อุตสาหกรรมไอซีทีจีนเผยทิศทางลงทุนระยะยาวในชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เมื่อหัวเว่ย (Huawei Technologies Ltd.) ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่สัญชาติจีนประกาศยืนยันแผนการลงทุนในสหรัฐฯต่อไปแม้จะต้องจำใจยกเลิกดีลซื้อกิจการบริษัทผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สัญชาติอเมริกัน เนื่องจากความกังวลว่าจะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงในสหรัฐฯ
ล่าสุด หัวเว่ยเซอร์ไพรส์คนทั้งโลกด้วยการประกาศว่าจะมอบอุปกรณ์โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอนมูลค่า 50 ล้านปอนด์ให้ฟรี โดยบริษัทขอเพียงค่าบำรุงรักษาระบบในอนาคต นอกจากนี้ "เหรินเหริน (Renren)" เครือข่ายสังคมสัญชาติจีนยังประกาศว่าจะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะระดมทุนได้มากถึง 500 ล้านเหรียญจากการขายหุ้นครั้งแรกหรือ IPO
"หัวเว่ย"ถอยแต่ไม่ท้อ
หลังจากเสนอซื้อบริษัททรีลีฟซิสเต็มส์ (3Leaf Systems) ด้วยราคา 2 ล้านเหรียญ ล่าสุดหัวเว่ยออกแถลงการณ์ยกเลิกคำเสนอซื้อกิจการแล้วอย่างเป็นทางการ ระบุว่าเป็นการทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการกำกับดูแลการลงทุนต่างแดนในสหรัฐฯ CFIUS (Committee on Foreign Investment in the United States) ซึ่งแสดงความเป็นห่วงว่า การซื้อกิจการทรีลีฟซิสเต็มส์อาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เทคโนโลยีซึ่งมี "ความอ่อนไหว" ของสหรัฐฯถูกส่งต่อสู่กองทัพจีน และจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯในที่สุด
อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยระบุว่าจะยังคงเดินตามแผนการลงทุนระยะยาวในสหรัฐฯต่อไป โดยบอกว่าผลกระทบจากการไม่ได้รับอนุมัติให้ซื้อกิจการครั้งนี้คือการไม่เป็นไปตามแผนการที่หัวเว่ยวางไว้เท่านั้น แม้หัวเว่ยจะหวังมาตลอดว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะอนุมัติให้มีการซื้อขายกิจการได้หลังจากที่หัวเว่ยพิสูจน์ตัวเองมาตลอดว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพจีน
หัวเว่ยนั้นมีดีกรีเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สถิติยอดจำหน่ายปี 2010 ที่ผ่านมาคือ 28,000 ล้านเหรียญ ถือเป็นคู่แข่งรายสำคัญของบริษัทผู้ผลิตเครือข่ายคอมพิวเตอร์สัญชาติอเมริกันอย่างซิสโก้ซิสเต็มส์ (Cisco Systems) โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการ CFIUS ตัดสินใจไม่อนุมัติให้หัวเว่ยซื้อกิจการบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์อเมริกัน คือหัวเว่ยเป็นบริษัทซึ่งถูกก่อตั้งโดยอดีตนายทหารชาวจีน ความเชื่อมโยงนี้เองที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯไม่เชื่อถือข้ออ้างของหัวเว่ยเรื่องการไม่มีสายสัมพันธ์กับทหารจีน แม้หัวเว่ยจะยืนยันว่าผู้เป็นเจ้าของบริษัทในขณะนี้คือกลุ่มพนักงาน ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง
การไม่ได้รับอนุมัติให้ซื้อกิจการอเมริกันของหัวเว่ยที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในปี 2008 หัวเว่ยและพันธมิตรกลุ่มทุนอเมริกันนามว่า เบนแคปิตอล (Bain Capital) ก็ไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้าซื้อกิจการบริษัททรีคอม (3Com) ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายเพราะความกังวลเรื่องความมั่นคงของสหรัฐฯเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยเชื่อว่าการไม่อนุมัติของคณะกรรมการ CFIUS คือนโยบายซื้อเทคโนโลยีของบริษัททรีลีฟ และนโยบายว่าจ้างพนักงานเพียงบางส่วน ไม่ใช่การซื้อกิจการทั้งหมดในแบบที่ควรจะเป็น
ท่ามกลางข่าวหัวเว่ยถอยหลังเพื่อเดินต่อในสหรัฐฯ รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ (Sunday Times) ของอังกฤษตีพิมพ์ว่าหัวเว่ยกำลังเสนอตัวส่งมอบอุปกรณ์โครงข่ายโทรศัพท์มือถือภายในสถานีรถไฟใต้ดินลอนดอนอันเดอร์กราวน์ (London Underground) ของอังกฤษมูลค่า 50 ล้านปอนด์ (ราว 2,400 ล้านบาท) ให้ฟรี เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2012 ของเมืองผู้ดีอังกฤษ โดยหัวเว่ยขอเพียงค่าบำรุงรักษาระบบในอนาคตเท่านั้น
รายงานยังระบุข้อมูลจากแหล่งข่าวไม่ระบุนามว่า เหตุผลที่หัวเว่ยใช้ประกอบการเสนอตัวยกอุปกรณ์โครงข่ายโทรศัพท์มือถือให้สถานีรถใต้ดินทั่วกรุงลอนดอนฟรีคือ การเป็นของขวัญจากชาติที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโลกโอลิมปิกส์ (จีน) ส่งให้เจ้าภาพคนต่อไป (อังกฤษ) โดยหากโครงการได้รับการอนุมัติ เครื่องรับส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือของหัวเว่ยจะถูกติดตั้งภายในอุโมงค์รถไฟใต้ดินทั่วลอนดอน ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสามารถรับสายและโทรออกผ่านโทรศัพท์มือถือได้เป็นครั้งแรก
รายงานระบุด้วยว่า โอเปอเรเตอร์ในอังกฤษเช่นโวดาโฟน (Vodafone) และโอทู (O2) จะได้รับค่าติดตั้งอุปกรณ์ และหัวเว่ยจะได้รับค่าบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์ระบบ
ทั้งหมดนี้ องค์กรขนส่งมวลชนแห่งลอนดอนหรือ Transport for London (TfL) ไม่ได้ยืนยันการเสนออุปกรณ์ให้ฟรีของหัวเว่ย แต่ยอมรับว่าได้มีการเจรจากับโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอังกฤษ เพื่อดำเนินการติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสถานีรถไฟใต้ดิน อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์ในอังกฤษระบุว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากมีการตรวจสอบมากมายที่พบว่าอาชญากรรมออนไลน์จำนวนมากในอังกฤษนั้นมีต้นตอจากประเทศจีน และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็เป็นสิ่งที่อ่อนไหวมากต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการดักฟังโทรศัพท์ เป็นต้น
เครือข่ายสังคมจีนเข้าตลาดหุ้นมะกัน
นอกจากหัวเว่ยที่ส่งสัญญาณบุกตลาดตะวันตกเต็มที่ บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์จีนนาม"เหรินเหริน"ซึ่งมีลักษณะการทำงานคล้ายเฟซบุ๊ก ก็กำลังหาทางเพิ่มทุนบริษัทด้วยการขายหุ้นไอพีโอ (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กตีพิมพ์ว่าบริษัทโอคแปซิฟิกอินเทอร์แอคทีฟ (Oak Pacific Interactive) บริษัทผู้สร้างเหรินเหรินวางเป้าหมายขายไอพีโอในสหรัฐฯช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ โดยเชื่อว่าจะทำให้บริษัทเพิ่มทุนได้ถึง 500 ล้านเหรียญ ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันการเงินสากลอย่าง Credit Suisse Group AG, Deutsche Bank AG และ Morgan Stanley
เหรินเหรินเป็นบริการเครือข่ายสังคมที่มีพัฒนาการจากระบบเครือข่าย "Xiaonei" ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาใช้กันในกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาของจีน ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศจีนเพราะรัฐบาลจีนลงมือปิดกั้นการใช้งานเฟซบุ๊ก ทำให้เหล่านักพัฒนาในประเทศ รวมถึงผู้ใช้หันมาให้ความสำคัญกับเหรินเหรินในการใช้งานและทำตลาดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ในประเทศจีน ซึ่งไมโครบล็อกอย่างทวิตเตอร์ที่ถูกปิดกั้นในประเทศจีน ก็ทำให้เว็บไซต์จีนที่ให้บริการคล้ายคลึงกันอย่าง Sina, Tencent หรือ Sohu ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
ทั้งนี้ ยังไม่มีการยืนยันจากทั้งเหรินเหรินและนานาสถาบันการเงินที่ถูกอ้างชื่อในรายงานแต่อย่างใด
Company Related Links :
Huewei
Renren
ที่มา: pantip.com