สินค้าขยับเข้าหา"โซเชียลเน็ตเวิร์ก" "ดิจิทัลเอเยนซี่"แห่แจ้งเกิดรับยุคทองสื่อออนไลน์
จับตาเทรนด์โฆษณาออนไลน์โตสวนกระแสตลาดโฆษณา เผยการสร้างแบรนด์ผ่าน "เครือข่ายทางสังคม-บล็อกมาร์เก็ตติ้ง" มาแรง ขณะที่ดิจิทัลเอเยนซี่แจ้งเกิดจำนวนมาก แต่ติดปัญหาบุคลากรที่มีความเข้าใจทำให้เป็นอุปสรรคการขยายตัวของตลาดโฆษณาออนไลน์ เผยเอเยนซี่สนใจพัฒนาแอปพลิเคชั่นโฆษณาออนไลน์บน ไอโฟน สร้างโอกาสโมบายมาร์เก็ตติ้ง แต่ยังติดปัญหาจำนวนคนใช้ยังต่ำ
นายกติกา สายเสนีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ บริษัท เอ็มอีซี อินเตอร์แอกชั่น จำกัด เอเยนซี่การตลาดและโฆษณาสื่อดิจิทัล ภายใต้เครือมีเดียเอดจ์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมของธุรกิจโฆษณาออนไลน์ปีนี้ คาดว่าจะมีการเติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10% แม้ว่าเม็ดเงินของธุรกิจโฆษณาในตลาดรวมมีแนวโน้มลดลง จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่สังเกตจากงานและลูกค้าที่เข้ามาติดต่อพบว่าลูกค้าหันมาเลือกใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น
ขณะที่ได้ลดงบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวี หรือบางรายหันมาเลือกใช้สื่อออนไลน์จากที่ไม่เคยใช้มาก่อน ทำให้คาดว่าตลาดโฆษณาออนไลน์ปีนี้จะขยายตัว
นอกจากนี้ยังสังเกตได้จากบริษัท ดิจิตอล มีเดีย เอเยนซี ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่บางแห่งเป็นการเพิ่มแผนกดิจิทัลมีเดียขึ้นมารองรับการเติบโตของตลาด แต่ติดปัญหาเรื่องบุคลากรที่รู้เรื่อง และเข้าใจดิจิทัลมีเดียไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการของตลาดได้
จากมูลค่าตลาดโฆษณาปีนี้ มีประมาณ 8.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับโฆษณาออนไลน์ประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งอาจขยับขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย เพราะยังติดปัญหาเอเยนซี่ที่มีความพร้อมยังมีไม่มาก ทำให้ไม่สามารถขยายตัวได้มากเท่าที่ควร โดยผู้ประกอบการที่มีการลงโฆษณาออนไลน์มากที่สุด คือ กลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์, กลุ่มโทรคมนาคม, รถยนต์และสถาบันการเงิน เป็นต้น
"สื่อดั้งเดิมยังไม่หายไป เพราะบางครั้งจำเป็นที่จะต้องลงโฆษณาและลูกค้ายังมีความเชื่อมั่นว่าจำเป็นต้องใช้อยู่ แต่จากแนวโน้มตอนนี้พบว่าจำนวนผู้อ่านแมกาซีนและฟังวิทยุลดลง และหันมาเปิดหนังสือเวอร์ชั่น ออนไลน์ และฟังวิทยุออนไลน์แทน รวมถึงสื่อหนังสือพิมพ์ด้วยที่ปัจจุบันหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับเริ่มหันมาโฟกัสที่สื่อออนไลน์มากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยโฟกัสมาก่อน" นายกติกากล่าวและว่า
โฆษณาประเภทแบนเนอร์และเสิร์ช มาร์เก็ตติ้งของกูเกิล ยังเป็นรูปแบบโฆษณาออนไลน์ที่ลูกค้าให้ความสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะเสิร์ชมาร์เก็ตติ้ง เพราะเห็นผลได้ชัดเจน และคุ้มค่าการลงทุน เมื่อเทียบกับโฆษณารูปแบบอื่นๆ เพราะพฤติกรรมของคนในปัจจุบันมีการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อนเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ปีนี้พบว่ารูปแบบโฆษณาที่กำลังมาแรงในไทย คือ social media marketing และ blog marketing เพื่อใช้ในการบริหารจัดการแบรนด์ โดยมีเจ้าของสินค้าหลายๆ รายให้ความสนใจ เข้าไปสร้างโปรไฟล์ข้อมูลของแบรนด์และสินค้า ในโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างไฮไฟฟ์ หรือเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารโต้ตอบกับคอมมิวนิตี้ รวมถึงการอัพเดตข้อมูลและกิจกรรมการตลาดต่างๆ
"บล็อกและเครือข่ายทางสังคม หรือแม้แต่เว็บบอร์ดมีลักษณะของการโต้ตอบ ดังนั้นเจ้าของสินค้าบางรายก็จ้างให้เอเยนซี่ทำหน้าที่มอนิเตอร์ว่ามีการพูดคุยเกี่ยวกับบริษัทหรือสินค้าของบริษัทใน โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างไรบ้าง ถ้ามีข้อมูลในแง่ลบออกมาเจ้าของสินค้าก็จะเข้าไปชี้แจงหรือแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งตอนนี้จึงพบลูกค้าองค์กรธุรกิจต่างๆ หันมาใช้บริการรูปแบบดังกล่าวมากขึ้น 10-20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา"
นายกติกากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือทางการตลาดทางออนไลน์ประเภทโมบายมาร์เก็ตติ้ง ที่เริ่มมีการพูดถึง เพราะประชากรไทย 65 ล้านคนมีผู้ใช้มือถือ 47 ล้านคน ทำให้เป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจโฆษณา แต่ถึงกระนั้นก็ตาม รูปแบบที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในไทยใช้ คือ โฆษณาผ่านเอสเอ็มเอส ขณะที่โฆษณารูปแบบอื่นๆ เช่น wapsite, แอปพลิเคชั่นบน มือถือ ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก
ปีนี้คาดว่าโมบายมาร์เก็ตติ้งจะมีผู้สนใจมากขึ้น เพราะการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตมีจำนวนมากขึ้น และการเชื่อมต่อ GPRS รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาของไอโฟน ทำให้ยอดผู้ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันบริษัทเอเยนซี่ก็มีแนวคิดจะเสนอโมเดลการทำโฆษณาผ่านแอปพลิเคชั่นบนไอโฟนด้วย
"ไอโฟนมีฟังก์ชั่นใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ง่ายกว่ามือถือระบบปฏิบัติการอื่นๆ ทำให้การใช้งานเว็บผ่านมือถือเริ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากทรูฮิตระบุว่า ผู้ใช้ไอโฟนมีการเล่นเว็บผ่านมือถือจำนวนเกือบ 8 หมื่นเพจวิวต่อวัน แต่คิดเป็น UIP ประมาณ 450 คนเท่านั้น ขณะที่โนเกียประมาณ 5 หมื่นเพจวิวต่อวัน มี UIP ประมาณ 8,200 คน แสดงให้เห็นว่าลูกเล่นของไอโฟนเอื้อต่อการใช้อินเทอร์เน็ต แม้ว่าจำนวนผู้เล่นน้อยกว่าแต่จำนวนเพจวิวนั้นสูงกว่า"
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโฆษณาบนไอโฟน คือจากข้อมูลทรูฮิต จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนไอโฟนยังมีน้อยเกินไป ทำให้ลูกค้ายังไม่สนใจที่จะทำตลาด หากมียอดถึง 1 หมื่นคนอาจช่วยให้ลูกค้าองค์กรธุรกิจต่างๆ ตัดสินใจง่ายขึ้น และเอเยนซี่สามารถนำสื่อประเภทไอโฟนนี้ไปขายกับลูกค้าได้ง่ายขึ้นด้วย
ที่มา: matichon.co.th