของการออกใบอนุญาต ซึ่งมั่นใจว่าที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรผิด”
       
       ขณะเดียวกัน กทค.ก็จะเดินหน้าเรียกคืนความถี่ย่าน 1800 MHz จากบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่ให้สัมปทานแก่บริษัททรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) ที่จะสิ้นสุดสัญญาในเดือน ก.ย. 2556 ตาม พ.ร.บ.กสทช. 2553 โดย กสทช.จะนำความถี่ดังกล่าวไปเปิดประมูลภายในปีหน้า
       
       ***เอกชนยิ้มรอใบอนุญาต 3G
       
       นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการธุรกิจโมบายล์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคำตัดสินของศาล โดยหลังจากนี้ผู้ประกอบการทุกรายคงรอความชัดเจนจาก กสทช. และความชัดเจนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ใบอนุญาตซึ่งผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะเริ่มให้บริการ 3G
       
       นายปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานผลิตภัณฑ์และบริการดิจิตอล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) กล่าวว่า ในเรื่องการออกใบอนุญาตเป็นขั้นตอนการดำเนินการของ กสทช. โดยเอไอเอสมีความพร้อมที่จะขยายโครงข่ายการให้บริการ 3G เต็มที่
       
       นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) กล่าวว่า หวังว่าจะเห็น กสทช.เดินหน้าให้ใบอนุญาตได้ เพื่อให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเดินหน้าต่อไป และเป็นการตอบสนองผู้บริโภคโดยประเทศไทยพร้อมมานานแล้วสำหรับ 3G
       
       Company Relate Link
       กสทช.

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)