"ไอทีวัน" ในกลุ่มเอสซีจี รุกหนักธุรกิจไอทีเอาต์ซอร์ซ ทาบรัศมี "ไอบีเอ็ม" วางแผนเจาะตลาดสถาบันการเงิน-โทรคมนาคม-ค้าปลีก หลังต่อสัญญาให้บริการดูแลระบบไอทีครบวงจรกับบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยกว่า 150 บริษัทเป็นเวลา 7 ปี ด้วยมูลค่า 4,700 ล้านบาท ประเดิมรับงานระบบซีอาร์เอ็มให้ "ดีแทค"
นายประยุทธ ตัณฑ์ศรีสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอทีวัน จำกัด บริษัทไอทีเอาต์ซอร์ซ ร่วมทุนระหว่างเอคเซนเชอร์ และปูนซิเมนต์ไทย เปิดเผยว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องหาทางลดต้นทุน ตัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการ แข่งขัน ระบบไอทีจึงเป็นตัวช่วยสำคัญขณะที่บริการไอทีเอาต์ซอร์ซก็เป็นทางออกที่ช่วยให้เกิดการแชร์เทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ และทรัพยากรต่างๆ ให้คุ้มค่าสร้างประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด จึงเชื่อว่าธุรกิจไอทีเอาต์ซอร์ซมีแนวโน้มการเติบโต ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันสูงด้วย
จากประสบการณ์ที่เป็นผู้ดูแลระบบไอทีและให้บริการไอทีเอาต์ซอร์ซกับบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยกว่า 150 แห่ง ทั้งในประเทศและอีก 17 ประเทศทั่วโลก รวมถึงได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากบริษัทแม่เอคเซนเชอร์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและบริการเอาต์ซอร์ซชั้นนำของโลก จะช่วยทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพการบริการของบริษัทได้เป็นอย่างดี พิสูจน์ได้จากในปีที่ผ่านมา บริษัทมีมูลค่าสัญญาการให้บริการเอาต์ซอร์ซเป็นรองแค่ไอบีเอ็มเท่านั้น
และล่าสุดไอทีวันได้เซ็นสัญญาให้บริการดูแลระบบไอทีครบวงจรให้กับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย และบริษัทในเครือกว่า 150 แห่งต่ออีก 7 ปี คิดเป็นมูลค่าสัญญา 4,700 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทยังมีลูกค้ารายใหญ่ที่ไม่ใช่บริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย ได้แก่ กลุ่มไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินดัสตรี ซึ่งไอทีวันเข้าไปดูแลระบบไอทีเอาต์ซอร์ซให้ทั้งหมดเช่นกัน รวมทั้งเพิ่งได้รับงานในกลุ่มลูกค้าโทรคมนาคม โดยได้รับเอาต์ซอร์ซระบบลูกค้าสัมพันธ์ (ซีอาร์เอ็ม) ให้กับดีแทค
"ที่ผ่านมาลูกค้าของไอทีวัน 80% เป็นบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย แต่คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะดันจำนวนลูกค้าที่เป็นบริษัทนอกกลุ่มให้โตเพิ่มเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร สถาบันการเงิน ธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งในปีนี้ไม่ได้มีการตัดงบฯ ไอที ส่วนใหญ่ได้งบฯใกล้เคียงกับปีก่อน รวมถึงกลุ่มค้าปลีกซึ่งมีงบฯลงทุนด้านไอทีอยู่มาก แม้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทยังไม่เคยเข้าไป แต่มั่นใจว่าจะทำตลาดได้ดี จึงตั้งความหวังกับตลาดนี้ไว้เยอะ"
นายประยุทธกล่าวว่า ตอนนี้มีผู้เล่นทั้งที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศและบริษัทไอทีเอาต์ซอร์ซในประเทศต่างมุ่งเข้าตลาดกลุ่มเดียวกันหมด ย่อมทำให้การแข่งขันรุนแรง สำหรับระบบไอทีที่บริษัทจะนำเสนอให้ลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ คือระบบลูกค้าสัมพันธ์ (ซีอาร์เอ็ม) ระบบบริหารซัพพลายเชน (เอสซีเอ็ม) ระบบบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ (อีอาร์พี) ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานและดูแลลูกค้า ขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีในการเข้าไปดูแลระบบให้ลูกค้าเพื่อสร้างความประทับใจและโอกาสในการเข้าไปดูแลระบบไอทีทั้งหมดให้ลูกค้าในภายหลัง
"เชื่อว่าในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ยังมีลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนพัฒนาระบบไอทีในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ที่เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการใช้ไอทีเอาต์ซอร์ซ ฉะนั้นตอนนี้ก็ต้องแข่งกันสร้างความเชื่อมั่นในบริการให้ลูกค้า"
ผลประกอบการปีที่แล้ว ไอทีวันมี รายได้กว่า 900 ล้านบาท โตจากปีก่อนประมาณ 15% และคาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตอีกประมาณ 10% มีรายได้เกินพันล้านบาทเป็นปีแรก หลังจากก่อตั้งบริษัทมาเป็นปีที่ 8
ที่มา: matichon.co.th