มรสุมเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับไหน คงจะโดนแรงสั่นสะเทือนไปไม่มากก็น้อย
แต่ด้วยหัวใจของนักธุรกิจหลายรายยังคงมุ่งมั่นว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ แม้ว่าผลประกอบการปีที่ผ่านมาอาจจะถูกสั่นคลอน
ไม่เว้นแม้แต่ "อินเทล" ผู้ผลิตโปรเซสเซอร์รายใหญ่ของโลกจากแดนมะกัน และเป็นผู้นำเทคโนโลยีบนโลกไอที ต่างต้องกุมขมับกับรายได้ที่ลดลงในปีที่ผ่านมา พร้อมกับข่าวความเคลื่อนไหวของตลาดไอทีที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างฟันธงว่าปีนี้อยู่ในขั้น "หดตัว"
ถึงกระนั้น "เอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังมองเห็นความหวังและอนาคตของธุรกิจ อินเทลในประเทศไทย และการเติบโตของตลาดไอทีในแง่มุมบวก "ประชาชาติธุรกิจ" ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษสะท้อนมุมมองและแนวทางความอยู่รอดของธุรกิจ ไอทีไทย
- แผนรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจปีนี้อย่างไร
ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่มีใครรอดจากมัน มีผลกระทบในทุกภาคส่วน แต่ธุรกิจยังคงเดินต่อ โครงสร้างบริษัทยังมีอยู่ คนยังคงทำงานต่อ มีส่วนที่เป็นผลผลิตออกมา มีรูปแบบสินค้าที่มีการซื้อขายเกิดขึ้น แต่ภาวะถดถอยทำให้เกิดการซื้อขายที่น้อยลง ทั้งโลกจึงมุ่งเน้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น
สำหรับตลาดไอทีไทย อินเทลมองว่าตลาดต่างจังหวัดยังมีศักยภาพที่จะใช้จ่าย เนื่องจากยังมีการใช้ไอทีน้อย เมื่อ เปรียบเทียบกับคนในเมือง ดังนั้นแนวโน้มการเติบโตและกิจกรรมส่วนใหญ่ปีนี้จะอยู่ที่ ต่างจังหวัด
- โอกาสทางธุรกิจปีนี้อยู่ที่ต่างจังหวัด
ต่างจังหวัด เดสก์ทอปและโน้ตบุ๊ก คอนซูเมอร์ยังมีโอกาสโต ปัจจุบันตลาด โน้ตบุ๊กเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล แม้ว่าดีกรีอาจจะไม่มากเท่าใน กทม. ความต้องการใช้โน้ตบุ๊กเพื่อการเรียนจึงใหญ่มาก ถ้าไม่มีก็อาจทำให้เสียเปรียบทางการศึกษา ขณะเดียวกับเด็กมัธยม ประถมจะพบว่าพ่อแม่ซื้อพีซีเครื่องแรกให้กับลูกในระดับชั้นที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ ตอนนี้ลงมาถึงระดับ ป.1 แล้ว
เพื่อสอดรับกับภาพที่เกิดขึ้น อินเทลจะทำตลาดต่างจังหวัดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ใช้ทรัพยากรของเราไปอยู่ในต่างจังหวัดมากขึ้น วันนี้อินเทลมีทีมต่างจังหวัด 6 คน ประจำพื้นที่ 4 คน ดูแต่ละภาค และอีก 2 คน ที่อยู่ ส่วนกลาง เดิมอินเทลจะไม่ครอบคลุมเชนสโตร์ขนาดใหญ่อย่างเพาเวอร์บาย ไอทีซิตี้ และร้านค้าของแบรนด์ช็อปทั้งหลาย เพราะเดิมจะเน้นดูแลเฉพาะโลคอลรีเซลเลอร์ แต่ต่อไปนี้จะทำตลาดครอบคลุมหมดตั้งแต่โลคอลรีเซลเลอร์, รีเซลเลอร์ของแบรนด์ต่างๆ และเชนสโตร์ไอที จะเข้าถึงและโฟกัสมากขึ้นทั้งทีมงาน เข้าถึงร้านค้า เพื่อสนับสนุนการขาย การเทรนนิ่งและการทำโคโปรโมชั่นทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
ขณะเดียวกัน ปีนี้จะเห็นเน็ตทอป (พีซี ตั้งโต๊ะราคาประหยัดใช้อะตอมซีพียู) จะเข้ามามีบทบาท และเป็นตัวชักจูงให้ตลาด ต่างจังหวัดเกิดการซื้อคอมพิวเตอร์มากขึ้น ทำให้เห็นการซื้อพีซีเครื่องแรกง่ายกว่าหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่เน็ตบุ๊กก็จะยังมีการขยายบทบาทเพิ่มมากขึ้น
- ระดับราคาของ "เน็ตทอป"
ราคาจะต่ำกว่าเดสก์ทอประดับล่างทั่วไป โดยจะเข้ามาเติมเต็มในตลาดพีซีตั้งโต๊ะระดับราคาไม่ถึงหมื่นบาท บวกกับที่ปีนี้การแข่งขันที่รุนแรงของตลาดอาจทำให้ราคาเน็ตทอปเป็นที่น่าสนใจกับผู้ซื้อมากขึ้น โดยตลาดเน็ตทอปส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ใน กทม.คนจะซื้อเดสก์ทอปปกติมากกว่า
ปัจจุบันมีเอเซอร์ เอชพี และอัสซุส ที่มีเน็ตทอปมาจำหน่ายแล้ว แต่ไตรมาส 2 จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ทั้งในส่วนอินเตอร์แบรนด์และโลคอลแบรนด์
จุดต่างเน็ตทอปกับเดสก์ทอปธรรมดาคือประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้นที่จะไม่ใช่ perfomance พีซีตั้งโต๊ะที่ดีเลิศ แต่มีฟังก์ชั่นครบ เล่นอินเทอร์เน็ตได้ แต่ไม่สามารถสร้างกราฟิก ทำงาน 5-10 งานพร้อมๆ กันได้ เพียงพอสำหรับเด็กและผู้ใช้งานเครื่องแรก
วันนี้เซ็กเมนต์ที่น่าจะมีการเติบโตเป็นเซ็กเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือคอนซูเมอร์ ส่งผลให้กลุ่มร้านค้าปลีกและรีเทลที่เป็นเชนสโตร์จะมีบทบาทในการนำสินค้าไปถึงมือลูกค้ามากขึ้นทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด
- ภาพรีเทลจะเปลี่ยนไปอย่างไร
รีเทลเชนสโตร์จะมีการเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ใน 1-2 ปีนี้ท่ามกลางวิกฤต ทั้งร้านค้าปลีกที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างแบรนด์ต่างๆ กับรีเซลเลอร์ มีการตกแต่งที่เป็นโมเดลเดียวกัน เป็นลักษณะแบรนด์ช็อป พร้อมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอธิบายสินค้าและบริการ อีกประเภทไอทีสโตร์ เช่น เพาเวอร์บาย ไอทีซิตี้ รวมถึงโมเดิร์นเทรดอย่างเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี ซึ่งสมัยก่อนโมเดิร์นเทรดจะขายเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ตอนนี้สินค้าไอทีเริ่มถูกรวมเข้ามาอย่างชัดเจน ซึ่งกลุ่มคอนซูเมอร์และเอสเอ็มอีจะใช้บริการจากช่องทางนี้ทำให้รีเทลโตขึ้นมาก ในประเทศที่เจริญแล้วจะเห็นร้านค้าปลีกโตได้ถึง 70-80% ของมูลค่าสินค้าไอทีที่มีการซื้อขาย ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้แข็งแรง
- บทบาทของโลคอลแบรนด์
ปัจจุบันชัดเจนว่า กลุ่มสินค้าโน้ตบุ๊กส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการข้ามชาติ ส่วนเดสก์ทอปโลคอลแบรนด์ยังทรงตัวอยู่ในตลาดได้ และกลุ่มผู้ประกอบการโลคอล แบรนด์ก็ปรับตัวหันมาเป็นตัวแทนขาย โน้ตบุ๊กอินเตอร์แบรนด์เสริม เพราะต้องยอมรับว่าวันนี้โลคอลโน้ตบุ๊กอยู่ในสภาพที่แข่งขันได้น้อยกว่าแบรนด์ต่างชาติ มีเพียง SVOA ที่มีสินค้าครบทั้งโน้ตบุ๊กและเดสก์ทอป
- อินเทลสนับสนุนโลคอลแบรนด์อย่างไร
ถ้าเป็นแบรนด์ต่างชาติเขามีกำลังทรัพย์อยู่แล้ว แต่โลคอลแบรนด์จะมีโปรแกรมเข้าไปช่วยในต่างจังหวัด โรดโชว์ร่วมกัน มีเทรนนิ่ง สัมมนา การศึกษา การโรดโชว์ โปรแกรมของอินเทลจะเน้นเข้าไปทำตลาดตามต่างจังหวัด ดึงรีเซลเลอร์เข้าร่วม จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมประมาณเดือน มี.ค.
- ราคาสินค้าที่ลดลงส่งผลต่อมูลค่าตลาด
ปี 2008 ยังมากกว่าปี 2007 แต่ปีนี้ไม่แน่ใจ เพราะปีนี้เน็ตบุ๊กก็เข้ามามีบทบาทมากกว่าเดิม และปีนี้ยากที่จะประเมินว่ามูลค่าตลาดจะเป็นอย่างไร แต่ถ้ามูลค่า ลดลง เราต้องขายให้ยูนิตสูงขึ้น หลายคนประเมินว่าอาจจะบวก 5-10%
ปีนี้ยังไม่พบปัญหาที่ผู้ประกอบการรายย่อยปิดตัว เทียบกับปี 1997-1998 จะเห็นชัดเจนมาก เกิดขึ้นเร็ว แต่วันนี้หนี้เสียยังต่ำ เพราะเข้มงวด ยังไม่เห็นสัญญาณอันตราย เพียงแต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำเป็นหน้าที่ที่เราต้องอธิบาย
- ปีนี้ถือว่ายากกว่าปีที่ผ่านมา
ปีที่แล้วยังไม่เห็นผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกเด่นชัดจนถึงไตรมาส 4 แต่ตัวเลขโดยรวมไม่ได้เลวร้าย กว่าที่คาดการณ์ไว้ ผลกระทบที่เกิดขึ้น เรายังมองเป็นบวก โดยภายในไทยเองยังดีอยู่ มีช่องทางโต แต่ระดับโลกอาจถดถอย ไทยถือว่าผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมยังน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับอเมริกาที่โดนหนักมาก เพราะเป็นตัวก่อวิกฤตและกระทบกับทุกอุตสาหกรรม
เอเชียยังเป็นทวีปที่มีการเติบโต ขณะที่ฝั่งอเมริกา EMEA (ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา) เจอผลกระทบค่อนข้างแรง อินเทลจึงทุ่มทรัพยากร คน เงินสนับสนุนต่างๆ มาตามทิศทางนี้ เอเชียยังอยู่ในฐานะที่ดี ไทยก็ยังดีอยู่ ทำให้เป็นผู้บุกเบิกในการทำตลาดหลายๆ อย่าง เช่น การทำ ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งไทยก็เป็นประเทศแรกๆ ที่โฆษณาผ่านออนไลน์ มีเว็บภาษาไทยที่แรกๆ ในอาเซียน
- ให้ความสำคัญกับออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
ทิศทางทำตลาดในอนาคตคงอยู่บนอินเทอร์เน็ต จากเดิมที่เราใช้สื่อทุกประเภท ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี ขณะที่สื่อออนไลน์เข้าถึงเป้าหมาย คือคนใช้พีซี เล่นเน็ต เราเข้าไปนำเสนอได้ง่ายกว่า ซึ่งอินเทลเป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้าไปตรงนั้น ปีนี้จะเน้นการทำโฆษณาและกิจกรรมการตลาดผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น จากปีที่แล้วที่ใช้งบฯ 30% ปีนี้สัดส่วนก็คงเพิ่มขึ้น สื่อสิ่งพิมพ์ยังมีอยู่ แต่ทีวีจะน้อยลง
ที่มา:
http://www.matichon.co.th