Author Topic: เสียงสะท้อน "ซอฟต์แวร์ไทย" ทำไม "ไอซีที" ไทยไปไม่ถึงไหน  (Read 1386 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

งานวิจัย "การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านไอซีทีของประเทศไทย" จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ชัดว่า มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอซีทีของไทยมีประมาณ 5.4 แสนล้านบาท เหมือนมาก แต่มีสัดส่วนแค่ 0.4% ของการใช้จ่ายไอซีทีทั่วโลก

โดยที่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่เป็นการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ 14% และซอฟต์แวร์ แค่ 11%

เมื่อเจาะลงไปในข้อมูลรายงานการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระหว่างปี 2548-2550 พบว่าบริษัทด้านโทรคมนาคม 5 อันดับที่มีกำไรสูงสุด มีกำไร 10-60% ขณะที่ 5 บริษัทด้านไอทีที่มีกำไรสูงสุด มีกำไรสุทธิต่ำกว่า 10% ทุกบริษัท แตกต่างจากบริษัทไอทีของอินเดียที่มีกำไรสุทธิเฉลี่ยที่ 22%

ปัญหาของอุตสาหกรรมการผลิตไอทีของไทยยังวนเวียนอยู่ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เนื่องจากเป็นการรับจ้างผลิตแบบ OEM เพื่อการส่งออก ขาดการสร้างนวัตกรรม จากการสำรวจพบว่าอุตสาหกรรมไอทีไทยมีบริษัทที่ทำวิจัยและพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ทั้งในรูปแบบการปรับปรุงสินค้าเก่าและสร้างของใหม่ไม่ถึง 10% แม้แต่ภาคโทรคมนาคม และการสื่อสารก็มีการวิจัยแค่ 10%

ปัญหาที่สำคัญสุดคือการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือ โดยเฉพาะในด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีบริษัทอีก 22% ในอุตสาหกรรมนี้ต้องการคนเพิ่ม ด้านบริการไอทียังต้องการเพิ่มอีก 10% ใกล้เคียงกับด้านสื่อสารโทรคมนาคม

โดยตัวอย่างสำหรับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านไอที อาทิ ไอร์แลนด์ที่ ส่งออกซอฟต์แวร์มากที่สุดในโลก นโยบายของภาครัฐมีส่วนสนับสนุนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราเดียว 12.5% เพื่อช่วยอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่มีมาร์จิ้นน้อย รวมถึงการลงทุนสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และวิศวะในระดับอุดมศึกษา พร้อมเชื่อมโยงเข้ากับอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างแบรนด์ประเทศ "นึกถึงไอร์แลนด์ นึกถึงซอฟต์แวร์" ให้ทุกบริษัทร่วมกันเป็น ดิจิทัลฮับ

ขณะที่ประเทศเกาหลี ผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไอซีทีได้กำหนดนโยบายของรัฐเน้นการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีมาตั้งแต่ ปี 2533 เพื่อให้ไอซีทีเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจนบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้เกาหลีเป็น

ผู้นำไอซีทีได้ในปี 2550 และได้มีการเปิดเสรีโทรคมนาคมตั้งแต่ปี 2533 เริ่มจากบริการโทรศัพท์พื้นฐาน และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เจ้าของงานวิจัยเสริมว่า ภาครัฐต้องเร่งปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายได้อย่างถูกต้องชัดเจน และมีข้อมูลส่งไปให้องค์กรต่างประเทศจัดลำดับศักยภาพประเทศได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นการให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างประเทศ

พร้อมกันนี้รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในการสร้างแบรนด์ระดับประเทศร่วมกัน รวมถึงการปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความโปร่งใส ส่งเสริมให้เอกชนทำตลาดแบบเจาะกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเปิดเสรีโทรคมนาคมให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ พร้อมยกเครื่องการกำกับดูแลกิจการด้านโทรคมนาคมของภาครัฐ

ขณะที่ "ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอฟอีซี จำกัด (มหาชน) 1 ใน 5 บริษัทซอฟต์แวร์ที่ทำกำไรสุทธิสูงสุดในตลาดหุ้นไทย แสดงความคิดเห็นว่า การที่บริษัทก้าวมาถึงวันนี้ได้นั้น เปรียบได้กับสัตว์เซลล์เดียวที่ต้องดิ้นรนทำมาหากินขยายพันธุ์ด้วยตนเอง ขณะที่อินเดียใช้วิธีจับมือรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการไปทำตลาดต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยไม่มีและปัจจุบันก็ยังต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง

"นอกจากนี้บริษัทไทยด้อยกว่าต่างชาติ เพราะไม่มีทรัพย์สินทางปัญญาที่พัฒนาขึ้นเอง เพราะนิสัยผู้บริโภคไทย ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ถ้ารู้ว่าโปรแกรมนี้คนไทยพัฒนาจะมีคำถามมากมาย ไม่ไว้วางใจ ถ้าเป็นโปรแกรมจากต่างประเทศไม่เคยมีข้อสงสัย กลายเป็นว่ารับจ้างเขาขายดีกว่า ทำเงินง่าย"

ขณะที่ปัญหาสำคัญอีกข้อคือ "คุณภาพของบุคลากร " แต่ละปีสถาบันการศึกษาผลิตนิสิตด้านไอทีมาเป็นหมื่นคน แต่มีคุณภาพจริงๆ แค่ 2,000 คนแรกเท่านั้น และเป็นกลุ่มที่พร้อมเปลี่ยนงานได้ตลอดเวลา

"อย่างบริษัทเอ็มเอฟอีซีสะสมเด็กเกียรตินิยม วิศวะ จุฬาฯ ทุกรุ่น ตั้งแต่ปี 2530 เพราะเป็นศิษย์เก่าที่นั่น ใน 10 ปี พบว่าเด็กวิศวะฉลาดจริง แต่อายุการทำงานสั้นมากแค่ 2 ปีครึ่งก็ลาออก คือรับเข้ามาแล้วอยากใช้อะไรก็ใช้ไป ไม่ต้องลงทุนพัฒนามาก เดี๋ยวก็ลาออกแล้ว"

"ศิริวัฒน์" กล่าวด้วยว่า ความเชื่อที่ว่าไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขันเหนือกว่าประเทศอื่น เพราะค่าแรงถูกนั้นไม่จริงแล้ว เพราะเงินเดือนเริ่มต้นของหัวกะทิด้านไอทีไทยอยู่ที่ 20,000 บาท ขณะที่เวียดนามแค่หมื่นกว่าบาทและทำงานหนักกว่าถึง 2 เท่า และล่าสุดประเทศจีนก็ประกาศทิ้งภาพผู้ผลิตสินค้าราคาถูก คุณภาพต่ำ มาเน้นการเป็นแหล่งบริการไอทีราคาถูกและมีคุณภาพสูง ด้วยความพร้อมด้านบุคลากรเพราะแค่เมืองหางโจวมี 80 มหาวิทยาลัยผลิตบุคลากรด้านไอทีได้ปีละ 4 แสนคน

ด้าน "ครรชิต นิงสานนท์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนวา ซอฟต์แวร์ จำกัด อีกหนึ่งซอฟต์แวร์เฮาส์ขนาดย่อมกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจทำให้ตลาดต่างประเทศที่เคยเป็นฐานลูกค้าสำคัญมีความต้องการลดลงอย่างมาก ทำให้ทุกคนวิ่งไปหาตลาดภาครัฐ ทำให้เกิดการแข่งขันกันสูงมาก

ปัญหาที่มักเจอตอนนี้ เป็นการใช้มาตรฐาน ISO มาสกัดกั้นให้บริษัทที่จะเข้าเสนอราคา โดยบริษัทจะได้รับการรับรองมาตรฐานแต่ละตัวต้องใช้ทุนจำนวนมาก และที่ปวดหัว คือการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คุณสมบัติไปเรื่อยๆ ล้วนแต่กระทบกับต้นทุนของบริษัท บางมาตรฐานต้องใช้เงินเป็นล้าน

ที่มา: matichon.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)


Related Topics

  Subject / Started by Replies Last post
0 Replies
7441 Views
Last post February 14, 2009, 12:00:18 AM
by Webmaster
0 Replies
3368 Views
Last post February 21, 2009, 09:50:39 AM
by Nick
0 Replies
4180 Views
Last post March 03, 2009, 06:03:22 PM
by Reporter
0 Replies
6163 Views
Last post March 03, 2009, 06:05:12 PM
by Reporter
0 Replies
2754 Views
Last post March 06, 2009, 11:17:31 PM
by Reporter
0 Replies
2668 Views
Last post March 10, 2009, 08:43:28 AM
by Reporter
0 Replies
2013 Views
Last post March 10, 2009, 10:03:22 AM
by Reporter
0 Replies
2596 Views
Last post March 13, 2009, 05:36:43 PM
by Reporter
0 Replies
2621 Views
Last post March 23, 2009, 11:59:20 PM
by Reporter
0 Replies
3013 Views
Last post April 02, 2009, 04:30:45 PM
by Reporter