Author Topic: กระทรวงไอซีทีกับ 4 เดือนที่ว่างเปล่า  (Read 1025 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

ผ่านมาครบ 4 เดือนแล้ว ที่ ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันอย่างเดียว คือ การสกัดกั้นเว็บไซต์ของกลุ่มเสื้อแดงตามคำสั่งของรัฐบาล

หากถามหาผลงานอื่นๆ คงต้องบอกว่า "ไม่มี" เหตุเพราะงานทุกอย่างกลายเป็นแม่สายบัวรอเก้อ อยู่บนโต๊ะของเจ้ากระทรวง แม้แต่การตรวจเยี่ยม หน่วยงานหรือรัฐวิสาหกิจในสังกัด

4 เดือนผ่านมา มีกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งเดียวที่รัฐมนตรีไอซีทีเคยไปตรวจเยี่ยมอย่างจริงจัง นอกนั้นเป็นเพียงการเข้าไปตัดริบบิ้นเปิดงานวันเด็ก !!! หรือการประชุม ผู้บริหารระดับสูงทุกหน่วยงานในสังกัดทั้งหลายที่ผ่านมา มีปลัดกระทรวงไอซีทีรับหน้าเสื่อเป็นประธานแทน

แหล่งข่าวจากกระทรวงไอซีทีกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตั้งแต่ ร.ต.หญิงระนองรักษ์เข้ารับตำแหน่ง มีเพียงการเปิดศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนเป็นตัวชี้วัด ผลงานของกระทรวงไอซีที แต่ก็เป็นสิ่งที่ข้าราชการประจำทำเรื่องของบประมาณมา ตั้งแต่ปีที่แล้ว มีแต่การปิดเว็บไซต์ตามนโยบายรัฐบาลเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่งานอื่นแทบหยุดนิ่งทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่หลายหน่วยงานรวมถึงไอซีทีและกระทรวงยุติธรรมเห็นว่าเป็นประเด็นที่ควรเร่งดำเนินการ และยกร่างฉบับแก้ไข ส่งมาให้รัฐมนตรีไอซีทีพิจารณากว่า 3 เดือนแล้ว

เช่นเดียวกับแผนแม่บทไอซีทีฉบับที่ 2 ของประเทศ ที่ร่างและประชาพิจารณ์เสร็จตั้งแต่สิ้นปีที่แล้วก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ เพราะรัฐมนตรียังไม่ลงนามเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ทั้งๆ ที่เป็นแผนที่ร่างมาเพื่อใช้ตั้งแต่ปี 2552-2556 หรือแม้แต่ร่างประกาศต่างๆ ของกระทรวงที่จำเป็น ต้องให้รัฐมนตรีลงนาม ปัจจุบันก็ยังมีงานที่รอให้ลงนามอีกมาก

"ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ต้องรอรัฐมนตรีลงนามอีกเป็นตั้งๆ เพราะท่านไม่ค่อยเข้ากระทรวง แม้แต่การลงนามเพื่อรับทราบการเปลี่ยนชื่อของชินแซทเทิลไลท์ เป็นไทยคม รมว.ไอซีทีต้องลงนามรับทราบในฐานะที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานก็ยังค้างอยู่บนโต๊ะ ขณะที่ไทยคมแจ้งเปลี่ยนชื่อกับตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้วตั้งนาน ความล่าช้าต่างๆ มีผลกระทบต่อการกำกับดูแลไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องการรับโอนทรัพย์สินตามสัญญา ไม่รวมถึงการนำเรื่องการให้ไทยคมเช่าดาวเทียมจากต่างประเทศมาให้บริการ เอกสารต่างๆ เสร็จนานแล้ว เหลือรอให้รมว.ไอซีทีลงนามเสนอให้ ครม.พิจารณา"

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคมแก้ปัญหาคั่งค้างเรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (แอ็กเซสชาร์จ) และในประเด็นที่กฤษฎีกาตีความกรณีแก้สัญญาสัมปทานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงการผลักดันโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเทคโนโลยี 3 จี ให้เสร็จโดยเร็ว เป็นต้น

ด้านการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจใต้สังกัดอย่างทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ก็ไม่น้อยหน้าเข้าข่ายใส่เกียร์ว่างไม่แพ้กัน เพราะจนวันนี้ กสทฯก็ยังไม่มีซีอีโอตัวจริง ทั้งๆ

ก่อนหน้านี้บอร์ดยืนยันว่าจะเร่งกระบวน การสรรหาให้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด และว่าภายใน เม.ย.นี้จะประกาศรายชื่อได้

และเมื่อถามไถ่ถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการแก้ไขสัญญาสัมปทานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ที่ว่าบางส่วนยังไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้องนั้น

"อะไรที่นิ่งๆ แล้ว ก็อย่ากวนน้ำให้ขุ่น" เป็นคำตอบที่ได้จากบอร์ดทีโอทีกับปัญหาแอ็กเซสชาร์จ และอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ แหล่งข่าวทั้งจากทีโอที และกสทฯกล่าวตรงกันว่า ไม่สามารถแก้ไขให้จบภายในเงื่อนเวลาที่ สคร.กำหนดได้แน่ เพราะเป็นคดีที่มีการฟ้องร้องในศาล ดังนั้นการรอให้ศาลตัดสินจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

"คงไม่มีบอร์ดหรือผู้บริหารคนใดจะกล้าตัดสินใจเรื่องนี้ และยินดีจะรับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้น"

ในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ถ้ากระทรวงไอซีทีไม่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันให้หน่วยงานใต้สังกัดทำงานได้ จะมีรัฐมนตรีไอซีทีไว้ทำไม

เป็นคำถามที่ดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับที่เคยดังกระหึ่มมาแล้วถึงบทบาทของกระทรวงไอซีทีด้วยว่า มีไว้เพื่ออะไร และจำเป็นอยู่อีกไหม

ที่มา: matichon.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)