สถาบัน "ไอซีทีไอ" ภายใต้สภาอุตฯ เดินหน้าปฏิบัติหน้าที่เป็นสื่อกลางรัฐและเอกชนในการผลักดันการใช้ไอซีที ชง 2 ภารกิจ เร่งด่วน ทำฐานข้อมูลการใช้ไอทีในภาค อุตสาหกรรมภายใน 6 เดือน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ "โอเพ่นซอร์ซ" ของบฯตั้งคอลเซ็นเตอร์ช่วยปัญหาการใช้งาน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม (Institute of Information and Communication Technology for Industries หรือ ICTI กล่าวว่า ICTI เป็นสถาบันภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ให้กับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศกว่า 7,500 ราย และเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมให้ 39 กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้สภาอุตฯขนาดใหญ่จนถึงระดับเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งขึ้น โดยการนำไอซีทีมาใช้ให้เกิดประโยชน์
สำหรับภารกิจเร่งด่วนระยะสั้น ภายใน 6 เดือน คือการสร้างฐานข้อมูลการใช้ไอทีของภาคอุตสาหกรรม เช่น ความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์แต่ละประเภท งบประมาณในการใช้จ่ายด้านไอที เพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลกลาง ทำให้สามารถจัดการฝึกอบรม และเป็นสื่อกลางในการผลักดันนโยบายได้อย่างถูกต้อง โดย ICTI จะขอความร่วมมือไปยังประธานอุตสาหกรรมจังหวัดแต่ละจังหวัด และกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 39 กลุ่ม เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูล
นอกจากนี้ จะเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ระบบเปิด หรือโอเพ่นซอร์ซให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้สมาชิกสามารถนำไปใช้ลดต้นทุนได้ และการสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ของประเทศไทย โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่น ซิป้า สนับสนุนการฝึกอบรมการใช้โอเพ่นซอร์ซแก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ที่เป็นสมาชิกสภาอุตฯ และไม่ได้เป็นสมาชิกกว่า 1 หมื่นรายทั่วประเทศ พร้อมกับมีแผนจะของบประมาณ เพื่อจัดตั้งคอลเซ็นเตอร์สำหรับให้ความช่วยเหลือสมาชิกผู้ใช้งานโอเพ่นซอร์ซ ในกรณีที่เกิดปัญหา เนื่องจากปัจจุบัน เมื่อ ผู้ใช้โอเพ่นซอร์ซมีปัญหาการใช้งาน ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร
รวมถึงจะร่วมมือกับภาครัฐในการกำหนดมาตรฐานการใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของไทย เช่น มาตรฐาน มอก. และมาตรฐานของเนคเทค ซึ่งมีความน่า เชื่อถือ ได้รับการยอมรับ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในไทยให้สามารถเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยุติธรรมและสมเหตุสมผล
"การอยู่ภายใต้สภาอุตสาหกรรม ถือว่ามีข้อดี เพราะสภาอุตฯมีกฎหมายรองรับ มีการประชุมร่วมกับรัฐบาลตลอด ทำให้การผลักดันนโยบายต่าง ๆ ง่ายกว่าการมีบทบาทเป็นสมาคม และสภาอุตฯยัง เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ ไอซีที และกระทรวงวิทย์ ที่สามารถคุยได้หมด ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางระหว่างรัฐกับเอกชนได้ชัดเจน"
สำหรับนโยบายของสถาบัน ICTI มี 6 ข้อ อยู่ภายใต้คณะกรรมการ 6 ชุด คือการจัดทำแผนแม่บทไอซีทีภาคอุตสาหกรรม, การผลักดันมาตรฐานด้านไอซีทีด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, การผลักดันให้สมาชิกสภาอุตสาหกรรมใช้ไอซีทีเพื่อบริหารและลดต้นทุน, การพัฒนาฐานข้อมูลความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ, การส่งเสริม ฝึกอบรมไอซีที และการร่วมมือกับภาคเอกชนและภาครัฐไปยังสมาชิก
ที่มา: prachachat.net