Author Topic: ทีดีอาร์ไอแนะตั้งไลเซ่น3จี2ราคา  (Read 981 times)

0 Members and 3 Guests are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai

ทีดีอาร์ไอเสนอสูตรคิดค่าไลเซ่น 3 จี เป็น 2 ราคา แนะ กทช. ควรตั้งราคากลางไว้ในใจ ด้านกทช. ปัดราคาในใจทำยาก-ความลับรั่วได้


ทีดีอาร์ไอเสนอสูตรคิดค่าไลเซ่น 3 จี เป็น 2 ราคา แนะ กทช. ควรตั้งราคากลางไว้ในใจ หากเอกชนเสนอราคาสุดท้ายต่ำกว่าให้สิทธิล้มประมูลทันที จี้ กทช. กำกับดูแลเอกชนจริงจัง หวั่นบีบลูกค้าใช้ 3 จี เพราะต้นทุนทำตลาดถูกลง


นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวที่งานเสวนาเรื่อง "มิติการคุ้มครองผู้บริโภคในยุค 3G and Beyond" วานนี้ (17 มิ.ย.) ว่า เห็นด้วยกับราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาต 3.9 จี ของ กทช. ที่ 1 หมื่นล้านบาท เพราะถือว่าได้ประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ที่สมเหตุสมผลมากกว่า กทช. ชุดเก่า ที่กำหนดราคาไว้เพียง 4,600-5,200 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขอเสนอให้ กทช. คิดค่าไลเซ่นดังกล่าวออกเป็น 2 ราคา คือ ราคาเริ่มต้น และราคาที่พอรับได้ หรือราคากลาง (reserve price) ไว้อีกราคา กำหนดไว้ในใจ ไม่ต้องเผยแพร่ออกทางร่างประกาศหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไอเอ็มที ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (ไอเอ็ม) เนื่องจากหากเทียบมูลค่าการโอนย้ายลูกค้าจากระบบ 2 จี ไปสู่ 3  จีแล้ว ราคาเริ่มต้นที่กำหนดไว้ยังต่ำเกินไป

"กทช.ไม่ควรเผยไต๋ว่า ให้ราคาเริ่มต้น และราคากลางเป็นราคาเดียวกัน เพราะหากเกิดการฮั้วประมูลของเอกชน จะทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์จากค่าไลเซ่นเพียง 3 หมื่นล้านบาท แต่หาก กทช. กำหนดราคาไว้ในใจ เช่น ตั้งราคาที่ 2 หมื่นล้านบาท แต่สุดท้าย เมื่อจบการประมูลราคาที่ได้ไม่ถึงตามที่คิดไว้ กทช. ก็มีสิทธิล้มประมูลได้ทันที"

ทั้งในมุมของผู้บริโภค เมื่อเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านไปยัง 3 จี อาจถูกบีบให้ไปใช้ระบบ 3 จี แทน 2 จี เพราะผู้ชนะประมูล จะมีต้นทุนให้บริการที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับสัญญาสัมปทานเดิมของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งเอกชนทั้ง 3 รายนำส่งรายได้ให้คู่สัญญาทั้งสองบริษัทอัตรา 25-30% ของรายได้รวม ดังนั้น แต่ละปีรัฐจะมีรายได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 3-3.5 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อประมูลไลเซ่น 3 จีเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายต่ำลงเหลือ 8-9% ทำให้รายได้ที่ต้องนำส่งรัฐลดลงกว่า 15-20%

ส่วนการจัดสรรโครงข่ายให้ผู้เช่าใช้โครงข่าย (เอ็มวีเอ็นโอ) ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 40% จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการรายเล็ก แต่กลไกที่จะเกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมอาจยาก เนื่องจากผู้ได้รับไลเซ่น จะมีกลยุทธ์เตะถ่วงไม่ให้เอ็มวีเอ็นโอมาร่วมประกอบธุรกิจได้ โดยอาศัยอำนาจการต่อรองที่มีมากกว่า

"กทช.ต้องเข้าไปกำกับดูแล รวมทั้งควรชี้แจงให้ประชาชน หรือผู้บริโภครับทราบการใช้งาน 3 จี ว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมอย่างไร หากเปิด 3 จีแล้ว กทช. ต้องออกเป็นแผนที่ กำหนดพื้นที่ให้บริการเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบด้วยว่า จุดไหนเป็น 3 จี หรือยังเป็น 2 จีอยู่"

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช.และประธานคณะกรรมการ 3.9 จี กล่าวว่า จะนำคำแนะนำไปหารือกับคณะทำงาน 3.9 จีอีกครั้ง ก่อนนำไปประชาพิจารณ์ 25 มิ.ย. 2553 และการกำหนดราคาต้องเป็นมติบอร์ด การกำหนดราคาในใจอาจทำไม่ได้ เพราะอาจไม่เป็นความลับ

ทั้งนี้ ร่างไอเอ็มที่ประกาศออกมานี้ ยังต้องผ่านความเห็นชอบของบอร์ด กทช. อีกครั้ง หลังการประชาพิจารณ์แล้ว น่าจะรวบรวมข้อเสนอแนะเพิ่มเติมและนำเข้าบอร์ดวันที่ 30 มิ.ย. จากนั้นจะเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กทช. ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ต่อไป

ที่มา: bangkokbiznews.com


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)