The King’s Speech กลายเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำการประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 83 พร้อมกวาดรางวัลต่าง ๆ อีก 3 สาขา รวมถึงผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดยเป็นการเอาชนะคู่แข่งที่เบียดกันมาตลอดอย่าง The Social Network ไปได้ในที่สุด
สองนักแสดงหนุ่มสาว เจมส์ ฟรังโก้ และแอน แฮทธาเวย์ เปิดฉากออสการ์ครั้งที่ 83 กับการแนะนำหนังเด่น ๆ ในรอบปี ด้วยการโผล่เข้าไปร่วมแสดงฉากเด่น ๆ ของภาพยนตร์เหล่านั้น รวมถึงภาพยนตร์ในอดีตอย่าง Back to the Future ที่เรียกเสียงฮาให้กับทุกคนที่อยู่ในงาน รวมถึงอีกนับล้านทั่วโลกซึ่งติดตามการถ่ายทอดสดอยู่ทั่วโลก
The King’s Speech กลายเป็นผู้ชนะบนเวทีออสการ์ประจำปี 2011 ด้วยการคว้ารางวัลในสาขาใหญ่ ๆ อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมของเต็งหามอย่าง คอลิน เฟิร์ธ … “ผมคิดว่านี่คือจุดสูงสุดในอาชีพของผมแล้วครับ” เฟิร์ธ กล่าวระหว่างได้รับรางวัล
เช่นเดียวกับ ทอม ฮูเปอร์ ที่ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมเฉือนตัวเต็งอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ แห่ง The Social Network ไปในที่สุด ผู้กำกับชาวอังกฤษขอบคุณนักแสดงทั้งสองของเขาอย่าง เฟิร์ธ และ เจฟฟรีย์ รัช เป็นอันดับแรก “ขอบคุณนักแสดงที่ยอดเยี่ยมของผม ผมมายืนอยู่ตรงนี้ได้ก็เพราะพวกคุณ”
ว่าที่คุณแม่ นาตาลี พอร์ตแมน คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Black Swan ไปได้ตามความคาดหมาย
สำหรับในสาขาบทภาพยนตร์ เป็นตัวเต็งทั้งสองที่แบ่งกันไปคนละรางวัล นักเขียนบทชื่อดัง แอรอน ซอร์คิน คว้ารางวัลดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก The Social Network ไปครอง ขณะที่ เดวิด ไซด์เลอร์ก็รับรางวัลสาขาบทดั้งเดิมยอดเยี่ยมจาก The King’s Speech ไปครอง
The Social Network ยังคว้ารางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากฝีมือของ เทรนต์ เรซเนอร์ เจ้าพ่อเพลงแนวอินดัสเตรียล แห่งวง Nine Inch Nail
เคิร์ก ดักลาส นักแสดงอาวุโสวัย 94 ปี ขึ้นเวทีมาเพื่อประกาศชื่อของ เมลิซ่า ลีโอ จาก The Fighter ให้เป็นนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมคนล่าสุด โดย ลีโอ วัย 50 ปี ที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเมื่อสองปีก่อนมาแล้ว นอกจากนั้น The Fighter ยังกวาดรางวัลในสาขานักแสดงสมทบชายไปด้วย กับตัวเต็งอย่าง คริสเตียน เบล ที่ได้กล่าวขอบคุณ “ดิ๊กกี้ เอ็กลุน” บุคคลจริงของตัวละครที่ เขาสวมบทบาทจนได้รับรางวัลครั้งนี้ด้วย
สำหรับระหว่างการขึ้นรับรางวัลของ เมลิซ่า ลีโอ เกิดเรื่องชวนให้อึ้งปนขำเมื่อเธอ ตื่นเต้นกับรางวัลจนหลุดปากคำหยาบ “F—K” ออกมา ซึ่งเจ้าตัวกล่าวถึงเรื่องนี้ เมื่ออยู่หลังเวทีว่า “"เป็นเรื่องไม่เหมาะสมจริง ๆ สำหรับการคำแบบนั้นในสถานที่เช่นนี้ ฉันต้องขอโทษจริง ๆ ค่ะสำหรับทุกคน ส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษที่ฉันใช้ จะเป็นภาษาประเภทบ้าน ๆ แบบนี้แหละค่ะ” ฝ่าย คริสเตียน เบล จากหนังเรื่องเดียวกัน ก็พูดถึงเรื่องนี้ว่า “เมลิซ่า ผมคงจะไม่หลุดปากคำ F เหมือนเธอแน่ ๆ ที่ผ่านมาผมได้พูดคำนี้มามากพอแล้ว”
ฝ่าย Inception ที่ได้เข้าชิงรางวัลถึง 8 สาขา ก็คว้ารางวัลมาได้ถึง 4 สาขาเรียกว่าสูงสุดเท่ากับ The King’s Speech คือ ตัดต่อ, ตัดต่อเสียง, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ที่เป็นการเอาชนะหนังดังเรื่องอื่น ๆ อย่าง Alice in Wonderland, Hereafter และ Harry Potter and the Deadly Hallow ไปได้
อนิเมชั่นยอดเยี่ยมที่ตกเป็นของ Toy Story 3 ผลงานรายได้พันล้านเหรียญฯ ผู้กำกับ ลี อันคริช ขึ้นเวทีขึ้นมารับรางวัลพร้อมกล่าวถึง Pixar บริษัทผลิตการ์ตูนแห่งนี้ว่าเป็น “สถานที่ทำหนังที่สุดยอดที่สุดในโลก” เป็นการปิดตำนานอันยิ่งใหญ่ของ “คาวบอยวู้ดดี้” และ “บัส ไลต์เยียร์” สองตัวละครจาก Toy Story ซึ่งได้ทำความรู้จักกับแฟน ๆ เมื่อ 15 ปีก่อน นอกจากหนัง แรนดี้ นิวแมน ยังคว้ารางวัลเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการ์ตูนสุดฮิตเรื่องนี้ด้วย เป็นรางวัลออสการ์ตัวที่ 2 ของนิวแมนหลังจากเข้าชิงมาแล้วถึง 20 ครั้ง
แต่ที่ถือว่าเหนือความคาดหมายอยู่นิดหน่อยก็คือ ในสาขาหนังภาษาต่างประเทศเมื่อตัวเต็งอย่าง Biutiful จากประเทศเม็กซิโก ต้องพลาดรางวัลให้กับ In a Better World หรือ Hævnen จากเดนมาร์ก
ที่ถูกจับตามองที่สุดอีกสาขาก็คือ รางวัลสารคดียอดเยี่ยมซึ่งผลงานเรื่อง Exit Through the Gift Shop ของศิลปินลึกลับ “แบ็งค์ซี่” ผู้ไม่เคยเปิดเผยตัวจริงมาก่อน มีชื่อเข้าชิงรางวัลด้วย จนกลายเป็นคำถามว่า แบ็งค์ซี่ จะมาปรากฏตัวในงานด้วยหรือไม่ แต่สุดท้ายโอกาสขึ้นเวลาของศิลปินแนวกราฟิตีผู้เป็นปริศนาก็หมดไป เมื่อโอปราห์ วินฟรีย์ ขึ้นเวทีมาประกาศให้ Inside Job เป็นผู้ชนะรางวัลในสาขานี้ โดยผลงานของ ชาร์ลส์ เฟอร์กูสัน เรื่องนี้เล่าเรื่องของปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญเมื่อปี 2008
สำหรับออสการ์ประจำปี 2011 ซึ่งจัดขึ้นที่ โกดัก เธียเตอร์ ฮอลลีวูด ในแคลิฟอร์เนียเช่นเคย นับว่าเป็นออสการ์ที่รางวัลถูกกระจายไปให้กับหนังทั้งหลายเรื่อง โดย The King’s Speech และ Inception คว้าไป 4 รางวัลเท่ากัน, The Social Network ได้ไป 3 รางวัล และมีหนังที่ได้รางวัล 2 สาขาอยู่ 3 เรื่องได้แก่ Alice in Wonderland, The Fighter และ Toy Story 3 ส่วนหนังอกหักประจำออสการ์ครั้งนี้คงจะเป็น True Grit ที่ชิงรางวัล 10 สาขาแต่ต้องกลับบ้านมือเปล่า
ผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 83
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
Alice in Wonderland : Stefan Dechant
ถ่ายภาพยอดเยี่ยม
Inception : Wally Pfister
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
เมลิซ่า ลีโอ - The Fighter
อนิเมชั่นขนาดสั้นยอดเยี่ยม
The Lost Thing
ภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม
Toy Story 3
บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
The Social Network : Aaron Sorkin
บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม
The King's Speech : David Seidler
ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
In a Better World (Hævnen) : Susanne Bier(เดนมาร์ก)
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
คริสเตียน เบล - The Fighter
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
The Social Network : Trent Reznor, Atticus Ross
บันทึกเสียงยอดเยี่ยม
Inception
ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม
Inception
แต่งหน้ายอดเยี่ยม
The Wolfman
ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
Alice in Wonderland : Colleen Atwood
สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม
Strangers No More
ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม
God of Love
ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม
Inside Job : Charles Ferguson
เทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม
Inception
ตัดต่อยอดเยี่ยม
The Social Network : Kirk Baxter, Angus Wall
เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
Toy Story 3 : Randy Newman ("We Belong Together")
ผู้กำกับยอดเยี่ยม
ทอม ฮูเปอร์ : The King's Speech
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
นาตาลี พอร์ตแมน : The Black Swan
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
คอลิน เฟิร์ธ : The King's Speech
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
The King's Speech
ที่มา: manager.co.th