บริการ Google Wave ซึ่งเคยโด่งดังมากในอดีต วันนี้ถูกนับถอยหลังปิดบริการแล้ว
กูเกิล (Google) ประกาศยุติการพัฒนา 7 บริการตามนโยบายจัดระเบียบบริษัท ที่น่าสนใจคือหนึ่งในนั้นเป็นบริการกูเกิลเวฟ (Google Wave) ซึ่งเคยโด่งดังในยุคก่อนที่กูเกิลจะเปิดตัวบริการเครือข่ายสังคมกูเกิลพลัส (Google +) ด้านนักวิเคราะห์หวั่นการปิดบริการของกูเกิลอาจทำให้ยอดผู้ใช้บริการใหม่ลดลง
การปิดบริการแบบยกชุดของกูเกิลครั้งนี้ถือเป็นการประกาศที่กูเกิลเรียกว่า"clean"ครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์กูเกิล ก่อนหน้านี้ประกาศชัดเจนว่าต้องการจัดระเบียบผลิตภัณฑ์บริการออนไลน์ที่มีอยู่มหาศาลของบริษัทให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยจะตัดบริการที่ไม่ประสบความสำเร็จทิ้งไปเพื่อหันไปให้ความสำคัญกับบริการอนาคตไกลอย่างเต็มที่
Google Wave, Knol และ Google Gears คือ 3 ใน 7 บริการที่กูเกิลประกาศหยุดการพัฒนาในขณะนี้ โดยกูเกิลชี้แจงในบล็อคของบริษัทว่าการปิดบริการแบบยกชุดจะไม่มีผลกระทบใดๆเนื่องจากกูเกิลจะผูกพ่วงคุณสมบัติลงในผลิตภัณฑ์อื่น แต่จะทำให้กูเกิลลบภาพทิศทางของบริษัทที่มีมากมายเกินไปได้
"เป้าหมายของเราคือการสร้างประสบการณ์ผู้ใช้ที่ง่ายขึ้น ดีขึ้น และราบรื่นขึ้น" โดยทั้ง 7 บริการที่กูเกิลลงมือจัดระเบียบในครั้งนี้ ได้แก่
Google Wave - ระบบการทำงานร่วมกันจากระยะไกลแบบเรียลไทม์ ซึ่งพยายามผูกรวมระบบอีเมลและการส่งข้อความสนทนา (instant messaging) ให้เป็นเนื้อเดียวกัน
Google Bookmarks List - บริการแบ่งปัน bookmarks หรือรายการเว็บไซต์ที่ชื่นชอบให้แก่เพื่อน
Google Friends Connect - บริการให้ฟรีชุดคำสั่งแก่เว็บมาสเตอร์ ทำให้ผู้ดูแลเว็บไซต์สามารถเพิ่มคุณสมบัติด้านโซเชียลให้เว็บไซต์ตัวเองได้โดยการฝังโค้ดคำสั่ง
Google Gears - บริการที่ช่วยให้เว็บเบราว์เซอร์สามารถทำงานได้แม้จะไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (offline)
Google Search Timeline - กราฟแสดงประวัติผลการค้นหาซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ดึงข้อมูลมาใช้ได้ง่ายขึ้น
Knol - โครงการลักษณะเดียวกับ Wikipedia จุดประสงค์หลักคือการพัฒนาคอนเทนท์ออนไลน์ให้โลก
Renewable Energy Cheaper than Coal - โครงการพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม แต่ละบริการจะมีกำหนดปิดตัวที่แตกต่างกันไป เช่น Wave จะมีกำหนดเกษียณในเดือนเมษายนนี้ ช้ากว่า Knol ที่คอนเทนท์ทั้งหมดจะไม่สามารถเปิดชมได้ในเดือนตุลาคม
ทั้งหมดนี้ Richard Edwards นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัย Ovum ให้ความเห็นว่าบริการที่ปิดตัวลงจะช่วยฉายภาพการโฟกัสธุรกิจในอนาคตของกูเกิล สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาของบริษัทที่อุดมด้วยแนวคิดสดใหม่จากบุคลากรหัวกะทินับหมื่นในองค์กร แถมกูเกิลยังมีข้อมูลประวัติการค้นหาซึ่งแสดงความสนใจของชาวออนไลน์ทั่วโลกเป็นคำใบ้ในการพัฒนาบริการได้อย่างดี แน่นอนว่ามีบางแนวคิดเท่านั้นที่จะสามารถแจ้งเกิดได้
อย่างไรก็ตาม Edwards ชี้ว่ากูเกิลจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษหากต้องการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อื่นๆในอนาคต เพราะชาวออนไลน์อาจขาดความเชื่อมั่นในบริการกูเกิล จุดนี้ Edwards ยกตัวอย่างว่ากูเกิลควรดูตัวอย่างแอปเปิล (Apple) ซึ่งเปิดตัวสินค้าใหม่ราว 1 หรือ 2 ครั้งต่อปีเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่พอใจ
เหนืออื่นใด นักวิเคราะห์มั่นใจว่านับจากนี้ กูเกิลจะหันไปให้ความสำคัญกับบริการเครือข่ายสังคม "กูเกิลพลัส" เพื่อแข่งขันกับเฟซบุ๊ก (Facebook) อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบัน กูเกิลพลัสมีจำนวนผู้ใช่งาน 10 ล้านคนในช่วง 16 วันแรกของการเปิดให้บริการและขยายเป็น 40 ล้านคนในช่วง 100 วันแรก ทำให้กูเกิลพลัสเป็นเครือข่ายสังคมที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์
Company Related Link :
Google
ที่มา: manager.co.th