ซีอีโอเอชพี "Leo Apotheker" ยืนยันว่าพีซีทุกเครื่องของเอชพีในปี 2012 จะมีระบบปฏิบัติการ WebOS คู่กับ Windows โดยย้ำว่าจะมาคู่กันไม่ได้มาแทนที่กัน บนความหวังให้พีซีของเอชพีมีความสามารถของแท็บเล็ตแฝงอยู่ด้วย
ซีอีโอเอชพี "ลีโอ อโปเธอเกอร์ (Leo Apotheker)" ย้ำชัดเจน ปีหน้า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทุกเครื่องของเอชพีจะวางจำหน่ายพร้อมระบบปฏิบัติการเว็บโอเอส (webOS) ระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ซึ่งเอชพีได้มาจากการเข้าซื้อบริษัทปาล์ม (Palm) เมื่อปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ยังยิ้มได้เพราะเอชพีระบุว่าจะไม่ตัดใจจากระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) เพราะการติดเว็บโอเอสจะมีลักษณะ"ติดเพิ่ม"เพื่อให้พีซีของเอชพีทำงานได้เหนือชั้นกว่าเดิม
เอชพีหรือฮิวเล็ตต์-แพคการ์ดเคยเปิดเผยถึงแผนการติดตั้งระบบปฏิบัติการเว็บโอเอสลงในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในงานประชุมของบริษัทซึ่งเอชพีใช้เป็นเวทีเปิดตัว"ทัชแพด (TouchPad)"คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตซึ่งเอชพีเตรียมส่งออกมารบในปีนี้ โดยครั้งนั้นเอชพียังไม่ประกาศชัดเจนถึงกรอบปฏิบัติ ทั้งด้านเวลาและจำนวนเครื่อง การตอกย้ำครั้งนี้จึงทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าเอชพีไม่ได้วางแผนทำตลาดเว็บโอเอสในเฉพาะผู้บริโภคบางกลุ่มหรือ niche แต่จะเป็นตลาดวงกว้างที่ครอบคลุมผู้บริโภคเกือบทุกระดับ
สื่อต่างประเทศวิเคราะห์เรื่องนี้ว่าเป็นการเสริมดวงให้เว็บโอเอส เพราะการประกาศเช่นนี้ย่อมทำให้เว็บโอเอสมีแรงดึงดูดนักพัฒนาได้มากขึ้น และในทางปฏิบัติ เว็บโอเอสก็จะถูกเปิดเสรีให้ผู้บริโภคในวงที่กว้างกว่ามีสิทธิ์เข้าถึงและทดลองใช้ได้ด้วย
ที่สำคัญ การประกาศครั้งนี้ยังตีความได้ว่าเอชพีกำลังพยายามสร้างแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ไร้พรมแดน (massive platform) ที่ไม่ใช่แพลตฟอร์มสำหรับโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเท่านั้น แต่เป็นแพลตฟอร์มอุปกรณ์ที่ใช้ได้บนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ซึ่งเมื่อคำนึงถึงดีกรีการเป็นผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่ที่สุดในโลกของเอชพี จะพบว่าปลายปี 2012 ที่จะถึงนี้ คอมพิวเตอร์พีซีระบบปฏิบัติการเว็บโอเอสจะมีจำนวนถึง 10 ล้านเครื่อง ทำให้เว็บโอเอสเป็นระบบปฏิบัติการที่แพร่หลายไปโดยปริยาย
ระบบปฏิบัติการเว็บโอเอสนั้นถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 ข้อจำกัดเรื่องความไม่แพร่หลายทำให้ไม่ได้รับการตอบรับจากนักพัฒนาแอปพลิเคชันเท่าที่ควร โดยจำนวนแอปพลิเคชันในร้านปาล์มแอปคาตาล็อค (Palm App Catalog) ศูนย์รวมแหล่งดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสำหรับใช้บนอุปกรณ์เว็บโอเอสนั้นมีอยู่เพียง 6,000 แอปพลิเคชันเท่านั้น น้อยกว่า 350,000 แอปพลิเคชันที่สาวกแอปเปิลผู้ใช้อุปกรณ์ไอโอเอส (iOS) เช่นไอโฟนและไอแพดมี และห่างจาก 250,000 แอปพลิเคชันแอนดรอยด์ รวมถึง 9,000 แอปพลิเคชันวินโดวส์โฟนเซเว่น (Windows Phone 7) ระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนของไมโครซอฟท์
นอกจากนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าสิ่งที่เอชพีเตรียมไว้สำหรับเว็บโอเอสคือการทำให้เว็บโอเอสเป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกใช้งานในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ บนข้อแม้ว่าผู้บริโภคจะไม่ถูกกดดันให้ต้องทิ้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์ไป โดยอาจมาในรูปการนำคุณสมบัติบางอย่างของเว็บโอเอสมาเพิ่มจุดต่างในเดสก์ท็อบเอชพี เช่น การเพิ่มโหมดการทำงานแบบเว็บโอเอสเพื่อให้คอมพ์ตั้งโต๊ะของเอชพีสามารถบูตเครื่องได้เร็วพิเศษเพื่อใช้งานโปรแกรมมีเดียเพลเยอร์ที่เปิดค้างไว้ หรือการปรับระบบให้แอปพลิเคชันเว็บโอเอสสามารถทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ได้ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดยังไม่มีความแน่ชัดจากเอชพีในขณะนี้
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือคำให้สัมภาษณ์ของอโปเธอเกอร์ซึ่งสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานไว้ โดยซีอีโอเอชพีคนปัจจุบันแสดงจุดยืนที่สวนทางกับอดีตซีอีโอเอชพี "มาร์ก เฮิร์ด (Mark Hurd)" ซึ่งเน้นกลยุทธการลดต้นทุนมาโดยตลอด จุดนี้อโปเธอเกอร์เปิดเผยว่ามีแผนจะเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของเอชพีให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมอนาคตไกลในชายคาของเอชพี
หนึ่งในแผนการที่จะทำให้เอชพีมีนวัตกรรมได้โดยไม่ต้องใช้เวลารอนานคือการควบรวมกิจการกับบริษัทซอฟต์แวร์ แม้จะถูกมองว่าเป็นการ"ติดนิสัย"ของอโปเธอเกอร์ที่มาจากการร่วมงานกับบริษัทเอสเอพี (SAP) ช่วงก่อนหน้านี้ แต่ซีอีโอเอชพีก็ย้ำว่านี่คือนโยบายที่จะทำให้เอชพีสามารถให้บริการลูกค้าได้รอบด้านยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าคำพูดของซีอีโอเอชพีทำให้สายตาหลายคู่หันไปมองไมโครซอฟท์ ที่แม้จะไม่อกหักในทันทีแต่ก็แสดงถึงอาการที่น่าวิตกในอนาคต เนื่องจากการนำเสนอเว็บโอเอสบนพีซีได้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนชัดเจนว่า เอชพีต้องการนำเสนอเดสก์ท็อปพันธุ์ใหม่ที่ไมโครซอฟท์สร้างไม่ได้ โดยเฉพาะแนวคิดการให้ประสบการณ์แท็บเล็ตแก่ผู้ใช้เดสก์ท็อป ซึ่งไม่เคยปรากฏในแผนกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์มาก่อน
Company Related Link :
HP
Microsoft
ที่มา: manager.co.th