กิจการร่วมค้าเอสแอลที่มีกลุ่มสามารถและล็อกซเล่ย์ร่วมด้วย คว้างานสร้างโครงข่ายมือถือ 3G TOT หลังเคาะด้วยระบบอี-ออกชัน 17 ครั้ง ทำราคาต่ำสุดที่ 16,290 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,150 ล้านบาท หรือ 6.59% พร้อมเสนอกรรมการผู้จัดการใหญ่ 31 ม.ค.นี้ ก่อนให้บอร์ดเห็นชอบ คาดเซ็นสัญญาได้กลาง ก.พ. 54 ตามแผนที่วางไว้
งานประมูลโครงการสร้างโครงข่ายมือถือ 3G TOT มูลค่า 17,440 ล้านบาทเริ่มขึ้นวันที่ 28 มกราคม 54 โดยการเสนอราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) ตามกำหนดการตั้งแต่เวลา 9.00-12.00 น. เริ่มเคาะราคากันเวลาประมาณ 9.45 น. สิ้นสุดเวลาประมาณ 10.45 น. สู้ราคากันทั้งหมด 17 ครั้ง จากผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาทางเทคนิค 2 กลุ่ม คือกิจการร่วมค้า (คอนซอร์เตียม) เอสแอล ซึ่งประกอบด้วย บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น บริษัท ล็อกซเล่ย์ บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี และบริษัท โนเกีย-ซีเมนส์ อีกกลุ่มคือ เอยู คอนซอร์เตียม ประกอบด้วย บริษัท ยูคอม อินดัสเตรียล (ยูเทล) บริษัท แอดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (เอไอที) และบริษัท อัลคาเทล-ลูเซ่น
การเสนอราคาแข่งกันครั้งนี้ เอสแอล คอนซอร์เตียม ใช้รหัส GGG 222 ขณะที่ เอยู คอนซอร์เตียม ใช้รหัส GGG 333 มีการเคาะราคากันทั้งหมด 17 ครั้ง และจบที่ GGG 222 เสนอราคาต่ำสุด 16,290 ล้านบาท ขณะที่ GGG 333 เสนอราคา 16,777 ล้านบาท ซึ่งราคาต่ำสุดที่ได้อย่างไม่เป็นทางการต่ำกว่าราคากลาง 1,150 ล้านบาท หรือประมาณ 6.59%
“ราคาที่ได้อย่างไม่อย่างเป็นส่วนตัวแล้วพอใจ เพราะทุกอย่างทำตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย และจากนี้อีก 1-2 วันจะมีการต่อรองราคา หากไม่ได้ต่ำกว่า 16,290 ล้านบาทคนที่เสนอราคานี้ก็ไม่เป็นไร เพราะเขาทำถูกต้องตามกระบวนการทุกอย่าง” นายอานนท์ ทับเที่ยง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงข่าย บริษัท ทีโอที ในฐานะประธานคณะทำงานประมูล 3G TOT กล่าว
ทั้งนี้ ตัวเลขที่ได้จากการทำอี-ออกชันจะมีการนำเสนอกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ซึ่งขณะนี้มีนายนพณัฏฐ์ หุตะเจริญ ทำหน้าที่รักษาการ ในวันจันทร์ที่ 31 ม.ค.นี้ ก่อนจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที เห็นชอบก่อนกลางเดือน ก.พ. และจะมีการลงนามในสัญญาได้ภายในวันที่ 15-18 ก.พ. 54 ซึ่งจะทำให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้คือ เดือน เม.ย.54 สามารถเปิดให้บริการได้บางส่วน และจะครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายใน 365 วัน
“พอถึงเดือนเม.ย.จะทำให้พื้นที่การให้บริการ 3G ในกรุงเทพฯที่มีอยู่ขณะนี้ 548 สถานีฐานครอบคุลมพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการให้บริการสูงขึ้น”
ด้านนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าการประมูลครั้งนี้ ต้องเตรียมการอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (พาร์ตเนอร์) รวมถึงงานเกี่ยวกับการติดตั้ง
“ที่ผ่านมาถือว่าโชคดีด้วยที่ไม่มีการประมูล 3G ทั่วไปของเอกชนทำให้ซัปคอนแทกต์หรือผู้ที่รับการติดตั้งยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งจะช่วยให้การติดตั้งโครงข่ายกว่า 5,000 สถานีฐานได้ทันตามระยะเวลา 1 ปี ตามทีโออาร์กำหนด”
ส่วนการแบ่งความรับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตั้ง ล็อกเลย์จะรับผิดชอบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มสามารถจะรับผิดชอบกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และภาคใต้ เพื่อให้งานติดตั้งเสร็จเร็วที่สุด
ผู้บริหารสามารถเชื่อว่า หากบริษัทดำเนินการ 3G จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท 1 หมื่นล้านบาท ส่วนล็อกซเลย์ อยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยเสริมกลุ่มสามารถให้เติบโตขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้โปร่งใส และดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องหลังจากวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้พิจารณายกเลิกคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราว 3G TOT ของอีริคสัน (ประเทศไทย) กับแซดทีอี ประเทศไทย
“ช่วงเวลา 1 ปี หลังมีการเซ็นสัญญาต้องรีบดำเนินการอย่างเร็วที่สุด และต้องโค-ไซต์ กับบริษัทเอกชนรายอื่นด้วย เพื่อประหยัดงบในการลงทุน ขณะเดียวกัน ก็ต้องรีบดำเนินการติดตั้งสถานีฐานกว่า 5 พันสถานีฐานทั่วประเทศ ซึ่งเวลา 365 วัน ต้องติดตั้งให้ได้วันละ 10 กว่าสถานีฐาน” นายวัฒน์ชัยกล่าว
Company Related Link :
TOT
ที่มา: manager.co.th