นักวิจัยญี่ปุ่นหยิบระบบเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทมาต่อยอด ปูทางผู้ใช้พิมพ์ภาพพร้อมกลิ่นได้จากเครื่องพิมพ์เครื่องเดียว หวังใช้เทคโนโลยีนี้ในการสร้างกลิ่นให้ทีวี-คอมพิวเตอร์ เพื่อให้แฟนรายการอาหารในอนาคตได้รับรู้กลิ่นหอมของอาหารระหว่างชม รวมถึงผู้ชมภาพพิมพ์ที่จะได้รับกลิ่นตามภาพที่ชมอย่างเต็มอรรถรส
ผลงานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากบุคลากรมหาวิทยาลัย Keio University ในโตเกียว ซึ่งระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาทางนำระบบการทำงานลักษณะเดียวกับระบบในเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท มาประยุกต์เป็นเครื่องส่งกลิ่นตามข้อมูลภาพที่ปรากฏทั้งที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำให้ฝันเรื่องการสร้าง"ภาพยนตร์มีกลิ่น"ที่ถูกริเริ่มในโลกตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีแนวโน้มเป็นความจริงยิ่งขึ้น
บริษัทที่ริเริ่มการสร้างภาพยนตร์มีกลิ่นในโลกคือ AromaRama ครั้งนั้น AromaRama ใช้วิธีปล่อยกลิ่นออกมาทางเครื่องปรับอากาศในโรงภาพยนตร์ ขณะที่บริษัทคู่แข่งนามว่า Smell-O-Vision ใช้วิธีสร้างระบบปล่อยกลิ่นผ่านท่อของตัวเองขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการนั้นล้มเหลวเพราะเสียงรบกวนจากเครื่องจักรและความอบอวลของกลิ่นเดิมไปรบกวนกลิ่นใหม่ทำให้กลิ่นในขณะนั้นไม่สัมพันธ์กับภาพ กระทั่ง iSmell USB อุปกรณ์ส่งกลิ่นจากบริษัท Digiscents ถูกส่งมากระตุ้นตลาดอีกครั้งในปี 2000 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะปัญหาลักษณะเดียวกัน
ทั้งหมดนี้ Kenichi Okada นักวิจัยผู้เตรียมนำเสนองานวิจัยนี้ในงานประชุมซึ่งสมาคม Association for Computing Machinery มีกำหนดจัดขึ้นที่อิตาลีช่วงสัปดาห์ปลายเดือนตุลาคม 53 แสดงความเชื่อมั่นว่าความสามารถของระบบปล่อยหมึกของเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปล่อยกลิ่น ซึ่งทำให้ระบบส่งกลิ่นสามารถทำงานได้เงียบ ควบคุมได้ โดยเฉพาะการทำให้กลิ่งจางลงในชั่ววินาที
เครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ท แคนนอน
วารสาร New Scientist รายงานว่านักวิจัยญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ร่วมชาติอย่างแคนนอน (Canon) ดัดแปลงเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตรุ่นเก่าของแคนนอนโดยใช้ชื่อว่า olfactory display คุณสมบัติเด่นคือความสามารถในการปล่อยกลิ่นสลับกัน 4 กลิ่นได้อย่างแม่นยำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทีมวิจัยพบว่าเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตนั้นสามารถพ่นหัวน้ำหอมในความเร็ว 1 พิโคลิตร (picolitr) ต่อ 0.7 มิลลิวินาที ซึ่งความเร็วดังกล่าวยังน้อยเกินกว่าขีดจำกัดที่มนุษย์จะได้กลิ่น นักวิจัยจึงเกิดแนวคิดเพิ่มเวลาให้เป็น 100 มิลลิวินาที ซึ่งทำให้เครื่องพิมพ์สามารถให้กลิ่นทั้งมะนาว ลาเวนเดอร์ แอปเปิล ซินนามอน (ชะเอม) องุ่น และมิ้นต์ได้ในที่สุด
รายงานระบุว่า กลิ่นที่ได้จะจางหายไปหลังจากสูดดมสองครั้ง ทำให้เครื่องสามารถส่งกลิ่นอื่นตามมาในทันที กลิ่นที่ได้จากระบบจึงไม่ผิดเพื้ยน
Okada ระบุว่าการพัฒนาขั้นต่อไปคือการสร้างกลิ่นที่ตรงกับภาพโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากการศึกษาประสบความสำเร็จ เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทในอนาคตก็จะสามารถทำงานเป็นทั้งเครื่องพิมพ์และเครื่องปล่อยกลิ่นได้ในเครื่องเดียว
ที่ผ่านมา เทคโนโลยีกลิ่นพร้อมภาพนั้นไม่ได้ถูกคาดหวังเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว โดยผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่า เทคโนโลยีนี้สามารถประยุกต์ใช้งานด้านสุขภาพได้ เช่น การใช้กลิ่นช่วยเตือนความจำผู้ป่วยสมองเสื่อมให้รับประทานอาหารหรือยาอย่างตรงเวลา ซึ่งคาดว่ามนุษย์จะได้รับประโยชน์อื่นๆจากกลิ่นได้ในอนาคต
อีกความท้าทายของระบบปล่อยกลิ่นคือการสร้างกลิ่นสำหรับจุดประสงค์ทั่วไป เนื่องจากนักสังเคราะห์กลิ่นยังไม่ทราบถึงวิธีการสังเคราะห์กลิ่นทั้งหมดที่อุตสาหกรรมต้องการ การสร้างกลิ่นลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกลิ่นไม่ได้เกิดจากการสังเคราะห์สีแดงสีเขียวหรือสีฟ้า ขณะเดียวกัน ส่วนประกอบที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการสังเคราะห์กลิ่นก็ยังมีมากมายหลายพันชนิดขึ่นอยู่กับกลิ่นที่ต้องการ เช่น กลิ่นราสเบอร์รี่ที่ไม่สามารถสังเคราะห์ได้จากช็อคโกแลต เป็นต้น
Company Related Link :
Keio University
ที่มา: manager.co.th