ท่ามกลางข่าวการเลิกจ้างพนักงานในหลายๆ ธุรกิจ เบรกการผลิตทุกรูปแบบตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวทั่วโลก "พานาโซนิค" ยักษ์ใหญ่เครี่องไฟฟ้าญี่ปุ่น 1 ในบริษัทที่มีกระแสการเลิกจ้างออกมาต่อเนื่อง และครั้งล่าสุดที่เรียกเสียงฮือฮาด้วยการปลดพนักงานทั่วโลก 1.5 หมื่นคน จาก 27 โรงงาน แม้ว่าในครั้งนั้นฐานผลิตในเมืองไทยจะไม่โดนหางเลขไปด้วย เพื่อความอุ่นใจว่าสุขภาพของ 20 บริษัทในกลุ่มพานาโซนิคเมืองไทยยังแข็งแรง
"ฮิโรยูกิ มุโตะ" ผู้อำนวยการส่วนการขายและการตลาด บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ย้ำชัดตลอดการสัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความแข็งแกร่งและแผนสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ถึงแม้บริษัทแม่มีข่าวการเลิกจ้างและทยอยปิดโรงงานต่อเนื่อง แต่ฐานการผลิตในเมืองไทยยัง แข็งแรง ไม่มีการเลิกจ้างหรือปิดโรงงานแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ต้องทำมากขึ้นคือการปรับตัวเพื่อสู้กับภาวะวิกฤตและความยากลำบาก
"มุโตะ" ชี้แจงว่า ก็เหมือนกับทุกๆ ธุรกิจที่ต่างได้รับผลกระทบ การปรับตัวของพานาโซนิค นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบรรดาพนักงานให้ดีเยี่ยมแล้ว ทีมการตลาดและการขายจะเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากขึ้นหลังจากนี้ เพื่อเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้นตามแผนที่วางไว้
การเพิ่มงบฯสำหรับกิจกรรมทางการตลาดในทุกรูปแบบจะเป็นมากขึ้นกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา จากปกติใช้ประมาณ 10% ของยอดขาย แต่จะเพิ่มเท่าไหร่นั้น ขออุบไว้เป็นความลับและรอดูยอดขายที่จะจบปีบัญชีสิ้นเดือนมีนาคมนี้ก่อน
"เราตั้งเป้าเพิ่มมาร์เก็ตแชร์และยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะในกลุ่มเรือธงหลักอย่างพลาสม่าทีวี แอลซีดีทีวีหรือกล้องดิจิทัลที่จะมีรุ่นใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง"
ผู้อำนวยการส่วนการขายและการตลาดพานาโซนิคเล่าว่า ทีมการตลาดจะเข้ามาโฟกัสและเพิ่มน้ำหนักในกลุ่มสินค้าไฮไลต์ที่พานาโซนิคตั้งเป้าเป็นยอดขายที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ซึ่งในภาวะวิกฤตเป็นธรรมดาที่ต้องมีบางกลุ่มสินค้าที่ชะลอตัวลง แต่ก็มีบางสินค้าที่ไปได้ดี ทำให้ฐานการผลิตแอลซีดีทีวีในเมืองไทย
นอกจากไม่ลดแล้วยังมีแนวโน้มที่ต้องขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับดีมานด์ของตลาด รวมทั้งการเร่งครีเอตดีมานด์ตลาดให้เกิดจากกิจกรรมทางการตลาดหลากหลายรูปแบบ
การเพิ่มความสำคัญให้กับทีมมาร์เก็ตติ้ง นอกจากงบฯการตลาดที่จะเพิ่มขึ้นแล้วนั้น จำนวนทีมงานจะต้องเพิ่มขึ้นซึ่งมาจากทั้งการรับเพิ่มและการโยกคนจากทีมอื่นๆ เข้ามาเสริมความแกร่งของทีมขาย
เมื่อย้อนถามถึงภาวะกำลังซื้อของตลาดและภาพรวมเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ การปิดบัญชีรายได้สิ้นเดือนมีนาคมนี้ให้ได้ตามเป้าหมายคงเป็นเรื่องที่ยาก
คีย์แมนพานาโซนิคตอบทันทีว่า ต้องทำให้ได้ แม้ว่าจะลำบาก ตอนนี้ทุกคนก็พยายามอยู่และทำงานอย่างหนัก ซึ่งเมสเซจหลักที่พานาโซนิคจะสื่อไปถึงลูกค้าสำหรับรูปแบบการทำตลาดหลังจากนี้ไป คือการเน้นที่คุณภาพสินค้าเป็นหลัก
เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่าเมื่อเข้าสู่ภาวะกำลังซื้อในตลาดลดลง ลูกค้าต่างต้องการซื้อสินค้าราคาถูก และคนขายมักจะผลิตสินค้าที่ซื้อง่ายขายคล่อง สินค้าที่ไม่มีคุณภาพผลิตได้ไม่ยากเลยและน่าจะขายได้มาก ถ้าอยากจะทำธุรกิจแบบอยู่แค่ 3-4 ปี แต่พานาโซนิคคงไม่ทำ
การบริหารกลุ่มลูกค้าในตลาดแมสและไฮเอนด์จะเป็นคำตอบสำหรับพานาโซนิค ราคาต้องเหมาะสมกับคุณภาพ เพราะ "ฮิโรยูกิ มุโตะ" เชื่อว่า ลูกค้าไม่ได้ต้องการของที่ราคาถูกที่สุด แต่อยากซื้อสินค้าที่ราคาสมเหตุสมผลกับคุณภาพ และที่ผ่านมาพานาโซนิคได้ทยอยปรับลดราคาสินค้าให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้มาโดยตลอด
เช่นเดียวกับช่องทางขายที่ต้องสื่อสารให้ออกมาในลักษณะเดียวกัน ทำให้การจัดดิสเพลย์หน้าร้านจะเน้นสื่อถึงคุณภาพสินค้าที่คุ้มราคากับเม็ดเงินที่ลูกค้าต้องจ่าย