นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานกรรมการโครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน กล่าวว่า จากการสำรวจสภาพการณ์ของผู้ประกอบการทางสังคม ที่ทางโครงการได้จัดประชุมไปเมื่อเร็วๆนี้ พบว่า หลายแห่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ บางแห่งเด็กๆ ในโครงการไม่มีอาหารกลางวัน ต้องปลูกพืชผักเป็นอาหารกลางวัน ในขณะที่แทบทุกแห่งต้องรัดเข็มขัด และหาทางลดค่าใช้จ่าย โดยหากผู้ที่แข็งแรงกว่ารวมตัวกันช่วยพัฒนาศักยภาพ ให้เจ้าหน้าที่ในองค์กรภาคสังคม ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็จะทำให้บรรเทาปัญหาและเกิดผลดีต่อสังคมในภาพรวม โดยเฉพาะการบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงานทุกวัน ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี หรือ สามารถซ่อมเองได้
ปธ.กก.โครงการแบ่งปันฯ กล่าวต่อว่า โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม ร่วมกับบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และโครงการแบ่งปันฯ จัดหลักสูตรการประกอบ และซ่อมบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์: Help Desk ให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรภาคสังคม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลา 5 วัน เมื่อช่วงวันที่ 16-20 มี.ค. 2552 ที่ผ่านมา โดยเป็นหลักสูตรแรก มีการระดมคณะครู เจ้าหน้าที่ นักศึกษา พร้อมด้วยอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งจัดทำคู่มือที่ใช้ภาษาง่ายๆ อธิบาย พร้อมรูปภาพประกอบมาให้คำแนะนำ จึงทำให้เจ้าหน้าที่จากองค์กรภาคสังคมกว่า 20 องค์กร
นางสาวสุมาลี ลายลวด ตัวแทนของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ การลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรนับว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่มีจำนวนมาก มักจะเกิดปัญหา จริงๆแล้วงบประมาณขององค์กรมีจำกัด เจ้าหน้าที่มีเพียงแค่ 3 คน เวลาคอมพิวเตอร์เสียต้องเรียกช่างคิดค่าซ่อมขั้นต่ำ 500 บาท เป็นค่าเปิดเครื่อง การอบรมฯ ครั้งนี้จึงมีประโยชน์มาก หากซ่อมเองได้ จะประหยัดเงินได้ ทั้งนี้หวังว่าต่อไปจะเสียค่าซ่อมน้อยลงเพราะซ่อมเองเป็นแล้ว และหากเรียนจบหลักสูตรก็น่าจะนำความรู้ตรงนี้ไปช่วยเหลือ แนะนำกับเพื่อนๆ องค์กร และหน่วยงานภาคสังคมอื่นๆ ได้
ด้าน นายชัยรัตน์ ตันติไพบูลย์วุฒิ ตัวแทนจากมูลนิธิหนังสือเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ทางมูลนิธิใช้คอมพิวเตอร์ที่ได้รับบริจาคมา มีมีปัญหา คือ ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ตกรุ่น หน่วยความจำน้อยทำงานช้า อยากนำไปซ่อมอัพเกรด แต่ติดปัญหาเรื่องการเงินเพราะราคาแพงพอสมควร ในคราวนี้จึงมาอบรมเพราะอยากจะประกอบคอมพิวเตอร์ได้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะลดค่าซ่อมบำรุงรักษา หวังว่าจะนำความรู้ที่ได้เรียนไปใช้เป็นวิชาชีพเล็กๆ น้อยๆ ช่วยเหลือตัวเอง และภาคสังคมต่อไป โดยสิ่งแรกที่จะกลับไปทำคือ ซ่อมคอมพิวเตอร์บริจาคที่วางเสียหลายเครื่อง หากเอาส่วนที่ดีของแต่ละเครื่องมาประกอบรวมกัน ก็จะได้เครื่องคอมพิวเตอร์ดีอีกหลายเครื่อง ก็อาจจะทำให้ลดต้นทุน และลดพวก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่งไปรีไซเคิลได้
นายจอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการโรงเรียนเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า เป็นความตั้งใจของทางโรงเรียนฯ เนื่องจากมีมีความรู้ ความพร้อมทางด้านเทคนิคอยู่แล้ว เชื่อว่าการให้โดยไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง จะเป็นการแบ่งปันความรู้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเป็นสิ่งที่ยั่งยืน คือ องค์กรภาคสังคมจะพึ่งพาตนเองได้ เพราะจากผลการประเมินผลการอบรมตลอด 5 วันนั้นน่าพอใจมาก เพราะผู้เข้ารักบการอบรมทุกคนตั้งใจ และสามารถเพิ่มพูนทักษะ นำไปใช้ได้จริงๆ บางรายเรียนแค่ 3 วันก็รู้จักการลงโปรแกรมแล้ว
ส่วน นางสาวสุภารัตน์ จูระมงคล ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อชุมชน บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงหลักสูตรที่จัดขึ้นว่า จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมมาก เพราะเมื่อผู้ประกอบการทางสังคมพึ่งพาตัวเองได้ มีเครื่องมือที่ใช้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้การทำงานช่วยเหลือชุมชนทำได้ดีขึ้น สำหรับบริษัทไมโครซอฟท์ฯ มีโครงการส่งเสริมสนับสนุนด้านไอทีให้กับผู้ประกอบการทางสังคมมาต่อเนื่อง ทั้งนี้องค์กรที่เข้าอบรมในครั้งนี้ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับลิขสิทธ์ซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ล่าสุดจากไมโครซอฟท์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นลำดับแรก ๆ
ที่มา: thairath.co.th