นายณัฐวุฒิ จิตะสมบัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่า กระทรวงฯมีหน้าที่สำคัญนอกเหนือจากการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ คือการรณรงค์และปลูกฝังให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนรู้เท่าทันคุณประโยชน์และพิษภัยของไอซีที รวมถึงส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักเลือกนำด้านดีของเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติ ทั้งนี้ กระทรวงฯตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกปัจจุบัน ที่ไอซีทีเป็นสิ่งที่มีบทบาทต่อทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากใครรู้เท่าทัน สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ จะได้เปรียบโดยกระทรวงฯต้องการให้เยาวชนไทยเป็นเลิศทางด้านนี้ จึงอยากสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้านไอซีทีขึ้น
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงไอซีที กล่าวต่อว่า การจัดกิจกรรม ICT-SIPA Summer Camp 2009 กระทรวงฯได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า เป็นผู้รับผิดชอบจัดขึ้น เนื่องจากซิป้า เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และดิจิตอลคอนเทนต์ โดยจัดกิจกรรมผ่านศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชุมชน ของกระทรวงฯที่มีอยู่ทั่วประเทศ และศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ไอซีที ของซิป้า อีก 2 แห่งคือ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดภูเก็ต โดยกระทรวงฯหวังว่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการนำไปใช้เรียนในระดับที่สูงขึ้น เพราะระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มีบทบาทและความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาระบบไอซีทีของประเทศ ให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาประเทศได้ในอนาคต
ด้านนายรุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการสำนังานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวว่า ซิป้าได้รับนโยบายจากร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เพื่อทำโครงการที่จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนนำความรู้ด้านไอซีทีมาใช้อย่างสร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอม จากแนวคิดดังกล่าวจึงเกิดกิจกรรม ICT-SIPA Summer Camp 2009 โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่เดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2552 และเริ่มเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 18-27 มีนาคม 2552 และจัดฝึกอบรมในรอบแรกจำนวน 2,400 คน ผ่านศูนย์ไอซีทีชุมชนของแต่ละภูมิภาคทั้ง 80 แห่ง และศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ไอซีทีอีก 2 แห่งทั่วประเทศ
ผู้อำนวยการซิป้า กล่าวต่อว่า การฝึกอบรมในรอบแรกจะคัดเลือกนักเรียนที่ผลงานดีเข้ารอบที่ 2 โดยจัดขึ้นเป็น 4 ภาค คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้กำหนดกติกาให้นักเรียนที่สนใจเข้าร่วม ส่งชิ้นงานแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามโจทย์และกติกาที่ทางโครงการกำหนด เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสแสดงความสามารถผ่านความคิด จิตนาการ และประสบการณ์จากการอบรมศึกษา
นายรุ่งเรือง กล่าวด้วยว่า นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสใช้เวทีการแข่งขันแสดงฝีมือ ประกวดผลงานตามความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคลอย่างเต็มที่ โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง พร้อมประกาศนียบัตร และทุนการศึกษา รวมทั้งสิ้น 204,000 บาท และหลังจากสิ้นสุดโครงการฯจะมีการรวบรวมผลงานของนักเรียน จัดตีพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบเอกสารประชาสัมพันธ์ และจัดทำe-book ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อแสดงออกให้สังคมในท้องถิ่นและระดับภูมิภาคได้รับรู้
“ซิป้าจะคัดเลือกเยาวชนจาก 2,400 คนทั่วประเทศให้เหลือ 492 คนจาก 4 ภาคเพื่อมาประกวดกัน โดยแบ่งเป็นตัวแทนจากภาคกลางจำนวน 29 ศูนย์ ภาคเหนือ 17 ศูนย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 ศูนย์ และภาคใต้ประมาณ 16 ศูนย์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณในการดำเนินงานจำนวน 6 ล้านบาท” ผู้อำนวยการซิป้า กล่าว
ที่มา: thairath.co.th