พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์
1 พฤศจิกายน 53 คือกำหนดการเริ่มเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ครั้งใหม่ของตำรวจไทย เผยมีรายชื่อองค์กรธุรกิจต้องสงสัยในมือ 2,000 ราย กำลังดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ตามที่ได้รับเบาะแสและการแจ้งความร้องทุกข์จากเจ้าของสิทธิ์
พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) กล่าวว่าจะระดมกำลังเจ้าหน้าที่กวาดล้างการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วประเทศ ตามที่มีรายชื่อองค์กรธุรกิจที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ในมือราว 2,000 ราย ทั้งนี้โดยหวังว่าจะลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลงอย่างต่อเนื่อง
“การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นหน้าที่ของเรา ทั้งนี้ เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยการกวาดล้างการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ระลอกใหม่นี้เป็นหนึ่งในความพยายามคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย”
บก. ปอศ. ระบุว่าจะเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจทั้งกลุ่มที่ต้องสงสัยว่าใช้ซอฟต์แวร์ที่ปราศจากลิขสิทธิ์ หรือมีลิขสิทธิ์ไม่ครบถ้วน โดยย้ำว่าบก. ปอศ. มีพันธกิจในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
"ความพยายามของบก. ปอศ. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีที่ลดลงจากร้อยละ 80 มาอยู่ที่ร้อยละ 75 ในปี พ.ศ. 2552 การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีที่ลดลง 10 จุด ภายในระยะเวลา 4 ปี จะก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ 2,100 ตำแหน่ง รัฐบาลจะได้รายได้จากเงินภาษีเพิ่มขึ้นถึง 1,650 ล้านบาท และเศรษฐกิจของชาติไทยจะเติบโตขึ้นอีกคิดเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ทั้งยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติอีกด้วย ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา"
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บก. ปอศ. ได้ดำเนินการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบก. ปอศ. ได้เข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์"ทุกสัปดาห์"
ขั้นตอนการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่จะเริ่มที่การรับแจ้งเบาะแสหรือได้รับการแจ้งความร้องทุกข์จากเจ้าของสิทธิ์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อยื่นขอหมายค้นจากศาล เมื่อได้รับหมายค้นแล้ว จึงจะเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยองค์กรธุรกิจที่ถูกตรวจค้น สามารถขอดูและตรวจสอบหมายค้นดังกล่าวได้
"การกวาดล้างการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มุ่งเป้าหลักไปที่องค์กรธุรกิจเอกชน คำกล่าวอ้างที่ว่ามีการเข้าตรวจค้นโรงเรียน หรือองค์กรสาธารณะอื่นๆ นั้นไม่เป็นความจริง"
ผู้ที่แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ เข้ามาที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2714-1010 หรือผ่านทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับรางวัลสูงถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ
Company Related Link :
Stop.in.th
ที่มา: manager.co.th